ไม่พบผลการค้นหา
ปัจจุบัน 'สมาร์ทซิตี' กำลังกลายเป็นโมเดลในการสร้างเมืองแห่งเทคโนโลยีและความสะดวกรวดเร็วในอนาคตที่กำลังได้รับความนิยมไปทั่วโลก แต่เว็บไซต์ไฟแนนเชียล ไทม์ส กลับเผยแพร่บทวิเคราะห์ที่ระบุว่า สิ่งที่ขาดหายไปจากไอเดียเรื่องสมาร์ทซิตี คือ ความต้องการที่แท้จริงของมนุษย์ วิถีชีวิต และเมืองสำหรับประชากรที่หลากหลาย

เว็บไซต์ไฟแนนเชียล ไทม์ส เผยแพร่บทวิเคราะห์เรื่อง "สมาร์ทซิตีอาจไม่ใช่ไอเดียที่ฉลาดนัก" (Smart cities might not be such a bright idea) ซึ่งเสนอว่า แม้ในปัจจุบันแนวคิดเรื่อง 'สมาร์ทซิตี' หรือ 'เมืองอัจฉริยะ' ที่เน้นการเชื่อมต่ออย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี ระบบคมนาคมขนส่ง การรับส่งข้อมูลข่าวสาร รวมไปถึงเมืองแห่งรถยนต์ไร้คนขับ กำลังกลายเป็นโมเดลต้นแบบสำหรับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในหลายประเทศ จนแม้กระทั่งบิล เกตส์ มหาเศรษฐีผู้ก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟ เตรียมทุ่มเงินหลายพันล้านดอลลาร์เพื่อสร้างสมาร์ทซิตีแห่งใหม่ในมลรัฐแอริโซนาของสหรัฐฯ และทางกูเกิลก็เตรียมลงทุนพัฒนาสมาร์ทซิตีในเขตชานนครโตรอนโตของแคนาดา แต่ไฟแนนเชียล ไทม์สกลับวิเคราะห์ว่า 'สมาร์ทซิตี' อาจไม่ใช่โมเดลการพัฒนาเมืองที่ดีนัก เพราะแนวคิดนี้ไม่มีพื้นที่สำหรับ 'คนจน' หรือแม้แต่ 'ความเป็นชุมชน'

CLIP Wake Up News : อาหารริมทางเป็นเสน่ห์ทางวัฒนธรรมฝีมือชาวบ้าน...ไม่ใช่ผลงานรัฐ

ไฟแนนเชียล ไทม์สระบุว่า สิ่งที่ขาดหายไปจากแนวคิดสมาร์ทซิตี คือ กลุ่มประชากรหลากหลายฐานะที่อาศัยอยู่ในเมืองปัจจุบัน บ้านพักสวัสดิการของรัฐหรือบ้านพักเอื้ออาทร หรือแม้แต่อาหารข้างทาง เพราะแนวคิดเบื้องหลังสมาร์ทซิตี คือ การนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยและการเชื่อมต่อมาช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถบริหารจัดการเมืองได้อย่างรวดเร็วและราบรื่น เช่น การปรับเส้นเลนสำหรับรถยนต์ที่สามารถทำได้ทันที เมื่อปริมาณรถยนต์บนท้องถนนเพิ่มขึ้น หรือการมีไฟจราจรอัจฉริยะที่สามารถปิดการทำงานได้โดยอัตโนมัติ หากขณะนั้นไม่มีรถยนต์บนท้องถนน ในแง่นี้ กลุ่มคนจน ขอทาน สัตว์เร่ร่อน หรือแม้แต่อาหารข้างทางจึงถูกมองว่าเป็นส่วนเกินและอุปสรรคสำหรับสมาร์ทซิตี

'Japanese Town' ชุมชนญี่ปุ่นใจกลางสุขุมวิท

ไฟแนนเชียล ไทม์ส ยกตัวอย่างของอินเดียที่วางแผนสร้างสมาร์ทซิตีกว่า 100 แห่งภายในปี 2020 โดยระบุว่า แม้ปัจจุบันอัตราการขยายตัวของประชากรในอินเดียจะสูงมาก จนรัฐบาลอินเดียวางแผนสร้างสมาร์ทซิตีเพื่อรองรับต่อการขยายตัวเหล่านี้ แต่ไฟแนนเชียล ไทม์สตั้งข้อสังเกตว่า แม้รัฐบาลอินเดียจะสร้างสมาร์ทซิตีขึ้นจริง ก็อาจไม่สามารถดึงดูดประชากรจากเขตชนบทที่มีรายได้และการศึกษาไม่มากอย่างชาวประมงหรือเกษตรกรได้ เพราะกลุ่มคนเหล่านี้ล้วนมีวิถีชีวิตเป็นของตนเอง ดังตัวอย่างที่ชาวอินเดียเห็นจนชินตา คือ ตามถนนสายต่างๆ ทั้งในเมืองและเขตชนบทมักจะมีฝูงวัวออกมาเดินเป็นประจำ แต่แนวคิดในการสร้างสมาร์ทซิตีกลับไม่มีพื้นที่สำหรับฝูงวัว หรือแม้แต่วิถีชีวิตดั้งเดิมของพวกเขา

 สัมผัสวิถีญวนที่ชุมชนริมน้ำจันทบูร

ด้วยเหตุนี้ ไฟแนนเชียล ไทม์สจึงเสนอว่า สิ่งสำคัญที่นักวางผังเมืองต้องตระหนักถึง อาจไม่ใช่แนวคิดเรื่องของการเชื่อมต่อ ระบบเทคโนโลยี การส่งข้อมูลที่รวดเร็วและทันสมัย หากแต่ต้องสำรวจว่า ความต้องการที่แท้จริงของผู้คนคืออะไร และออกแบบเมืองเพื่อตอบสนองความต้องการเหล่านั้น และนักวางผังเมืองต้องสนใจศึกษารูปแบบเมืองและชุมชนเก่า ที่ประกอบด้วยกลุ่มคนที่หลากหลายที่ค่อยๆ ขยายตัวตามธรรมชาติอย่างกรุงลอนดอนของอังกฤษ หรือกรุงนิวเดลีของอินเดีย ที่นอกจากจะเป็นเมืองที่คนจนและคนรวยสามารถอยู่ร่วมกันได้แล้ว มันยังเต็มไปด้วยเครือข่ายของความเป็นชุมชน ศูนย์กลางกิจกรรมต่างๆ และวิถีชีวิตของผู้คนที่เชื่อมต่อถึงกันและกันด้วย