ความคืบหน้ากรณีการเสียชีวิตของ นตท.ภคพงศ์ ตัญกาญจน์ หรือน้องเมย นักเรียนเตรียมทหาร (นตท.) ชั้นปีที่ 1 ซึ่งต่อมาครอบครัวได้นำร่างไปชันสูตรและพบว่าอวัยวะภายในหายไป อีกทั้งยังติดใจสาเหตุการเสียชีวิต
หลังจากเมื่อวานนี้ (23พ.ย.) ญาติได้เดินทางไปรับอวัยวะ ที่สถาบันพยาธิวิทยา ศูนย์อำนวยการแพทย์โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ซึ่งทำการผ่าชันสูตรครั้งแรกได้เก็บชิ้นส่วนอวัยวะไว้ โดยไม่ได้แจ้งญาติผู้เสียชีวิต
พล.ต.นพ.ธารา พูนประชา ผอ.สถาบันพยาธิวิทยา ศูนย์อำนวยการแพทย์โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ยอมรับว่าเป็นบมเรียนของทีมแพทย์ ที่ไม่ได้ดูแลจิตใจคนไข้
อย่างไรก็ตามกฎหมายอนุญาตให้เก็บอยู่แล้วโดยไม่ต้องขอความยินยอม ถือเป็นวัตถุพยาน กรณีที่เป็นการตายผิดธรรมชาติ มีทั้งหมด 5 ประเภท คือ 1.ฆาตกรรม 2.ถูกทำให้ตาย 3.ฆ่าตัวเองตาย 4.กินยาพิษ และ 5.ตายโดยไม่รู้สาเหตุ จึงเป็นกฎหมายที่ให้นิติเวชเก็บอวัยวะไว้ได้
ส่วนคำวินิจฉัยพล.ต.นพ.ธารา กล่าวว่า มีคำวินิจฉัยทางการแพทย์คือไฮเปอร์โทรฟี่ ซึ่งเป็นการเรียงของเส้นกล้ามเนื้อหัวใจผิดระเบียบ ทำให้เกิดแผลเป็นและแผลเป็นนี่ไปกดไฟฟ้าของหัวใจ ปกติหัวใจจะทำงานในระบบไฟฟ้า แต่ตนไม่ทราบประวัติของคนไข้รายนี้ เพราะยังไม่ได้รับเป็นผู้ป่วยนอก จึงไม่ทราบถึงรายละเอียด คือในโรงพยาบาลพยาธิแพทย์จะทำงานในระบบตามการตรวจสอบคุณภาพของโรงพยาบาล ตอนนี้ของเรายังไม่นิ่ง ยังไม่มีใครทราบ จึงทำให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ออกมาให้ข่าวเช่นนั้น เพราะโดยธรรมชาติช่วงนี้เด็กจะเสียชีวิตเพราะโรคฮีท สโตรกหรือโรคลมร้อนเยอะ พล.อ.ประวิตรเลยอาจจะตอบไป
สำหรับพยาธิแพทย์จะพูดอะไรหรือให้คำตอบอะไรไปนั้นต้อง 100 เปอร์เซ็นต์ อย่างที่ออกไปขณะนี้คือคนไข้คนนี้หัวใจหยุดเต้นโดยฉับพลันแต่การหยุดเต้นโดยฉับพลันตรงนี้เกิดจากอะไร
ส่วน ถามว่ามีการซ้อมหรือไม่นั้น พล.ต.นพ.ธารา กล่าวว่า จากการตรวจสอบนี้ไม่มี มีเพียงการผิดปกติของหัวใจ สำหรับภาวะปอดคั่งเลือดเกิดจากการที่หัวใจหยุดเต้น เป็นปกติที่คนหัวใจหยุดเต้นเพราะเลือดที่เคยไปเลี้ยงหัวใจไม่มีจึงกลับย้อนสู่ปอด อาจหมายถึงเลือดไม่หมุนเวียนนั้นเอง ซึ่งตนผ่าศพมาทุกเคส ส่วนใหญ่ก็จะมีเลือดคั่งปอดจะพบได้ในคนไข้ที่ช็อก หรือหัวใจหยุดเต้นได้เสมอ
"ส่วนจะรู้ได้อย่างไรว่าอวัยวะชิ้นส่วนเหล่านี้เป็นของคนไข้หรือไม่ ต้องตรวจสอบยีนซึ่งมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ขอบอกก่อนว่าผมไม่มีส่วนได้ส่วนเสียในกรณีดังกล่าวและไม่จำเป็นต้องไปปกป้องโรงเรียนเตรียมทหาร เหมือนเสาหลัก เป็นศาลตัดสินไม่มีการเอนเอียง ไม่มีใครมาบังคับได้ และถ้าหากโดนบังคับจะลาออก เพราะเราต้องเคารพศพที่เสียชีวิตและญาติของผู้เสียชีวิต ครั้งนี้ถือเป็นบทเรียนของทางหน่วยงานที่เราดูแค่ศพและลืมนึกถึงจิตใจญาติ ทั้งนี้จะกลับไปพัฒนาปรับปรุงให้ดีขึ้น”
พล.ต.นพ.ธารากล่าวแสดงความเสียใจกับทางครอบครัวด้วยจริงๆ และขอชี้แจงว่ากรณีที่มีการเก็บชิ้นส่วนอวัยวะไว้นั้น ทางสถาบันจะไม่ทิ้งจะนำไปบำเพ็ญกุศลสวดพระอภิธรรมปีละ 1-2 ครั้ง แล้วแต่จำนวนอวัยวะ เพื่ออุทิศส่วนกุศล จึงนำไปทิ้งไม่ได้อยู่แล้ว
ทั้งนี้ ญาติ ประกอบด้วย นายพิเชษฐ นางสุกัลยา และ น.ส.สุพิชชา ตัญกาญจน์ บิดา มารดา และพี่สาวของน้องเมย เดินทางมาส่งอวัยวะให้กับนายสมณ์ พรหมรส ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์และทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจ ดีเอ็นเอว่าตรงกับอวัยวะที่นำมาหรือไม่ และหาสาเหตุการเสียชีวิตอย่างละเอียดอีกครั้ง
นายสมณ์กล่าวว่า ได้รับอวัยวะของนายภคพงศ์มาตรวจสอบ ขั้นตอนแรกได้ตรวจแล้วว่าอวัยวะที่ส่งมาให้มีอะไรบ้าง ตรวจแล้วพบว่ามีหัวใจ สมอง ตับ ม้าม กระเพาะ ปอด และอีกหลายอย่างให้แพทย์ตรวจสภาพอวัยวะว่าสมบูรณ์ครบถ้วนหรือไม่
ขั้นตอนที่ 2 ตรวจชิ้นเนื้อบางส่วนของอวัยวะว่าดีเอ็นเอตรงกับน้องเมยหรือไม่ และขั้นตอนที่ 3 จัดตั้งทีมผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วย เบื้องต้นมีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการตรวจอวัยวะ 3 คน แต่ตอนนี้เพื่อความมั่นใจและถูกต้องมีการเพิ่มทีมแพทย์ที่มีผู้เชี่ยวชาญภายนอกทางด้านพยาธิสมอง พยาธิหัวใจ และทางด้านนิติเวช มาช่วยด้วย รวมกัน 3 สถาบัน ได้แก่ โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลศิริราช และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ รวมแล้วมีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทั้งหมด 6 คน ตรวจชันสูตรเพื่อหาสาเหตุการเสียชีวิต
นายสมณ์ระบุว่า หลังจากนี้จะมีการติดต่อผู้เชี่ยวชาญ จากนั้นจะเริ่มดำเนินการทันที ตามมาตรฐานของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์จะชันสูตรและหาสาเหตุการเสียชีวิต โดยใช้เวลาภายใน 7 วัน มีการพูดคุยกับญาติของผู้เสียชีวิต ญาติบอกว่าไม่รีบร้อน แต่ต้องการทราบสาเหตุที่ชัดเจนและถูกต้องที่สุด คาดว่าภายในระยะเวลา 7 วันนั้นจะรายงานผลให้กับร้อยเวรและญาติ
“เบื้องต้นได้ตรวจรายงานอวัยวะเรียบร้อยแล้ว คาดว่าถ้าหากเราทีมแพทย์ร่วมกันหาสาเหตุครบทีมทั้ง 6 คน เชื่อว่าภายใน 7 วันจะทราบว่าสาเหตุการตายที่ชัดเจนและถูกต้อง”
ในส่วนกรณีซี่โครงหัก รอยช้ำนั้น ยังไม่ได้รับรายงานจากโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า คาดว่าคงไม่ต้องนำผลชันสูตรมาพูดคุยกัน เนื่องจากเป็นการทำคนละรายงานกัน ถ้าหากผลชันสูตรออกมาครบถ้วนจะชี้แจงให้ทราบในภายหลัง" นายสมณ์กล่าว