ไม่พบผลการค้นหา
รัฐบาลอิสราเอลออกแถลงการณ์ตอบโต้การรายงานข่าวของ BBC เรื่องแรงงานไทยในอิสราเอล 'ถูกเอาเปรียบ' และ 'ละเมิดสิทธิ' โดยอิสราเอลระบุว่า ข้อมูลดังกล่าวถูกบิดเบือนไปจากความเป็นจริง

กระทรวงการต่างประเทศของอิสราเอล ออกแถลงการณ์ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข, กระทรวงเกษตร, กระทรวงกิจการสังคม ประชากร และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ลงวันที่ 29 พ.ย. 2561 โดยระบุว่าทางการอิสราเอลยืนยันปฏิเสธข้อกล่าวหาที่ปรากฎในรายงานพิเศษของสำนักข่าวบีบีซี ซึ่งใช้ชื่อว่า 'แรงงานไทยที่ถูกลืมในอิสราเอล' และมีการเผยแพร่ทางเว็บไซต์บีบีซี ทั้งภาคภาษาไทยและภาคภาษาอังกฤษ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

รายงานดังกล่าวมีเนื้อหาเกี่ยวกับการจ้างงานและสภาพการทำงานของแรงงานชาวไทยในฟาร์มเกษตรอิสราเอล ซึ่งทางรัฐบาลอิสราเอลระบุว่ารายงานดังกล่าวเป็นการ 'บิดเบือนความเป็นจริง'

เนื้อหาในแถลงการณ์ย้ำว่า ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของรัฐบาลอิสราเอล ยึดมั่นในหลักการจ้างงานที่ปลอดภัยและได้มาตรฐานด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ ซึ่งเป็นไปตามกฎกระทรวงแรงงาน มีการดำเนินการเพื่อป้องกันและกำจัดการค้ามนุษย์ รวมถึงประสานความร่วมมือกับองค์กรด้านแรงงานเพื่อจัดการฝึกอบรมและให้ความรู้เกี่ยวกับการทำงานที่ปลอดภัยให้แก่แรงงานชาวต่างชาติทั้งหมด รวมถึงแรงงานไทย

ขณะที่รายงานเชิงสอบสวนของบีบีซี ���ึ่งเป็นสื่อที่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลสหราชอาณาจักร ระบุว่า แรงงานไทยในอิสราเอลจำนวนหนึ่ง "ถูกเอาเปรียบ และละเมิดสิทธิ์" ทั้งยังระบุด้วยว่า "แรงงานหลายคนบอกเราว่าได้รับค่าตอบแทนต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด สภาพการทำงานไม่ตรงตามสัญญา-สภาพที่อยู่อาศัยที่ไม่ถูกสุขลักษณะ" โดยผู้จัดทำรายงานของบีบีซีได้ยืนยันว่า มีการสัมภาษณ์แรงงานไทยในอิสราเอล รวมถึงลงพื้นที่กว่า 50 แห่งเพื่อบันทึกสภาพความเป็นอยู่และปากคำของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการทำงานในอิสราเอล

AFP-แรงงานไทยในอิสราเอล-มาตรฐานความปลอดภัย-ชุดป้องกัน.jpg
  • แรงงานชาวไทยในฟาร์มไก่แห่งหนึ่งของอิสราเอลสวมชุดป้องกันขณะปฎิบัติงาน (AFP)

ประเด็นหนึ่งที่ปรากฏในรายงานของบีบีซี ได้แก่ การเสียชีวิตของแรงงานชาวไทยหลายราย ซึ่งไม่มีการระบุสาเหตุในใบมรณบัตรที่ออกโดยหน่วยงานอิสราเอล ซึ่งบีบีซีได้รายงานโดยอ้างอิงข้อมูลของฝ่ายแรงงาน สถานทูตไทยในอิสราเอล โดยข้อมูลล่าสุดในเดือน พ.ย. 2561 พบว่าแรงงานชาวไทยเสียชีวิตในอิสราเอลแล้ว 172 รายนับตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา "บางคนเสียชีวิตเพราะเจ็บป่วย บ้างก็ฆ่าตัวตาย แต่หลายรายเสียชีวิตในลักษณะเดียวกัน คือ 'ไม่ทราบสาเหตุ'"

แถลงการณ์ของอิสราเอลได้ชี้แจงกรณีดังกล่าว โดยระบุว่า กระทรวงสาธารณสุขของอิสราเอลได้จัดทำรายงานสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีแรงงานชาวไทยหลายรายเสียชีวิตในขณะที่หลับ เนื่องจากมีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง และการสอบสวนพบว่าสาเหตุของการเสียชีวิตของแรงงานชาวไทยกลุ่มนี้ คือ โรคไหลตาย ซึ่งเป็นกลุ่มโรคจากการส่งสัญญาณไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ และสามารถสืบทอดทางพันธุกรรม

