สำนักข่าวเอเอฟพีเผยแพร่รายงานพิเศษเรื่องสถานการณ์ยางพาราในประเทศไทย Thai rubber farms stretched as US-China trade war saps demand โดยระบุว่า สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ซึ่งมาตรการตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้าและส่งออกระหว่างสองประเทศ ส่งผลกระทบต่อกลไกการตลาดและการค้าโลก โดยที่อุตสาหกรรมยางพาราไทย เป็นหนึ่งในผู้ได้รับความเสียหายจากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ เช่นกัน
รายงานของเอเอฟพีระบุว่า นับตั้งแต่เดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ราคายางในไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง คิดเป็นร้อยละ 20 ของราคาช่วงก่อนหน้า เป็นผลจากโรงงานผลิตสินค้าที่เกี่ยวข้องกับยางพาราในจีนเริ่มลดปริมาณการสั่งซื้อหรือนำเข้ายางพาราจากไทย เพราะธุรกิจในจีนเองก็ได้รับผลกระทบจากภาษีนำเข้าและส่งออกที่เพิ่มขึ้นจากมาตรการของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ
ในปีนี้ ไทยมีปริมาณการผลิตยางพาราประมาณ 4.6 ล้านตันทั่วประเทศ และแม้ว่ายางพาราจะสามารถนำไปแปรรูปและผลิตสินค้าต่างๆ ได้มากมาย ตั้งแต่ยางรถยนต์ ถุงมือแพทย์ ถุงยางอนามัย ไปจนถึงจุกนมสำหรับเด็กทารก แต่เมื่อจีนซึ่งเป็นผู้สั่งซื้อยางพารารายใหญ่จากไทยปรับลดปริมาณการนำเข้า ย่อมส่งผลกระทบต่อตลาดยางพาราไทยอย่างไม่มีทางเลี่ยง
เอเอฟพีรายงานอ้างอิงคำให้สัมภาษณ์ของ ลีโอเนล ด็องทียัก ประธานฝ่ายขายของบริษัทมิชลินประจำภูมิภาคเอเชียและโอเชียเนีย ระบุว่า มิชลินเป็นผู้รับซื้อผลิตผลร้อยละ 40 ของยางพาราไทย แต่ถ้าหากราคายางลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง จะยิ่งทำให้เกษตรกรหันไปปลูกพืชประเภทอื่นๆ และอาจส่งผลกระทบต่อปริมาณยางในอนาคต ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพของยางที่จะนำไปใช้ในอุตสาหกรรมยางรถยนต์ด้วยเช่นกัน
ขณะเดียวกัน ผู้รับจ้างกรีดยางในจังหวัดทางภาคใต้ของไทยยังได้สะท้อนความคิดเห็นผ่านเอเอฟพีด้วยว่า ราคายางที่ตกต่ำลงทำให้ผู้รับจ้างกรีดยางถูกปรับลดค่าแรงลงไปด้วย ทั้งยังต้องทำงานเพิ่มขึ้นอีกหลายชั่วโมงกว่าจะมีรายได้เท่าเดิมในสมัยที่ยางราคาดีกว่านี้ ในอนาคตอาจต้องผันตัวไปทำงานอื่น โดยปัจจุบัน เจ้าของสวนยางประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานกรีดยางอยู่แล้ว
ส่วน 'กรกฎ กิตติพล' ผู้จัดการฝ่ายการตลาดของบริษัทไทยฮั้วยางพารา เปิดเผยว่า ค่าเงินหยวนที่อ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ยางพารามีราคาแพงขึ้นสำหรับผู้ประกอบการและอุตสาหกรรมโรงงานในจีน จึงไม่มีใครอยากเก็บสต็อกยางพาราเอาไว้เป็นจำนวนมาก และบรรยากาศการค้าที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ทำให้หลายฝายไม่ต้องการเสี่ยง
จากกรณีราคายางพาราตกต่ำ ทำให้รัฐบาลทหารไทยต้องประกาศมาตรการจ่ายเงินชดเชยแก่เกษตรกรสวนยาง ไร่ละ 1,800 บาท ไม่เกินรายละ 15 ไร่ รวมถึงเสนอแนวทางให้ปรับลดพื้นที่ปลูกยางพาราลงให้ได้ภายใน 5 ปีต่อจากนี้ แต่ชาวสวนยางพาราบางส่วนมองว่ามาตรการดังกล่าวไม่สามารถแก้ปัญหาในระยะยาวได้ และเอเอฟพีรายงานเพิ่มเติมว่า 'ราคายางพารา' เป็นประเด็นทางการเมืองของไทยมาโดยตลอด โดยที่มีผ่านมามีการชุมนุมประท้วงกดดันรัฐบาลชุดต่างๆ ที่ไม่สามารถตอบสนองเกษตรกรสวนยางได้ แม้รัฐบาลชุดนี้จะได้รับความสนับสนุนจากเกษตรกรสวนยางในภาคใต้ส่วนใหญ่ แต่ก็อาจจะถูกกดดันและเรียกร้องมากขึ้นเช่นกัน
พืชอีกประเภทที่ได้รับผลกระทบจากการสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ เป็นอันดับต้นๆ และอาจจะมากกว่ายางพารา คือ ถั่วเหลือง เนื่องจากที่ผ่านมา จีนเป็นผู้นำเข้าถั่วเหลืองรายใหญ่ของโลก แต่ถั่วเหลืองที่ส่งออกจากสหรัฐฯ ต้องเผชิญกับภาษีนำเข้าในจีนที่เพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 25 นับตั้งแต่รัฐบาลสองประเทศออกนโยบายตอบโต้ทางการค้าระหว่างกัน ทำให้เกิดผลกระทบแก่อุตสาหกรรมในหลายประเทศ รวมถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
อย่างไรก็ตาม บางประเทศ เช่น เวียดนาม ได้รับอานิสงส์จากสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ เพราะโรงงานสัญชาติจีนจำนวนมากต่างพากันย้ายฐานการผลิตไปยังเวียดนาม เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากมาตรการด้านภาษี
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: