ครั้งหนึ่ง คอมมิวนิสต์คงเป็นคำต้องห้ามที่บาดหูใครก็ตามที่เคยใช้ชีวิตผ่านยุค 6 ตุลาฯ มา และมักถูกตีตราให้เป็นปีศาจร้ายทางการเมืองในยุคหนึ่งของไทย รวมถึงมีบทลงโทษตามกฎหมายชัดเจน ทว่าปัจจุบันการเอ่ยถึงแนวคิดนี้ดูจะเป็นเรื่องน่าขบขันห่างไกลความเป็นจริง หลังสหภาพโซเวียตล่มสลาย จีนกลายเป็นทุนนิยม และเกาหลีเหนือก็ดูจะกลายเป็นระบอบเผด็จการแบบบูชาตัวบุคคล กระนั้นยังมีชาวไทยที่เชื่อในแนวคิดนี้อย่างจริงจัง
“ตอนที่ผมเริ่มสนใจแนวคิดมาร์กซิสต์ มันไม่ได้เริ่มจากการที่เรารู้จักมาร์กซ์ แต่มันเริ่มจากการที่เรารู้ว่า ในโลกนี้มันมีคนจน มันมีคนรวย มันมีคนที่มีบ้านห้าหกหลัง มีคอนโดห้าหกที่ กับบางคนที่ไม่มีกระทั่งที่จะซุกหัวนอน เราเห็นคนไร้บ้าน เราเห็นคนจน เราเห็นคนที่โดนขูดรีด เราถึงได้เริ่มคิดว่า โลกแบบนี้มันไม่เวิร์กจริงๆ” สมาชิกของ Group of Comrades เล่าให้เราฟัง
‘ประชาธิปไตยทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง’ คือความเชื่อของ Group of Comrades หรือกลุ่มสหายสังคมนิยม กลุ่มนักศึษา นักกิจกรรม คนทำงาน รวมถึงอาจารย์มหาวิทยาลัย ที่สนใจแนวคิดมาร์กซิสต์ และจัดกิจกรรมสัมมนาทางวิชาการเผยแพร่แนวคิดของคาร์ล มาร์กซ์ รวมถึงทำงานเคลื่อนไหวร่วมกับสหภาพแรงงาน
จักรพล ผลละออ นิสิตคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา หนึ่งในสมาชิกของ Group of Comrades และสมาชิกของ International Marxist Tendency องค์กรสากลของนักศึกษา นักกิจกรรมที่มีแนวคิดแบบมาร์กซิสต์ มองว่า สังคมที่มีเศรษฐกิจแบบทุนนิยมไม่ได้เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ผู้มีอำนาจคือนายทุนกับคนที่มีเงินมากพอจะเข้าไปยุ่งกับการเมือง ความคิดที่ว่ามาร์กซิสต์ หรือคอมมิวนิสต์เป็นขั้วตรงข้ามกับประชาธิปไตย เป็นความคิดที่เพิ่งถูกสร้างขึ้นมาตอนยุคสงครามเย็น และมาร์กซิสต์นั้นก็มีความเป็นประชาธิปไตย เพียงแต่ต่างไปจากประชาธิปไตยในแบบที่เราคุ้นเคย
“ตามกฎหมายพรรคการเมือง คุณมีสิทธิที่จะเข้าไปเล่นการเมืองได้นะ แต่ว่าคุณต้องมีเงินหนึ่งล้านบาท ถึงจะจดจัดตั้งพรรคได้ ถามว่าคนจน ถ้าเกิดเป็นแรงงาน แรงงานในไทยอยากตั้งพรรคแรงงาน หรือคนยากคนจนอยากตั้งพรรคแรงงานเขาจะหาเงินหนึ่งล้านบาทจากไหน
“แนวคิดมาร์กซิสต์เนี่ย เราใช้ระบบประชาธิปไตยนะ แต่จะไม่ใช่ประชาธิปไตยแบบที่เราคุ้นเคย จะเป็นประชาธิปไตยผ่านรูปแบบที่เราเรียกว่าสภา สภาคนงาน สภาโรงงาน สภาชุมชน สภาท้องถิ่น เลือกผู้แทนในแต่ละโรงงาน ในแต่ละหมู่บ้าน ในแต่ละท้องถิ่น ขึ้นไปเรื่อยๆ เป็นประชาธิปไตยจากฐานรากถึงที่สุด”