ทางการอิสราเอลย้ำว่า การเสียชีวิตจากโรคไหลตายเกิดขึ้นกับชาวไทยจำนวนมาก ไม่ได้เกิดขึ้นแต่เฉพาะแรงงานไทยที่ทำงานในฟาร์มเกษตรต่างๆ ของอิสราเอลเพียงอย่างเดียว พร้อมทั้งย้ำว่า การสอบสวนสาเหตุการเสียชีวิตของแรงงานชาวไทยได้รับการรับรองและมีส่วนร่วมจากเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขที่เป็นตัวแทนรัฐบาลไทยในการตรวจสอบข้อเท็จจริงร่วมกับฝ่ายอิสราเอล

นอกจากนี้ ทางการอิสราเอลยังระบุด้วยว่า เจ้าหน้าที่ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (IOM) ที่เข้าตรวจสอบมาตรฐานความเป็นอยู่ของแรงงานต่างชาติทั่วอิสราเอล รวมถึงแรงงานชาวไทย ยืนยันว่าการจัดการสภาพแวดล้อมและมาตรการด้านความปลอดภัยในการทำงานภายในฟาร์มเกษตรของอิสราเอลนั้นได้มาตรฐานสากล ทั้งยังมีการอ้างอิงผลสำรวจความคิดเห็นแรงงานที่เข้าร่วมโครงการแรงงานระหว่างรัฐบาลไทยและอิสราเอล ซึ่งเก็บข้อมูลในปี 2559 พบว่าร้อยละ 95 ของผู้ตอบแบบสอบถาม 'พึงพอใจ' กับสภาพการทำงานในอิสราเอล

ฉนวนกาซา-อิสราเอล-ปาเลสไตน์-ประท้วงสถานทูตสหรัฐฯ
  • แรงงานไทยในอิสราเอลบางส่วนก็ได้รับผลกระทบจากการปะทะระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์

กรณีที่แรงงานชาวไทยต้องการเปลี่ยนสถานที่ทำงาน สามารถยื่นเรื่องร้องเรียนต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบได้ โดยในปีนี้มีผู้ยื่นร้องเรียนนายจ้างฟาร์มเกษตรรวมกว่า 992 เรื่อง ซึ่งบ่งชี้ว่า รัฐบาลอิสราเอลมีกลไกจัดการและแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการแรงงานต่างชาติอย่างเป็นระบบ

ข้อมูลของรัฐบาลอิสราเอลในกรณีดังกล่าว เป็นการโต้แย้งรายงานของบีบีซีที่อ้างอิงบทสัมภาษณ์ผู้รับผิดชอบ 'ฝ่ายแรงงาน' ประจำสถานทูตไทยในอิสราเอล โดยแหล่งข่าวเปิดเผยกับบีบีซีว่า "สถานทูตฝ่ายแรงงาน ทำอะไรนายจ้างไม่ได้เลย" และกล่าวด้วยว่า "เราเข้าใจสภาพปัญหา แต่ทำอะไรไม่ได้ หากจะขอความช่วยเหลือจากตำรวจก็ไม่ได้ผล เพราะเป็นพวกเดียวกับนายจ้าง ยังไงเขาก็ช่วยเหลือคนอิสราเอลด้วยกัน"

ส่วนไอโอเอ็มได้ระบุผ่านแถลงการณ์ทางอีเมลมายังบีบีซี โดยระบุว่า "เป็นห่วงอย่างยิ่ง" ในสิ่งที่บีบีซีพบว่าในหมู่แรงงานไทยกว่า 20,000 คน ที่ทำงานเกษตรอยู่ในขณะนี้ มีบางส่วนที่ถูกนายจ้างเอารัดเอาเปรียบ แต่ไอโอเอ็มจะติดตามเรื่องนี้กับรัฐบาลทั้งสองประเทศและฝ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อสืบสวนเรื่องดังกล่าวต่อไป

สื่อของอิสราเอลบางสำนัก เช่น Times of Israel รายงานข่าวรัฐบาลอิสราเอลออกแถลงการณ์ตอบโต้บีบีซีเรื่องแรงงานไทย ขณะเดียวกันก็รายงานสอดคล้องกับบีบีซีว่า อิสราเอลเป็นประเทศที่มีการใช้สารเคมีและยาฆ่าแมลงในอุตสาหกรรมเกษตรสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก แม้ว่าจะมีความพยายามปรับลดการใช้สารเคมีน้อยลงไปมากแล้วในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา แต่ก็ไม่อาจตรวจสอบได้ว่าฟาร์มที่แรงงานไทยเหล่านี้ทำงานอยู่ยังคงใช้สารเคมีมากน้อยเพียงใด เพราะผู้เป็นเจ้าของฟาร์มส่วนใหญ่ที่บีบีซีติดตามไปเก็บข้อมูลปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: