แต่ไม่ใช่เหตุผลสำคัญที่สุดของการตั้งพรรคนี้ขึ้น ซึ่งในวันเปิดตัวพรรค นายสุเทพ กล่าวทั้งน้ำตาว่าเพื่อสานต่อเจตนารมณ์มวลมหาประชาชน กปปส. ที่บาดเจ็บ-เสียชีวิต และไม่สนคำครหาใดๆ ที่ถูกหาว่าเป็นพรรคสุเทพ หรือ พรรค กปปส. แม้แต่คำว่า ‘ตระบัดสัตย์’ เพราะเชื่อว่าเป็นการ ‘ตระบัดสัตย์เพื่อชาติ’ นั่นเอง
แม้ นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ว่าที่หัวหน้าพรรค จะประกาศ ‘วางมือ’ กับงานของรัฐบาล-คสช.ทั้งหมด เพื่อลงสนามการเมืองครั้งนี้ และยังไม่ยืนยันจุดยืนว่าจะเป็นขุนพลหนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็น นายกฯ อีกสมัยหรือไม่ ?
แต่ก็เชื่อได้ว่าพรรครวมพลังประชาชาติไทย จะต้องสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ แน่นอน เพราะสมาชิกพรรคที่เปิดตัวไปในวันเปิดตัวพรรคล้วนเป็นแนวร่วม กปปส.เดิม และกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ทั้งสิ้น
ซึ่งเป็นขั้วตรงข้าม ‘พรรคเพื่อไทยและพรรคอนาคตใหม่’ อย่างชัดเจน ดังนั้น หากพรรคจะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็น นายกฯ อีกสมัย จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหรือเกินความคาดหมาย
เมื่อตรวจแถว ‘พรรคหน้าใหม่-หน้าเก่า’ จะพบว่าตอนนี้ คสช. มีพรรคแนวร่วมแล้ว 3 พรรคหลักๆ ได้แก่ พรรคพลังประชารัฐ ที่กำลังจีบ อดีตส.ส.แถวรอง ส.ส.โลว์โปร์ไฟล์-หางแถว จากพรรคต่างๆ มาร่วมทัพโดยเฉพาะจากพื้นที่ภาคเหนือและอีสาน โดยรวบรวมได้แล้วกว่า 40 คน เพื่อมาร่วมทัพพรรคพลังประชารัฐ ที่ว่ากันว่ามี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นกุนซือจัดตั้งพรรคและมี 2 ขุนพลข้างกาย ได้แก่ นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม และ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ เป็นผู้ช่วยจัดเตรียม
อีกพรรค คือ พรรคประชาชนปฏิรูป ของนายไพบูลย์ นิติตะวัน ที่ออกตัวชัดเจนตั้งแต่ต้นปี พร้อมสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็น นายกฯ อีกครั้ง เพราะเชื่อในพลังความดีและความสามารถ รวมกับพรรครวมพลังประชาชาติไทย จึงเท่ากับ 3 พรรคแล้วที่พร้อมหนุน พล.อ.ประยุทธ์ แบบเปิดหน้าชัด
ยังไม่รวมถึง ‘พรรคตัวแปร’ อย่าง พรรคประชาธิปัตย์ ที่นำโดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่เคยได้เป็นรัฐบาลที่จัดตั้งในค่ายทหารมา จนถูกมองว่าเป็น ‘พรรคนอมินีลายพราง’ อีกทั้งในยุคนั้น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็นั่งเป็น รมว.กลาโหม ด้วย และฝ่ามรสุมการชุมนุมของคนเสื้อแดง (นปช.) มาด้วยกัน
แน่นอนว่า ‘สายสัมพันธ์’ นี้ยังพอมีอยู่บ้าง รวมถึงมวลชน กปปส. ที่ออกมาประท้วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จนนำมาสู่การรัฐประหาร 22 พ.ค.2557 ก็เป็นฐานเสียงพรรคประชาธิปัตย์
และแน่นอนว่าทั้ง คสช. และประชาธิปัตย์ ก็มีจุดยืนร่วมกันในการต่อสู้กับพรรคเพื่อไทยและพรรคอนาคตใหม่ ที่เปิดตัวแรงจะฉีกรัฐธรรมนูญ ปี 2560 เพื่อ ‘เช็กบิล คสช.’ คืน โดยพุ่งเป้าไปที่มาตรา 279 ที่จะยกเลิกคำสั่ง คสช. ที่จะส่งผลถึงการยกเลิกการนิรโทษกรรม คสช.ด้วย พร้อมเสนอให้นิรโทษกรรมนักโทษคดีการเมืองยุค คสช.ไปอีก
อีกพรรคคือพรรคชาติไทยพัฒนา ล่าสุดได้ตั้งนายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ที่ถูกมองว่าตัวแทนพรรค มาร่วม ‘ครม.ประยุทธ์ 5’ ในเก้าอี้ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา
อีกทั้งการเชิญ ‘2 ตระกูลคุณปลื้ม’ แห่งพรรคพลังชลมาร่วมรัฐบาล โดยมอบตำแหน่ง นายสนธยา คุณปลื้ม เป็นที่ปรึกษานายกฯ ด้านการเมือง และนายอิทธิพล คุณปลื้ม เป็นกรรมการผู้ช่วย รมว.การท่องเที่ยวฯ
ยังไม่นับรวม พรรคภูมิใจไทย ที่นำโดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค และผู้นำทัพคนสำคัญอย่างนายเนวิน ชิดชอบ อีกทั้งกลุ่มพรรคการเมืองท้องถิ่นกับตระกูลการเมือง ที่ตกเป็นข่าวโดน ‘พลังดูด’ ก่อนหน้านี้อีก
เท่ากับว่า พล.อ.ประยุทธ์ มีแต้มต่อทางการเมืองพอสมควร ในฐานะผู้กำหนดกติกาผ่านมือกฎหมายชั้นครู อย่าง นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) โดยเฉพาะที่มาของ นายกฯ ที่เปิดช่องให้มี ‘นายกฯคนนอก’ และ นายกฯที่ไม่ต้องเป็นลงเลือกตั้ง ส.ส. ด้วย อีกทั้งยังใช้ช่วงเวลาที่ยังไม่ปลดล็อกพรรคการเมือง ลงพื้นที่พบประชาชนในหลายจังหวัด
ขณะที่ฝ่ายความมั่นคง ประเมินพรรคของนายสุเทพ ว่า ไม่เกินความคาดหมาย ที่จะมีจุดยืนสนับสนุน คสช.หรือ ทหาร อีกทั้งมองตรงกันว่าเป็นเรื่องดีที่จะสร้างทางเลือกให้ประชาชนมากขึ้น โดยเดินเข้าสู่ระบบ ไม่ต้องลงบนท้องถนนอีก
แต่ก็มีการมองว่านายสุเทพ ตั้งพรรคขึ้นมาก็เพื่อสร้าง ‘เกราะคุ้มกันตัวเอง’ จากภัยต่างๆ เพราะนายสุเทพก็มีศัตรูอยู่ไม่น้อย อีกทั้งเรื่องคดีความต่างๆ ด้วย
เช่นเดียวกับกรณี พล.อ.สนธิ บุญยรัตนกลิน อดีตหัวหน้าคมช. ที่ก็ตั้งพรรคมาตุภูมิขึ้นมา หลังการรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 แต่ถูกมองว่า ‘เสียของ’ เพราะสุดท้าย ’พรรคพลังประชาชาชน - พรรคเพื่อไทย’ ก็กลับมามีอำนาจ ชนะการเลือกตั้งอีกครั้ง ซึ่งทั้ง นายสุเทพ และ พล.อ.สนธิ โดยลึกๆ แล้วอาจหวั่นใจไม่น้อยเกรงจะโดน ‘เช็คบิลย้อนหลัง’ ด้วย
ว่ากันว่าพรรครวมพลังประชาชาติไทยก็หวังอยู่ที่ 30 เก้าอี้ เพื่อให้สามารถมีเสียง ‘ต่อรองอำนาจ’ ได้
และชูประเด็นชัดเจนในเรื่องการปกป้องสถาบันอันสำคัญของชาติ ซึ่งเป็นจุดที่พรรคอนาคตใหม่ถูกโจมตีอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะเรื่องประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค และนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค เคยเคลื่อนไหวเรื่องการแก้ไขมาในอดีต อีกทั้ง นานธนาธร เคยร่วมชุมนุมกับกลุ่มคนเสื้อแดง ส่วนนายปิยบุตร ก็เคยเป็นหนึ่งในนักวิชาการคณะนิติราษฎร์ ที่เคลื่อนไหวเรื่องผลพวงของการทำรัฐประหารควบคู่
ที่สำคัญมีการประเมินว่า พรรครวมพลังประชาชาติไทย จะไม่สามารถแย่งชิงฐานเสียงเดิมของพรรคประชาธิปัตย์ได้มากนัก เพราะแทบไม่มี ส.ส.ประชาธิปัตย์ ไปร่วมพรรค มีเพียงบุคคลใน ‘ตระกูลเทือกสุบรรณ’ ไปร่วมเสียส่วนใหญ่ และแนวร่วม กปปส.-พธม.เดิมเท่านั้น ส่วนแหล่งทุนพรรคมีรายงานว่ามาจากกลุ่มทุนที่มีความใกล้ชิดนายสุเทพตั้งแต่อดีต
ทำให้มีการประเมินว่าอาจซ้ำรอย ‘พรรคการเมืองใหม่’ ของกลุ่ม พธม.ในอดีต เพราะบทบาทของ กปปส. สิ้นสุดตั้งแต่ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ โดนรัฐประหาร
เช่นเดียวกับบทบาท พธม. ที่หมดไปตั้งแต่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขึ้นเป็น นายกฯ สลายขั้วสายนายทักษิณ ชินวัตรไปได้ ก่อนจะมาหลอมมาเป็น กปปส. อีกไม่กี่ปีต่อมา แม้ พธม. จะตั้งพรรคการเมืองใหม่ขึ้นมา แต่ก็ไม่สามารถ ‘จุดติด’ ได้ แม้จะเปลี่ยนชื่อพรรคเป็น ‘พรรคสังคมประชาธิปไตยไทย’ ก็ตาม
ทำให้ ‘บิ๊กคสช.’ สงวนท่าทีกับการเปิดตัวพรรคของนายสุเทพพอสมควร เพราะกองทัพเองก็เห็นบทเรียนในอดีต จึงทำให้กองทัพ-คสช.แสดงความเป็นกลาง ดูแลทุกพรรคแทนไม่ว่าจะสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนคสช. แต่ก็ไม่ถึงขึ้นไม่แลพรรคของนายสุเทพเลย เพราะอย่างน้อยก็เป็นภาพของ กปปส. ที่สามารถอยู่ร่วมกับ คสช. ได้ในระยะยาวๆ เพราะมีเป้าหมายร่วมกันคือต้านพรรคเพื่อไทยและเครือข่ายของนายทักษิณ
ซึ่ง คสช. เองก็รู้ถึง ‘ความเสี่ยง’ หากออกตัวสนับสนุนพรรคของนายสุเทพ ในช่วงที่พรรคการเมืองเปลี่ยนไปตามทิศทางลมเสมอ หลังนายสุเทพ จะเดินสายพบปะมวลชน ก็ทำให้ พล.อ.ประวิตร ส่งเสียงเตือนทันทีว่า ไม่สามารถทำได้ เพราะยังไม่ได้ปลดล็อกทางการเมือง หากจะเดินให้เดินแค่คนเดียวพอ เพื่อไม่ให้เกิดคำครหากับ คสช. ได้ว่าสองมาตรฐาน
แต่ใช่ว่า คสช. จะไม่แคร์มวลชน กปปส. ซึ่งเห็นได้ชัดในกรณีการออกมา ‘ขอโทษ’ กรณีตำรวจการเข้าจับกุม ‘อดีตพระพุทธะอิสระ’ ขณะสวมจีวรในกุฏิวัดอ้อน้อย ทำให้สะเทือนจิตใจผู้ศรัทธาพระพุทธะอิสระหรือความแคลงใจในคน กปปส. ไม่น้อย ที่ออกมาโจมตีรัฐบาลพอสมควร จนทำให้ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ กับ พล.อ.ประวิตร ต้องออกมา ‘ขอโทษ’ กองหนุนที่สำคัญ
เหตุการณ์ ‘เสียสัตย์เพื่อชาติ’ จบอย่างไร มีให้เห็นมาแล้ว 26 ปีก่อน ยุค พล.อ.สุจินดา คราประยูร ที่ต้องเก็บตัวเงียบมาโดยตลอด
ส่วนการ ‘ตระบัดสัตย์เพื่อชาติ’ จะซ้ำรอยหรือไม่นั้น ต้องติดตามกันต่อไป เพราะแค่เพียงเปิดตัวพรรคได้ไม่ถึง 1 สัปดาห์ กระแสพรรคก็เป็นที่วิจารณ์อย่างกว้างขวางแล้ว
กลิ่นอาย ‘การเมือง’ ยุคก่อน คสช. กลับมาอีกครั้ง !!
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง