นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยวันนี้ (12 กรกฎาคม 2567) ถึงกระแสข่าวการปิดกิจการโรงงานในปัจจุบัน โดยระบุว่า 'เป็นธรรมดา' ที่ในแต่ละปีย่อมมีทั้งกิจการโรงงานที่ต้องปิดตัวลงและเลิกจ้างงาน ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุด้วยกัน แต่ในขณะเดียวกันก็มี 'กิจการโรงงานเปิดใหม่หรือขยายกิจการ' ซึ่งกิจการโรงงานเปิดใหม่ หรือขยายกิจการ นอกจากจะทดแทนโรงงานที่ปิดตัว ยังมาพร้อมกับการจ้างงานใหม่ พัฒนาศักยภาพแรงงาน อัพสกิล ยกระดับและมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมภายในประเทศไปอีกระดับด้วย
ทั้งนี้ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยข้อมูลจาก กรมโรงงานอุตสาหกรรม ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ (เดือนมกราคม – พฤษภาคม 2567) ซึ่งเป็นข้อมูลการประกอบกิจการโรงงานทั้งที่เป็นโรงงานเปิดใหม่ โรงงานขยายกิจการ และโรงงานปิดกิจการ ซึ่งพบว่า ภาพรวมการดำเนินกิจการโรงงานในปัจจุบันยังคงขยายตัวต่อเนื่อง เพราะมีจำนวนโรงงานเปิดใหม่ 'สูงกว่า' โรงงานปิดกิจการถึง 74% โดยจำแนกเป็น
- โรงงานเปิดกิจการใหม่ 848 โรงงาน
- โรงงานขยายกิจการ 126 โรงงาน
- โรงงานปิดกิจการ 488 โรงงาน
สำหรับสาเหตุที่โรงงานปิดกิจการจากรายงานของ กรมโรงงานอุตสาหกรรม พบว่า
- คำสั่งซื้อลดลง เนื่องจากสินค้าส่วนใหญ่เป็นสินค้าทั่วไป ที่มีการแข่งขันทางด้านราคา และไทยไม่สามารถแข่งขันได้
- ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ทำให้ไม่สามารถแข่งขันกับสินค้านำเข้า และไม่สามารถส่งออกสินค้าไปแข่งขันกับสินค้าต่างประเทศได้
- สิทธิประโยชน์ทางการค้า การย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่น เพื่อให้ได้สิทธิประโยชน์ทางการค้าที่มากกว่า
เมื่อพิจารณาข้อมูลจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม ในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา (ตั้งแต่มกราคม-พฤษภาคม 2567) พบว่า การเปิดโรงงานใหม่ในประเทศไทยมีมูลค่าการลงทุนถึง 149,889 ล้านบาท ส่วนโรงงานเดิมที่มีการขยายกิจการมีการลงทุนเพิ่มขึ้น 11,748 ล้านบาท ในขณะที่ โรงงานปิดกิจการ มีมูลค่าการลงทุน 14,042 ล้านบาท ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า 5 เดือนที่ผ่านมา มีมูลค่าการลงทุนจากโรงงานเปิดใหม่ 'มากกว่า' โรงงานปิดกิจการ
นอกจากนี้ ในด้านการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรม การเปิดโรงงานใหม่ มีการจ้างงานถึง 33,787 คน ส่วนการปิดกิจการมีการเลิกจ้างงาน 12,551 คน แสดงให้เห็นว่า ในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา (ตั้งแต่มกราคม-พฤษภาคม 2567) มีการจ้างงานใหม่ 'มากกว่า' การเลิกจ้างงานเนื่องจากโรงงานปิดกิจการ คิดเป็น 64.75%
สรุปได้ว่า 5 เดือนแรกปีนี้ (ตั้งแต่มกราคม-พฤษภาคม 2567) มีโรงงานเปิดกิจการและขยายกิจการ มากกว่า โรงงานปิดกิจการ ทั้งยังมีมูลค่าการลงทุนสูงกว่าโรงงานที่ปิดกิจการ และที่สำคัญ โรงงานเปิดใหม่และขยายกิจการยัง สร้างการจ้างงานเพิ่มขึ้น ถึง 169% เมื่อเทียบกับจำนวนการเลิกจ้างพนักงานเนื่องจากโรงงานปิดกิจการ
สำหรับ 5 ประเภทอุตสาหกรรมของการ 'เปิด' และ 'ปิด' โรงงานในประเทศไทย ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ โดยดูจากจำนวนเงินลงทุนสูงสุด
5 กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการเลิกกิจการ ได้แก่
- ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ เงินลงทุน 2,297.12 ล้านบาท
- ผลิตภัณฑ์โลหะ เงินลงทุน 1,456.19 ล้านบาท
- ผลิตภัณฑ์พลาสติก เงินลงทุน 926.56 ล้านบาท
- ยางและผลิตภัณฑ์ยาง เงินลงทุน 751.05 ล้านบาท
- ผลิตยานพาหนะและอุปกรณ์ เงินลงทุน 690.72 ล้านบาท
5 กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการตั้งโรงงานใหม่ ได้แก่
- อุตสาหกรรมอาหาร จำนวนเงินลงทุนสูงสุด 29,643.75 ล้านบาท
- เคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี จำนวนเงินลงทุนสูงสุด 18,474.36 ล้านบาท
- ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ จำนวนเงินลงทุนสูงสุด 12,378.13 ล้านบาท
- อุตสาหกรรมเครื่องดื่ม จำนวนเงินลงทุนสูงสุด 9,768.81 ล้านบาท
- ผลิตภัณฑ์อโลหะ จำนวนเงินลงทุนสูงสุด 9,600.72 ล้านบาท
นอกจากนี้ รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ยังได้วางนโยบายเพื่อส่งเสริมความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมในประเทศไทยทั้งระยะสั้น และระยะยาว
มาตรการระยะสั้นในการเสริมความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมไทย ได้แก่
- กระตุ้นตลาดในประเทศ โดยออกมาตรการกระตุ้นการซื้อสินค้าจากผู้ผลิตในประเทศ เช่น ผู้บริโภคสามารถนำค่าใช้จ่ายมาใช้ในการลดหย่อนภาษี และการสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ให้สามารถเข้าถึงระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ
- สนับสนุนเงินทุน เพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องของภาคอุตสาหกรรม เช่น เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่ SMEs
- ส่งเสริมการลงทุน กำหนดมาตรการส่งเสริมการลงทุน สำหรับผู้ประกอบการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและสนับสนุนให้เกิดการผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง
- พัฒนาสมรรถนะแรงงาน ด้านเทคโนโลยีการผลิต การจัดการสิ่งแวดล้อม และความปลอดภัยภาคอุตสาหกรรม และระบบการจัดการตามมาตรฐานสากล ให้มีศักยภาพรองรับการปรับตัวสู่เศรษฐกิจยุคใหม่
- เชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิต พัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อเชื่อมโยงผู้ประกอบการตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ และให้การรองรับรองมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ห่วงโซ่การผลิตภายในประเทศมีความเข้มแข็ง
มาตรการระยะยาว ในการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม
- ปรับอุตสาหกรรมให้ตอบโจทย์ต้องการของโลก (S-Curve) มุ่งสู่อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยี เช่น Smart Electronics , Next-Generation Automotive , Future Food
- สร้างอุตสาหกรรมใหม่ ที่โลกต้องการ ปรับเปลี่ยนสู่อุตสาหกรรมบริการตามเทรนด์โลก เช่น Circular for The Future , Innovative Construction
- พัฒนาปัจจัยแวดล้อม ที่เอื้ออำนวย เช่น การแก้ไขปัญหาอุปสรรคเพื่ออำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ พัฒนาทักษะแรงงานที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด การใช้ประโยชน์จากกรอบเจรจาต่างๆ การหาตลาดใหม่
- Green Productivity เพิ่มผลิตภาพของภาคอุตสาหกรรม สร้างความเข้มแข็งควบคู่ไปกับความยั่งยืน
'นายกรัฐมนตรีมุ่งขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมให้เติบโต และเมื่อพิจารณาจากตัวเลขของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ตัวเลขการเปิดตัวของโรงงานยังเป็นไปด้วยดี และดีกว่าตัวเลขในสองปีก่อนหน้านี้ รวมทั้งตัวเลขการจ้างงานยังมีสูงกว่าการเลิกจ้างมาก แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจต่อการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ให้ความสำคัญกับความอยู่รอดของผู้ประกอบการ การดำรงชีวิต วิถีชีวิตของพี่น้องประชาชน พร้อมส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมในประเทศด้วย มาตรการทั้งระยะสั้นและระยะยาวอย่างครอบคลุมถึงอุตสาหกรรมอนาคต ทั้งนี้ ขอชี้แจงด้วยหลักฐานและเหตุผล การดำเนินกิจการต้องปรับตัว เปลี่ยนแปลงไปตามกระแสโลกธุรกิจเป็นธรรมดา ซึ่งรัฐบาลได้วางแนวทางให้การช่วยเหลือ ประชาชนให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ' นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว