ปลดล็อก 'ความเหลื่อมล้ำ' เสนอโมเดล 'บริการสังคม' ลดปัญหาคนล้นคุก นี่เป็นข้อเสนอในวงเสวนา 'ไม่มีใครติดคุกเพราะจน 2' ที่มองเห็นปัญหานี้ร่วมกัน และควรผลักดันให้เกิดความเท่าเทียมกันในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งพบว่าปัจจุบันมีผู้ถูกคุมขังในเรือนจำทั่วประเทศกว่า 300,000 คน ซึ่งแบ่งเป็น 66,000 คน ที่ศาลยังไม่พิพากษาตัดสินคดี แต่ขาดแคลนค่าใช้จ่ายและถูกคุมขังโดยไม่มีทางเลือก จาก 'ต้นทุนชีวิต' ที่ไม่เท่ากัน
ต้นทุนชีวิตและบาดแผลในใจของผู้ถูกจองจำ
เมื่อต้องย่างกายเข้าไปในโลกหลังกำแพง ซ้ำร้ายของการตกเป็นผู้ต้องหาคงหนีไม่พ้นการถูกจองจำโดยทนายแจม หรือ น.ส.ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ ทนายความรุ่นใหม่จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เล่าถึงผลกระทบของลูกความที่ขาดแคลนค่าใช้จ่ายในการต่อสู้เพื่อความบริสุทธิ์ โดยส่วนมากหลังจากการเดินทางเข้าไปในโลกหลังกำแพง พบว่าพวกเขามักจะได้รับผลกระทบไม่ว่าจะด้านจิตใจ ที่ต้องเข้าไปปรับตัวในการใช้ชีวิตอยู่ข้างใน จนทำให้บางคนถึงกลับมีภาวะจิตตก ไม่สามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ กระทั่งต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจิตเวช
ขณะที่บางคนที่มีโรคประจำตัวมักจะได้รับการรักษาที่มีข้อจำกัด และปัญหาที่พบส่วนใหญ่ของการเข้าคุกไม่ได้รับการยอมรับในสังคม โดยเฉพาะ 'คดีทางการเมือง' หรือ 'คดีทางความคิด' ที่ถูกนำเสนอผ่านสื่อ แม้ว่าในภายหลังบางส่วนจะถูกตัดสินยกฟ้องโดยไม่มีความผิด แต่การถูกตีตราว่าเป็นนักโทษจากคนในสังคม ได้สร้างบาดแผลที่ไม่มีวันจางไปจากความเห็นต่าง
"เจตนารมณ์ของกฎหมายอาญามันไม่ได้เป็นการลงโทษแก้แค้น แต่มันเป็นการใช้เพื่อเยียวยาสังคมด้วย เพราะว่าพอเราเอาบุคคลคนหนึ่งเข้าไปในเรือนจำ บางทีมันอาจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงเขาก็ได้ เพราะว่ามันอัตราเยอะมากที่เข้าไปแล้วกลับมากระทำผิดซ้ำ แต่ถ้าไปเปลี่ยนความคิดหรือพฤติกรรมมันน่าจะเป็นการหยุดยั้งอาชญากรรมในอนาคตได้มากกว่า" ศศินันท์ กล่าว
สิทธิที่ถูกซ่อนในรัฐธรรมนูญ
หากมองที่เพดานเงินที่ต้องจ่ายในกระบวนการยุติธรรมจะเห็นว่าเป็นวงเงินที่สูง เช่นกรณีที่ 'ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล' อาจารย์คณะนิติศาสตร์ และรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ยกขึ้นมาในคดีที่ศาลพิพากษาสั่งให้นายสุรัตน์ มณีนพรัตนสุดา พนักงานเก็บขยะ จ่ายค่าปรับเป็นจำนวน 140,000 บาท ฐานประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยนหรือจำนำภาพยนต์ จำพวกแผ่นซีดีโดยไม่ได้รับอนุญาต แต่จำเลยไม่มีเงินชำระค่าปรับจำต้องติดเป็นเวลา 1 ปี เพื่อทดแทนค่าปรับเฉลี่ยวันละ 500 บาท สะท้อนให้เห็นถึงความไม่เป็นธรรมที่คนจนต้องติดคุกเพราะจน
อย่างไรก็ตามผศ.ดร.ปริญญา ได้เสนอ 2 ทางออกเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว คือ 1.) เปลี่ยนการใช้หลักทรัพย์เป็นการ 'บริการสาธารณะ' เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ที่บัญญัติในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 30/1 ซึ่งมีใจความสำคัญระบุว่าในกรณีที่ผู้ต้องโทษไม่ใช่นิติบุคลคลและไม่มีเงินชำระค่าปรับ อาจยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นเพื่อขอทำงานบริการสังคมแทนค่าปรับได้ แต่สิทธิในการร้องขอที่ถูกซ่อนเอาไว้ โดยส่วนมากผู้ต้องโทษกลับไม่ทราบว่าพวกเขามีสิทธิ ดังตัวเลขในปัจจุบันพบว่ามีผู้ต้องโทษในปัจจุบัน 66,000 คน ที่ถูกจองจำโดยที่ศาลยังไม่พิพากษาตัดสินคดี 2.) หากถึงที่สุดแล้วอาจจะมีการแก้กฎหมายกำหนดให้ผู้ต้องโทษทำงานบริการสาธารณะแทนการติดคุก
ทั้งนี้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 30/1 ระบุว่า "ในกรณีที่ศาลพิพากษาปรับ ผู้ต้องโทษปรับซึ่งมิใช่นิติบุคคลและไม่มีเงินชำระค่าปรับอาจยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นที่พิพากษาคดีเพื่อขอทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับ หรือถ้าความปรากฏแก่ศาลในขณะที่พิพากษาคดีว่าผู้ต้องโทษปรับรายใดอยู่ในเกณฑ์ที่จะทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์ตามมาตรานี้ได้ และถ้าผู้ต้องโทษปรับยินยอม ศาลจะมีคำสั่งให้ผู้นั้นทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับก็ได้"
อานิสงส์ 'บริการสาธารณะ' คือการเปลี่ยน 'จิตสำนึก'
แน่นอนว่าการผลักดันให้เกิดเท่าเทียมจำเป็นต้องมีจุดร่วมทั้งภาครัฐและภาคประชาชน โดยนายพยนต์ สินธุนาวา รองอธิบดีกรมคุมประพฤติ มองว่าการแก้กฎหมายอาจยังไม่ถูกจุด เช่นกรณีเมาแล้วขับ ที่ผู้กระทำผิดมักประเมินแล้วว่าโอกาสที่จะถูกจับมีน้อยกว่าการฝ่าฝืน แท้จรึงแล้วต้องใช้วิธีสร้างสำนึก ซึ่งกรมคุมประพฤติมีการทดลองผ่านกระบวนการการบริการสาธารณะ ส่งผลให้ผู้กระทำผิดเปลี่ยนจิตวิญญาณไม่ใช่แค่การทดแทนค่าปรับ แต่มันมีอานิงสงส์อย่างมากที่จะทำให้มนุษย์รู้สึกผิดต่อสิ่งที่ตัวเองได้กระทำไป และไม่จำกัดว่ากำหนดให้คนจนเท่านั้น แต่ต้องดูว่าผู้กระทำผิดควรเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นหลัก ซึ่งกระบวนการยุติธรรมไทยเปรียบเป็นยาคีโม ที่มักจะถูกใช้เกือบทุกกรณี ไม่ว่าจะเป็นคดีหวยจนไปถึงคดีฆ่าคนตายจนเป็นการสิ้นเปลืองในกระบวนการยุติธรรม
"กฎหมายเขียนไว้ให้เข้ากระบวนการทางอาญาเต็มรูปแบบ คือตำรวจจับ อัยการฟ้อง เข้าศาลตัดสิน ตอนนี้ระบบเป็นอย่างงี้ ต้องไปคิดกันใหม่ ยกตัวอย่างเช่นนักศึกษาขับรถไปเฉี่ยวชนคน มันอาจจะมีกระบวนการที่ไม่ต้องไปจนถึงขั้นสุดท้าย(ศาล) อาจจะมีการชะลอหรือทำให้เขาได้สำนึก และแก้ไขตนเองโดยไม่ต้องใช้ค่าใช้จ่ายเยอะ" พยนต์ กล่าว