ก่อนหน้านี้ แอมะซอนเคยระบุเกณฑ์พื้นฐานหลายประการสำหรับการคัดเลือกสถานที่ตั้งอาคารสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ (HQ2) ไว้อย่างชัดเจน เช่น ต้องอยู่ใกล้สนามบินขนาดใหญ่ ต้องอยู่ในเขตเมือง หรือไม่เกินชานเมืองในตำแหน่งที่มีประชากรมากกว่า 1 ล้านคน บรรยากาศเอื้อต่อการทำธุรกิจ และเพียบพร้อมด้วยระบบขนส่งมวลชน
แน่นอนว่า เมืองใหญ่ที่มีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานครบครัน มักเปี่ยมด้วยแรงดึงดูดมหาศาลต่อองค์กรชั้นนำ อย่างเช่นกรณีของมหานครนิวยอร์ก ซึ่งบริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งกูเกิล และเฟซบุ๊ก ได้เข้ามาจับจองสถานที่เรียบร้อยแล้ว รวมถึงสำนักงานใหญ่เป็นอันดับ 2 ของทวิตเตอร์ก็ตั้งอยู่ในแมนฮัตตันด้วยเช่นกัน
ล่าสุด โปรเจกต์ใหญ่ของแอมะซอนตัดสินใจปักหมุดอยู่ 2 แห่งคือ เมืองลองไอส์แลนด์ มหานครนิวยอร์ก และเมืองคริสตัลซิตี้ ตอนเหนือของรัฐเวอร์จิเนีย โดยแอมะซอนจะลงทุนเป็นเงินจำนวน 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในแต่ละเมืองดังกล่าว พร้อมกับมอบคำมั่นสัญญากับท้องถิ่นเรื่องการดึงอาชีพ และนำภาษีจำนวนมากเข้าสู่เมือง โดยคาดหวังการสร้างงานมากถึง 50,000 ตำแหน่ง
อย่างไรก็ตาม อาคารสำนักงานใหญ่ของแอมะซอนกลับเกิดเสียงวิจารณ์ผลกระทบต่อโครงสร้างพื้นฐานของท้องถิ่น มูลค่าของอสังหาริมทรัพย์ และช่องว่างระหว่างฐานะที่กำลังขยายใหญ่ขึ้น
เห็นได้ชัดจากบทเรียนที่เกิดขึ้นในซีแอตเทิล สถานที่ตั้งของสำนักงานใหญ่แห่งแรกของแอมะซอน ซึ่งทำให้ราคาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์กระโดดขึ้นสูงถึง 73 เปอร์เซ็นต์ และราคาสำหรับเช่าเพิ่มขึ้น 31 เปอร์เซ็นต์ ภายในเวลา 5 ปี
ไมเคิล คิมเมลแมน (Michale Kimmelman) นักเขียนชาวอเมริกัน เจ้าของรางวัลพูลิตเซอร์บอกว่า อุตสาหกรรมเทคโนโลยีไม่ใช่วัฒนธรรมของสังคมเมือง มันคือความโดดเดี่ยว เป็นกำแพงขวางกั้นเสรีนิยม และขัดขวางอัลกอริทึมของพัฒนาการ ทั้งยังสำทับเพิ่มเติมว่า สำหรับนิวยอร์กเทคโนโลยีเป็นแค่ส่วนหนึ่งของมหานครที่ต้องแบ่งปันสปอตไลท์จากธุรกิจการเงิน สื่อ แฟชั่น โฆษณา และศิลปะ
ในซานฟรานซิสโก อีกหนึ่งเมืองหลวงของเทคโนโลยี รัฐมีข้อเสนอบางอย่างที่น่าสนใจสำหรับคนในชุมชน พวกเขาออกความคิดว่า บริษัทที่เพิ่งก่อตั้งไม่ควรมีโรงอาหารพนักงาน โดยให้เหตุผลว่า วิศวกร และนักเขียนโค้ด ไม่เคยออกจากห้องทำงานของตัวเอง เพื่ออุดหนุนร้านอาหารท้องถิ่น ทำให้ไม่เกิดการไหลเวียนของเศรษฐกิจ
คล้ายคลึงกันกับในซีแอตเทิลที่บริษัทชั้นนำต้องเจอกับความวุ่นวายครั้งใหญ่ เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐเสนอให้พวกเขาเสียภาษีเพิ่มเติม เพื่อนำมาช่วยเหลือคนจรจัด จนทำให้การก่อสร้างสำนักงานบางแห่งต้องหยุดชะงัก
อย่างไรก็ตาม การเข้ามาของทุนใหญ่ทำให้บรรยากาศหลายอย่างในเมืองเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น เอริก คลิเนนเบิร์ก (Eric Klinenberg) นักสังคมวิทยาที่ทำงานกับมหาวิทยาลัยนิวยอร์กบอกว่า ในฐานะเจ้าตลาดของหนังสือแอมะซอนสามารถเลือกทางเดินที่เป็นประโยชน์กับตัวเองได้ เช่น การสนับสนุนห้องสมุดสาธารณะ หรือโรงเรียนในท้องถิ่น เพื่อทำให้ชุมชนมีชีวิตชีวามากขึ้น
ที่มา :