ไม่พบผลการค้นหา
จากทั้งหมด 124 ดราม่า ตลอดหนึ่งปีเต็ม - ต้นเหตุมาจากรัฐบาลสูงถึง 101 กรณี ด้าน 'อนุทิน' ขึ้นแท่นต้นตอดราม่าสูงสุดในฐานะตัวบุคคล

จากจุดเริ่มต้นของโรคระบาดที่มีต้นตอจากต่างประเทศ เปลี่ยนผ่านเข้าสู่วิกฤตสุขภาพก่อนกลายเป็นปัญหาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของผู้คนทั่วโลก ทว่า 'โควิด-19' ในไทยกลับมีอีกหนึ่งบทบาทสำคัญในการเป็นชนวนการเอาผิดทางการเมืองอย่างที่ประเทศอื่นไม่ทำกัน 

ข้อขัดแย้งที่สร้างความสับสนนำไปสู่ 'ดราม่า' ของคนในสังคม ซึ่งตามข้อมูลจาก Rocket Media Lab พบว่า เมื่อรวบรวมข้อมูลตั้งแต่เดือน ม.ค. 2563 - 7 ม.ค. 2564 ประเทศไทยมี ข่าว/ประเด็นที่เรียกได้ว่าเป็น 'ดราม่าโควิด-19' รวมทั้งสิ้น 124 กรณี โดยแบ่งตัวละครสำคัญได้เป็น 3 กลุ่ม คือ ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน 


'รัฐ' อันดับหนึ่ง - 'อนุทิน' อันดับสอง 

จากทั้งหมด 124 กรณี ดราม่าโควิดไทยที่เกิดขึ้นจากรัฐมีสูงถึง 101 กรณี หรือคิดเป็น 81.45% ยิ่งเมื่อมองลึกลงไปพบว่ามีทั้งต้นเหตุจากทั้งนโยบายและแผนงาน, ทัศนคติ, ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ รวมไปถึง การสื่อสารจากภาครัฐ, การเลือกปฏิบัติ และความโปร่งใส หรือแม้กระทั่งความรู้ทางการแพทย์

เมื่อจำแนกรายประเภท 

  • 1.นโยบายและแผนงาน 23 กรณี 
  • 2.ทัศนคติ 22 กรณี 
  • 3.ประสิทธิภาพในการจัดการ 16 กรณี
  • 4.การสื่อสาร 14 กรณี 
  • 5.การเลือกปฏิบัติ 12 กรณี 
  • 6.ความโปร่งใส 12 กรณี
  • 7.ความรู้ทางการแพทย์ 2 กรณี 

นอกจากพิจารณาดราม่าในฐานะรัฐบาลโดยรวม ข้อมูลจาก Rocket Media Lab ยังจำแนกตัวละครในฝั่งรัฐบาลที่เป็นสาเหตุของดราม่าเหล่านั้น โดยมี 'รัฐบาล' ในฐานะหนึ่งตัวละครในอับที่หนึ่ง ด้วยกรณีดราม่าทั้งสิ้น 17 กรณี 

ตัวละครที่ก่อให้เกิดดราม่าสูงสุดอันดับสอง ในส่วนของภาครัฐคือ 'อนุทิน ชาญวีรกูล' รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 8 กรณี พบว่า ประเด็นปัญหาที่ก่อให้เกิดดราม่าจากการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งของ อนุทิน ชาญวีรกูล นั้นเกิดจากปัญหาทัศนคติ 6 กรณี และการสื่อสาร 2 กรณี 

โควิด อนุทิน
  • อนุทิน ชาญวีรกูล' รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

ขณะที่อันดับสามร่วมได้แก่ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน และ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ฝั่งละ 7 กรณีเท่ากัน โดยฝั่ง นพ.ทวีศิลป์ เกิดจากปัญหาทัศนคติ 6 กรณี และการสื่อสาร 1 กรณี ขณะที่ สธ.เกิดจากปัญหาความโปร่งใสและนโยบายและแผนงาน เท่ากันอย่างละ 3 กรณี และประสิทธิภาพในการจัดการอีก 1 กรณี 

อีกหนึ่งตัวละครที่อยู่ในอันดับสามเช่นเดียวกันคือ ศบค. ซึ่งเกิดจากปัญหานโยบายและแผนงาน 3 กรณี ประสิทธิภาพในการจัดการ 2 กรณี การสื่อสารและทัศนคติ อย่างละ 1 กรณี

ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ไม่ติดใน Top5 นั้น จากข้อมูลของ Rocket Media Lab พบว่า พล.อ.ประยุทธ์ มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับดราม่าจำนวน 5 กรณี แบ่งเป็นปัญหาการสื่อสาร 3 กรณี นโยบายและแผนงาน และองค์ความรู้ทางการแพทย์ อย่างละ 1 กรณี

ทว่าดราม่าจำนวนมากที่เกิดขึ้นจากรัฐบาล หรือ ศบค. นั้น แท้จริงแล้วอยู่ในความรับผิดชอบของนายกรัฐมนตรีทั้งสิ้น ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล และผู้อำนวยการ ศบค. 


5 ตัวละครจากเอกชน - ปชช.

ในดราม่า 124 กรณี เกี่ยวข้องกับภาคเอกชนเพียง 5 กรณี คิดเป็น 4.03% โดยมีตัวละครเพียง 5 ตัวละครด้วยกันคือบริษัท Grab, พนักงาน KFC, มหาวิทยาลัยกรุงเทพ, มหาวิทยาลัยต่างๆ และร้านวอร์มอัพ จังหวัดเชียงใหม่ 

โดยทั้ง 5 กรณี เกิดจากประเด็นปัญหาเรื่องนโยบายและแผนงาน 2 กรณี ความรู้ทางการแพทย์ ทัศนคติ การสื่อสาร อย่างละ 1 กรณี 

ขณะที่ภาคประชาชนมีเพียง 18 กรณี คิดเป็น 14.52% โดยมีตัวละครทั้งหมด 11 ตัวละครด้วยกัน เช่น ชาวเน็ต 5 กรณี, ประชาชน 4 กรณี, กาละแมร์ (พิธีกรหญิง), ฌอน บูรณหิรัญ, ปิยาภัสร์ ภิรมย์ภักดี, ผู้กองเบนซ์, แชมป์ พีระพล (พิธีกรชาย), หนุ่มสกินเฮด, หนูเล็กก่อนบ่าย, หมาก-คิม (นักแสดง), แก้ว BNK อย่างละ 1 กรณี

ทั้ง 18 กรณี เกิดจากประเด็นปัญหาเรื่องทัศนคติ 16 กรณี และความรู้ทางการแพทย์ 2 กรณี ส่วนประเด็นเรื่องความโปร่งใส, การเลือกปฏิบัติ, ประสิทธิภาพในการจัดการ, การสื่อสาร, นโยบายและแผนงาน ไม่ปรากฏ ซึ่งพอเข้าใจได้ว่าเป็นเพราะภาคประชาชนนั้นไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการบริหาร กำหนดนโยบายดังเช่นภาครัฐ 


เบื้องลึกดราม่าเกิดจากอะไร 

เมื่อพิจารณาที่มาการเกิดดราม่าโดยรวม ข้อมูลสะท้อนว่ารากของปัญหาสำคัญที่สุดมากจากฝั่งทัศนคติซึ่งกลายมาเป็นมาชนวนให้เกิดดราม่ามากที่สุดถึง 39 เรื่อง หรือคิดเป็น 31.45% และตัวละครที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับดราม่าในประเด็นเรื่องทัศนคติสูงที่สุดคือ อนุทิน ชาญวีรกูล และ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค.จำนวนเท่ากันที่ 7 กรณี

ทวีศิลป์ ศบค.
  • นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค.

รองลงมาคือนโยบายและแผนงาน 25 กรณี คิดเป็น 20.16% โดยเกิดจากภาครัฐ 23 กรณี ภาคเอกชน 2 กรณี ตัวละครที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับดราม่าในประเด็นเรื่องนโยบายและแผนงานสูงที่สุดคือรัฐบาล จำนวน 9 กรณี

ข้อมูลยังพบว่า เดือนที่มีจำนวนดราม่าเกิดขึ้นมากที่สุดคือ มี.ค. 2563 ที่เกิดดราม่าทั้งสิ้น 35 เรื่อง ซึ่งเป็นเดือนที่มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในการจัดการโควิด-19 ในวันที่ 25 มี.ค. ส่วนเดือนที่ไม่ปรากฏมีดราม่าตามเกณฑ์การคัดเลือกเลยคือเดือน ก.ย. 2563 ซึ่งมีตัวเลขผู้ติดเชื้อจำนวน 157 คน และเดือน พ.ย. ซึ่งมีตัวเลขผู้ติดเชื้อจำนวน 224 คน 

ท้ายสุด แม้ไทยจะได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีระบบสุขภาพดีที่สุดเป็นอันดับ 6 ของโลก แต่จากข้อมูลของ Rocket Media Lab ในประเด็นดราม่าโควิด-19 ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ในโซเชียลมีเดียตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นปัญหาและการจัดการวิกฤตโรคระบาดของไทย โดยเฉพาะฝั่งรัฐ อันเป็นองค์กรที่มีหน้าที่ในการจัดการวิกฤตโรคระบาดในครั้งนี้ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง;