นางพเยาว์ มริตตนะพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เรื่องคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการเกี่ยวกับคดีปรับอัตราค่าผ่านทางพิเศษเฉลิมมหานครและทางพิเศษศรีรัช ปี 2561 โดยระบุว่า ตามที่บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ได้ยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลากร เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2556 เพื่อเรียกร้องให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ชำระเงินส่วนต่างรายได้ค่าผ่านทางตามประกาศกระทรวงคมนาคม ฉบับลงวันที่ 15 สิงหาคม 2551 กับ อัตราค่าผ่านทางที่ถูกต้องตามสัญญานั้น
เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้รับทราบคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการลงวันที่ 24 ตุลาคม 2561 โดยคณะอนุญาโตตุลาการได้มีมติเป็นเอกฉันท์ ชี้ขาดให้ กทพ. ชดใช้ค่าเสียหายให้บริษัทสรุปได้ดังนี้
1) ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยจำนวน 9,091.79 ล้านบาท และดอกเบี้ยผิดนัดตามสัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 ข้อ 25.6 ของต้นเงินค่าเสียหาย จำนวน 7,909.59 ล้านบาท คิดเป็นรายวัน นับตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2556 เป็นต้นไป จนกว่า กทพ. จะชำระเสร็จสิ้น
2) ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินผลต่างส่วนแบ่งรายได้ค่าผ่านทางตามอัตราค่าผ่านทางตามประกาศกระทรวงคมนาคมฉบับลงวันที่ 15 สิงหาคม 2551 กับส่วนแบ่งที่บริษัทฯ มีสิทธิจะได้รับตามสัญญา โดยคำนวณตามจำนวนรถยนต์แต่ละประเภทที่ใช้ทางตามจริง เป็นรายวันนับตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2556 เป็นต้นไป รวมทั้งชำระดอกเบี้ยผิดนัดตามสัญญาข้อ 25.6 ของผลต่างส่วนแบ่งรายได้ค่าผ่านทาง นับตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2556 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยให้แก่บริษัทฯ จนเสร็จสิ้น
ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 บริษัทฯ สามารถยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจเพื่อให้ศาลทำการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการภายใน 3 ปี นับแต่วันที่อาจบังคับตามคำชี้ขาดได้ ในขณะที่ กทพ. อาจขอให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดได้ โดยยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำชี้ขาด
การทางพิเศษฯ จ่ายชดเชยอ่วม สะเทือนโบนัสพนักงาน
นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ก่อนหน้านี้ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เมื่อวันที่ 25 ต.ค. ที่ผ่านมา ได้หารือเรื่องการจ่ายโบนัสพนักงานประจำปี 2561 ซึ่งมีแนวโน้มว่าอัตราการจ่ายโบนัสจะต่ำกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 5 เท่าของเงินเดือน เนื่องจากก่อนสิ้นสุดปีงบประมาณ 2561 เพียงไม่กี่วัน ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาให้ กทพ.จ่ายค่าชดเชยรายได้ที่ลดลงแก่บริษัท ทางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด เป็นจำนวนเงิน 1,790 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย รวมแล้วกว่า 4,000 ล้านบาท
รายงานข่าวแจ้งต่อว่า สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ยืนยันให้ กทพ.นำเงินค่าชดเชยดังกล่าว ไปรวมเป็นบัญชีจ่ายในงบประมาณปี 2561 ด้วย ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่จะส่งผลให้โบนัสของพนักงานต้องลดลง เพราะค่าใช้จ่ายโดยรวมสูงขึ้น ทั้งนี้ กทพ.จะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะไม่นำปัจจัยนี้ไปประเมินโบนัสพนักงาน เพราะค่าชดเชยดังกล่าวเกิดจากการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในอดีต
อย่างไรก็ตาม ถ้าไม่มีเรื่องค่าชดเชย โบนัสปีนี้ของพนักงานน่าจะอยู่ที่ประมาณ 5 เท่าของเงินเดือน แต่พอมีเรื่องนี้ก็ตอบไม่ได้ว่าโบนัสจะอยู่ที่เท่าไหร่ ตอนนี้ยังพอมีเวลาที่จะพิจารณาโบนัสโดยไม่รวมกับเรื่องค่าชดเชย เพราะปกติจะสรุปเรื่องโบนัสในช่วงเดือน ธ.ค. และจ่ายโบนัสให้พนักงานในช่วงต้นปีถัดไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :