ไม่พบผลการค้นหา
กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ก.สาธารณสุข ย้ำกฎหมายคุ้มครองเด็กที่เกิดจากการ 'อุ้มบุญ' ใช้มากว่า 2 ปีแล้ว อนุญาตให้ตั้งครรภ์แทนแล้ว 157 คู่ เร่งพัฒนาบุคลากรการแพทย์เข้าใจกฎหมายใหม่ใช้อย่างถูกต้อง

พญ. ประนอม คำเที่ยง อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ หรือ สบส. กระทรวงสาธารณสุข กล่าวหลังการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่องการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558 สู่การปฏิบัติ ว่าเป็นกฎหมายที่ได้ตราขึ้น เพื่อช่วยให้คู่สมรสที่ถูกต้องตามกฎหมายได้มีบุตรตามต้องการ และควบคุมการศึกษาวิจัยมิให้มีการนำไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งกฎหมายมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 30 ก.ค. 2558 ที่ผ่านมา

746841.jpg

คณะกรรมการคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ หรือ กคทพ. ได้พิจารณาเรื่องขออนุญาตให้ตั้งครรภ์แทนเสร็จสิ้นแล้ว 157 คู่ โดยอนุญาต 149 คู่ หรือคิดเป็น 95% ในจำนวนนี้มีรายงานการคลอดแล้ว 12 คู่ และไม่อนุญาต 8 คู่ หรือคิดเป็น 5% เนื่องจากคุณสมบัติของหญิงตั้งครรภ์ หรือผู้บริจาคไข่ ไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด และขณะนี้มีสถานพยาบาลที่ให้บริการเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ฯ มากถึง 75 แห่งทั้งรัฐและเอกชนกระจายอยู่ในทุกภาคทั่วประเทศ 

ดังนั้น สบส.ในฐานะหน่วยงานหลักในการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กฯ ได้เล็งเห็นความสำคัญ และมีความตั้งใจในการส่งเสริม สนับสนุนให้บุคลากรในสถานพยาบาลที่ให้บริการเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ทั้งภาครัฐและเอกชน กว่า 200 คน ได้เกิดความรู้ ความเข้าใจในการปฏิบัติตามกฎหมาย จึงจัดการประชุมขึ้น รวมทั้งได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิจากแพทยสภา ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย สถาบันการศึกษา และกระทรวงมหาดไทยมาร่วมให้ความรู้ และแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น ซึ่งจะช่วยพัฒนาความรู้ ความเข้าใจให้ผู้เข้าร่วมประชุมสามารถปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของบทบัญญัติของพระราชบัญญัติ อนุบัญญัติ และแนวทางปฏิบัติต่างๆ ที่กำหนดได้อย่างถูกต้อง

746842.jpg

ด้าน นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองอธิบดี สบส. กล่าวว่า ด้วยประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีแพทย์ที่มากด้วยความสามารถและเทคโนโลยีที่ทันสมัย ทำให้มีอัตราความสำเร็จจากการให้บริการเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ค่อนข้างสูง ส่งผลให้ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศต่างให้การยอมรับและเข้ารับบริการเป็นจำนวนมาก จึงเกรงว่าจะมีการการเผยแพร่ข้อมูลที่มีการนำเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ฯ ไปใช้ประโยชน์ในทางที่ผิดยิ่งในยุคดิจิทัลที่สื่อโซเชียลเข้าถึงประชาชนได้อย่างรวดเร็ว

ในปีงบประมาณ 2561 สบส. จึงมีนโยบายเพิ่มมาตรการคุมเข้ม โดยจัดทีมเฝ้าระวังในสื่อโซเชียลดูแลกำกับมิให้มีการเผยแพร่ข้อมูล หรือโฆษณาที่ก่อให้เกิดปัญหาทางศีลธรรม มนุษยธรรม ทั้งการรับจ้างตั้งครรภ์ ซื้อ-ขายไข่ อสุจิ หรือตัวอ่อน ฯลฯ รวมทั้งจะมีการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นภาคีเครือข่ายป้องปรามการกระทำผิดด้วย

ทั้งนี้ หากผู้ใดพบเห็นหรือทราบเบาะแสการกระทำที่เข้าข่ายการรับจ้างอุ้มบุญ ซื้อขาย อสุจิ ไข่ ตัวอ่อน หรือเป็นนายหน้าให้มีการรับจ้างตั้งครรภ์ สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่ สบส.เพื่อดำเนินการตามกฎหมายกับผู้กระทำผิดโดยทันที

อ่านเพิ่มเติม :

แนะสถานพยาบาลทุกแห่งยึดหลัก'8 ห้าม 3 มี 3 ขอ' ป้องกันทำผิดกม.