จักรพลขยายความต่อว่า วลาดีมีร์ เลนิน ผู้นำคนแรกของสหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตได้ว่างรากฐานประชาธิปไตยของคนงานไว้แล้ว เขาเชื่อว่าแนวคิดนั้นไม่ได้ล้มเหลว แต่การเกิดขึ้นของผู้นำเผด็จการในระบอบคอมมิวนิสต์อย่าง โจเซฟ สตาลิน นั้นมาจากการแทรกแทรงของต่างชาติ โดยชนชั้นนำเดิมดึงกองทัพฝรั่งเศส เยอรมัน และอังกฤษบุกโซเวียต จนเลนินต้องยืมมือสตาลิน และข้าราชการเก่าที่เป็นทหารมาปกป้องประเทศ จนเกิดการสถาปนาอำนาจเผด็จการในเวลาต่อมา
“แนวคิดคอมมิวนิสต์ แนวคิดมาร์กซิสต์ โดนโจมตีมาตลอด โดยมีการยกหลายๆ ประเทศที่อ้างความเป็นคอมมิวนิสต์อย่างจีน ก็จะมีปัญหามากว่าเป็นคอมมิวนิสต์แล้วเป็นแบบจีนใช่ไหม เป็นคอมมิวนิสต์แล้วเป็นแบบเวียดนามใช่ไหม ผมว่ามันเป็นเรื่องที่ต้องค่อยๆ นำเสนอกันต่อไป นำเสนอความคิด หรือความจริงในอีกด้านหนึ่งว่า ประเทศอย่างจีนมันเป็นทุนนิยมโดยเผด็จการไปแล้ว มันไม่ใช่สังคมนิยม หรือคอมมิวนิสต์แล้ว”
เป็นเรื่องชวนสงสัย ขณะที่โลกประชาธิปไตยก็มีการพยายามใช้รัฐสวัสดิการ เพื่อสร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงโอกาส แล้วทำไมความเท่าเทียมของสังคมนิยมถึงมาในรูปของรัฐสวัสดิการไม่ได้
“ผมมีจุดยืนว่า ผมสนับสนุนรัฐสวัสดิการนะ แต่เป้าหมายของผมไม่ใช่แค่รัฐสวัสดิการ แต่ ณ ตอนนี้ แน่นอนว่าเราต้องยืนยันเรื่องรัฐสวัสดิการ เพราะมันทำให้แรงงาน หรือคนที่เป็นคนยากคนจนในระบบสามารถมีชีวิตอยู่ต่อไปได้”
จักรพลเล่าถึงจุดยืนว่า มาร์กซิสต์นั้นมองต่างออกไป รัฐสวัสดิการไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาทุนนิยมได้อย่างแท้จริง ทว่าเป็นเครื่องมือที่ช่วยต่ออายุให้ระบบทุนนิยม
“การกุศล การบริจาค หรือการไปทำจิตอาสา อะไรพวกนี้ ผมไม่คิดว่ามันเป็นการแก้ปัญหาที่มันยั่งยืน หรือกระทั่งเรื่องรัฐสวัสดิการเอง ผมก็คิดว่ามันเป็นอะไรบางอย่างที่ต่ออายุให้ระบบทุนนิยม คือการขูดรีดมันก็ยังอยู่ ความไม่ยุติธรรมมันก็ยังอยู่ เพียงแค่คุณทำให้มันดูเหมือนว่าจะน้อยลงแค่นั้นเอง แต่สุดท้ายแล้วการเอารัดเอาเปรียบ การกดขี่ขูดรีดก็ยังอยู่”
การทำงานของ Group of Comrades จึงต่างออกไป โรงงานบางแห่งไม่มีสหภาพแรงงาน และไม่เคยรับรู้สิทธิของตัวเองในทางกฎหมาย การทำงานทางความคิดกับแรงงานทำให้พวกเขารู้ว่า ตัวเองมีอำนาจในการต่อรองกับนายทุน และมีสิทธิที่สมควรได้ จักรพลมองว่า การทำงานกับความคิดเช่นนี้สามารถกลายเป็นสิ่งที่ยั่งยืน และมั่นคงกว่าการบริจาคเงิน
แม้จะดูเหมือนกลุ่มนิสิตนักศึกษาที่ยกเรื่องเก่าๆ จากตำรามาพูด แต่นอกจากการจัดสัมมนาวิชาการอย่าง ‘Marxism Festival 2018’ เมื่อต้นปี และ ‘200 ปีชาตกาล คาร์ล มาร์กซ์ 100 ปีชาตกาล หลุยส์ อัลธูแซร์ ว่าด้วยการก่อรูปของทุน รัฐ และสังคม’ เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา Group of Comrades ยังมีกิจกรรมที่ทำร่วมกับสหภาพแรงงานต่างๆ อย่างการเคลื่อนไหวร่วมกับแรงงาน อย่างการร่วมเดินขบวน และพูดคุยกับพี่น้องแรงงานในวันแรงงาน นำเสนอแนวคิดการต่อสู้ของแรงงาน และจัดอบรมการใช้สื่อเพื่อเป็นเครื่องมือให้แรงงานใช้ต่อสู้เรียกร้องกับนายทุน
ศรีไพร นนทรีย์ ตัวแทนกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง เล่าว่า สหภาพแรงงานทำงานร่วมกับนักศึกษามาตลอด โดยกลุ่มของจักรพลก็เป็นหนึ่งในนั้น ปกติแล้วคนงานจะอยู่ในภาคปฏิบัติ ซึ่งมีข้อจำกัดอาจทำงานถึง 12 ชั่วโมง การจะมาศึกษาทำความเข้าใจเกี่ยวกับทฤษฎีเป็นเรื่องยาก และกลุ่มของจักรพลสามารถเติมเต็มจุดนี้ได้ ทำให้แรงงานได้รู้จัก และเข้าใจแนวคิดต่างๆ อย่างมูลค่าส่วนเกินเกี่ยวข้องกับการผลิตอย่างไร
"เดิมทีเข้ามาทำงานเป็นคนงาน คำว่าสิทธิแรงงานพี่ก็ไม่รู้นะแปลว่าอะไร จนพี่มาเรียนรู้เรื่องชนชั้นจากรุ่นพี่ จากสายนักศึกษาที่เขามาอบรมให้เรา เราถึงเข้าใจว่าเรามีสิทธินะ"
ในอดีตศรีไพรเองก็เกลียดคอมมิวนิสต์ตามพ่อของเธอ แต่เมื่อทำงานสหภาพแรงงาน และทำงานร่วมกับกลุ่มนักศึกษาก็ได้เห็นความจริงอีกมุมหนึ่ง เธอยังอธิบายอีกว่า ความรู้ทฤษฎีทำให้คนงานสามารถแยกมิตรแยกศัตรูได้
“ที่ผ่านมา ทุนกับทุนทะเลาะกัน แล้วคนงานก็แบ่งฝั่งแบ่งฝ่าย แต่ที่สำคัญคือ ต่อให้เราไปอยู่ฝ่ายไหน เราก็ยังเป็นคนของทุนแล้วเราก็ไปตายเพื่อเขา แต่ทฤษฎีทำให้เรารู้เลยว่า ใครกำลังสู้กับใคร รู้ว่าจะอยู่ตรงไหนในความขัดแย้ง เราจะตายเพื่อใคร หรือจะสู้เพื่อชนชั้นเราเอง ทฤษฎีมันช่วยได้”
“เป็นเรื่องที่ค่อนข้างพูดยากนะครับ เพราะด้วยความที่เราอยู่ภายใต้โลกทุนนิยม แน่นอนเราก็ต้องทำมาหากิน ซึ่งถ้าเราประกาศตัวเองเป็นนักมาร์กซิสต์นี่มันไม่มีงานที่เรียกว่า นักปฏิวัติ หรือนักมาร์กซิสต์แล้วจะมีคนจ่ายเงินเดือนจ้างเรา”
จักรพลเล่าว่า เมื่อรุ่นพี่หลายคนเรียนจบก็ทำงานเป็นอาจารย์ หรือเอ็นจีโอ เพื่อปลดล็อคเงื่อนไขทางเศรษฐกิจของตัวเอง โดยยังไม่ได้ทิ้งอุดมการณ์แบบมาร์กซ์ไป เพราะในโลกที่ทุนนิยมเป็นใหญ่เงินก็เป็นเงื่อนไขหนึ่งในการทำตามอุดมการณ์
“ในโลกทุนนิยมมันไม่มีใครทีไม่อยากรวย ถูกไหม ใครๆ ก็อยากรวย เพราะการที่คุณร่ำรวยในโลกทุนนิยมนั่นหมายความว่า คุณเข้าสู่ความสุขสบาย มันคือกฎของระบบทุนนิยมที่ตีกรอบมาว่า คุณต้องคิดแต่เรื่องเงินเท่านั้น เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นแรงงาน ไม่ว่าจะเป็นกระทั่งมาร์กซิสต์เอง พูดให้ถึงที่สุดเองมาร์กซิสต์ก็ต้องทำงานหาเงิน เพราะคุณจำเป็นจะต้องมีเงิน ถ้าคุณไม่มีเงิน คุณก็จะไปทำงานที่ตอบสนองอุดมการณ์ตัวเองไม่ได้”
แรงงานเองก็เช่นกัน ต้องการความร่ำรวยไม่ต่างจากชนชั้นอื่นๆ แต่จักรพลเชื่อว่า เมื่อถึงจุดหนึ่งแรงงานจะเกิดจิตสำนึกทางชนชั้น และตระหนักถึงความเป็นจริงว่า ตัวเองถูกเอารัดเอาเปรียบโดยนายทุน และจะเริ่มคิดถึงเรื่องที่ไปไกลกว่าความคิดเรื่องความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นภายใต้ระบบทุนนิยม
ทุนนิยมเป็นประเด็นน่าขันอย่างหนึ่งที่ถูกยกเมื่อพูดถึงมาร์กซิสต์ เพราะไม่ว่าจะพูดอย่างไร แต่ก็เป็นที่ยอมรับกันว่าทุนนิยมนั่นเองที่ทำให้เกิดการแข่งขัน และพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ ทำให้คนสามารถอ่านแถลงการณ์คอมมิวนิสต์ผ่านสมาร์ตโฟนได้
“เราไม่ได้มองทุนนิยมในฐานะที่มันเป็นปีศาจนะ เรามองมันในฐานะที่มันเป็นระบบตัวหนึ่งที่ถึงเวลามันก็จะต้องหายไป แล้วถูกแทนที่ด้วยระบบใหม่ที่เข้ามา แต่เราจะเก็บผลพวงของมันมีประโยชน์ไว้ เพื่อที่จะต่อยอดต่อไป”
จักรพลยอมรับและตอบประเด็นนี้อย่างตรงไปตรงมาว่า การที่มาร์กซิสต์วิพากษ์ระบบทุนนิยมไม่ได้หมายความว่าเป็นการปฏิเสธทุนนิยมทั้งหมด แต่ยอมรับว่าทุนนิยมทำให้เทคโนโลยีพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ทว่าปัจจุบันระบบทุนนิยมเองจากแรงผลักอาจกลายเป็นเพดานไปแล้ว เมื่อมันฉุดรั้งพัฒนาการเสียเอง อย่างยารักษาโรคร้ายแรงที่ไม่คุ้มทุนก็อาจไม่ถูกผลิตขึ้นมา เพราะทุนนิยมนั้นอยู่บนพื้นฐานการคิดเรื่องกำไร-ขาดทุน และแม้จะเป็นที่กังขาว่าระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์จะทำให้สังคมหยุดนิ่งอยู่กับที่ เพราะไม่มีการแข่งขัน แต่ก็มีอีกมุมหนึ่งที่อาจมองได้เช่นกัน
“งานคือสิ่งที่ทำให้มนุษย์มีคุณค่าในตัวเองขึ้นมา เพราะฉะนั้นพอเข้าสู่สังคมในอุดมคติของเราแล้วผมคิดว่า มนุษย์จะเข้าถึงศักยภาพสูงสุดของตัวเอง คุณจะเข้าถึงศักยภาพสูงสุดของตัวมนุษย์เอง ในแง่ที่ว่าทุกวันนี้มีคนที่อยากทำงานอะไรบางอย่าง แต่เขาไม่สามารถทำงานพวกนั้นได้ เพราะระบบทุนมันบีบให้เข้าต้องไปทำงานที่มันได้เงิน
“ความมั่งคั่ง หรือความเฟื่องฟูทั้งหลายแหล่ในสังคมที่ได้รับมามันเกิดมาจากการใช้กำลังแรงงานของคนที่เป็นชนชั้นแรงงานทั้งนั้น มันไม่ได้เกิดขึ้นจากอภินิหารของเทวดา หรือของนายทุนที่ดลบันดาลให้มันเกิด แต่มันเกิดจากน้ำพักน้ำแรงของแรงงาน แต่ว่าสุดท้ายคนที่ได้ครอบครองความมั่งคั่งเหล่านี้กลับกลายไปเป็นนายทุนที่ไม่ได้ทำอะไรเลย ผมก็เลยรู้สึกว่าชนชั้นแรงงานเป็นกลุ่มคนที่ไม่ได้รับความยุติธรรม แล้วก็ถูกกดขี่อยู่ในสังคมปัจจุบัน”
“เรื่องปากท้องทุกอย่างมันผูกโยงกับการเมืองหมดเลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าจ้าง หรือนโยบาย เอาแบบง่ายๆ ปลายปีนี้ แม้แต่เรื่องโบนัส ถ้าตกลงกันไม่ได้ปุ๊บ คนงานต้องออกมาประท้วง พอออกมาประท้วง ตกลงกันไม่ได้มันก็จะเกี่ยวพันกับพวกหน่วยงานรัฐที่เข้ามายุ่งเกี่ยว มันก็กลายเป็นงานเมือง” ศรีไพรกล่าวในฐานะตัวแทนสหภาพแรงงานฯ และอดีตลูกจ้างโรงงานอุตสาหกรรม พร้อมเสริมว่า ตอนนี้กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตเองก็พยายามทำเรื่องนโยบายที่จะนำเสนอต่อพรรคการเมือง ซึ่งเสร็จไประดับหนึ่งแล้ว
หน้าที่ของสหภาพแรงงานที่ศรีไพรทำงานอยู่คือ การดูแลผลประโยชน์ของลูกจ้าง เรียกร้องสิทธิแรงงาน และนโยบายต่างๆ เช่น ค่าจ้างและสวัสดิการทางสังคม รวมถึงแก้ไขปัญหาของชาวบ้านในละแวกใกล้เคียง
“ปัจจุบัน หลักๆ ตอนนี้เราก็มีการเคลื่อนไหวให้มีการเลือกตั้ง เพราะการเลือกตั้งมันทำให้คนงานมีสิทธิมีเสียงได้มากกว่ารัฐที่เป็นเผด็จการ”
ในหลายๆ ครั้งมักมีคนไม่เข้าใจว่าทำไมแรงงานไม่ตั้งใจทำงานไป ทำไมต้องมายุ่งกับการเมือง เพราะชนชั้นกลางมักคิดว่า ความเป็นอยู่ และความสำเร็จของตัวเองมาจากความพยายามเพียงอย่างเดียว และสวัสดิการทั้งหลายที่ได้นั้นเป็นของได้เปล่า แต่สำหรับแรงงานหาเช้ากินค่ำนั้น นโยบายของรัฐส่งผลกระทบต่อพวกเขาอย่างมาก เพราะด้วยรายได้ที่ไม่เพียงพอต่อเหตุฉุกเฉินเช่นการเจ็บป่วย สวัสดิการรัฐนั้นสำคัญถึงชีวิต
“หลายๆ อย่างพวกพี่ๆ เองก็ออกมาเรียกร้องให้มันเป็นนโยบายรัฐ อย่างเช่นลาคลอด ชนชั้นกลางก็ได้ใช้ เขาได้เปล่า แต่มันออกมาเป็นกฎหมาย เพราะพวกพี่ออกมาเรียกร้อง พอเป็นกฎหมายพวกเขาก็ได้ใช้ ฐานเงินเดือนคนงานได้สูงขึ้น คนชนชั้นกลางเขาก็จะได้มากขึ้นไปด้วย ชีวิตเขาก็ได้ดิบได้ดีเพราะว่าการเรียกร้องนะ”
ศรีไพรย้ำว่า คุณภาพที่ดีขึ้นของคนทุกคนไม่ว่าจะมีฐานะทางเศรษฐกิจแบบไหนล้วนมาจากการต่อสู้เรียกร้อง ไม่มีสิ่งใดได้เปล่าจากนายจ้าง หรือนักการเมือง ทว่าการต่อสู้ที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์นั้นมีความเสี่ยงเสมอ
“พี่เคยถูกขู่ฆ่าตอนจะตั้งสหภาพแรงงานครั้งแรก มีคนชุดดำถือปืนลงมาจากรถตู้เลย แต่พอดีคนงานเห็นก่อน มันไม่น่าจะมีอะไรที่น่ากลัวไปกว่านั้นแล้ว”
ความกังวลในการต่อสู้นั้นมีมากมาย ยิ่งศรีไพรมีน้องสาวเป็นดาวน์ซินโดรม และแม่เป็นอัลไซเมอร์ต้องรับผิดชอบ แต่เธอก็ระลึกเสมอว่า ยังมีคนที่เจอเรื่องหนักกว่า ตัวเองอย่างเช่นผู้คนในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ เธอจึงยังคงยืนหยัดทำงานด้วยความเชื่อ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของชนชั้นแรงงาน
“ตอนพฤษภาทมิฬก็กลัว แต่เราต้องกล้าที่จะก้าวไปพร้อมกับคนอื่น เรายังมีความหวังว่าจะเปลี่ยนแปลงสังคมได้ อาจจะไม่ใช่ในยุคของเรา แต่ก็ต้องทำ” ศรีไพรกล่าวด้วยน้ำเสียงอ่อนโยน