ไม่พบผลการค้นหา
จากยานยนต์ขับเคลื่อนด้วยตัวเอง สู่การใช้ชีวิตแบบมัลติเจเนอเรชั่น (Multi-Generation) เชื่อมโยงกับอัลกอริทมิก ดีไซน์ (Algorithmic Design) กลายเป็นปรากฏการณ์เจนทริฟิเคชั่น (Gentrification) ผลักไสชุมชนเล็กๆ ออกจากพื้นที่ ตบท้ายด้วยผลกระทบจากเทคโนโลยีความจริงเสมือน ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นกองทัพหน้าใหม่ที่จะมาเปลี่ยนโฉมการออกแบบเมืองในอนาคตไปตลอดกาล

1. ยานยนต์ไร้คนขับกับการพัฒนาถนน

ดูเหมือนจะเป็นเรื่องยาก เมื่อลองจินตนาการภาพเมืองที่ปราศจากรถยนต์ และผู้คนหันกลับมาใช้จักรยานเป็นพาหนะ หรือเดินเท้ากันมากขึ้น เพราะเมื่อปีที่ผ่านมา รถยนต์ขับเคลื่อนด้วยตนเองเป็นประเด็นที่แซกซึมอยู่ทุกบทสนทนาเกี่ยวกับเทคโนโลยี เนื่องจากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ทั้งรายเล็ก รายใหญ่ ต่างเร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ออกมาแข่งขันกันในหมวดหมู่รถยนต์ต้นแบบ โดยชูความดีงามทั้งเรื่องการลดปัญหาความแออัด มลพิษทางอากาศ และการคมนาคมที่สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้รถยนต์ขับเคลื่อนด้วยตนเองจะเป็นเรื่องน่าตื่นตาตื่นใจ กระทั่งรัฐบาลอังกฤษวางแผนนำรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยตนเองออกมาวิ่งสัญจรบนถนนภายในปี 2021 แต่ขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับว่า เรื่องความเชื่อมั่นในเทคโนโลยียังคงคาบลูกคาบดอก เพราะหลักจากทำการทดลองกับมานานสองนาน สภาพท้องถนนของหลายๆ เมืองเริ่มแสดงให้เห็นว่า ไม่พร้อมต้อนรับเทคโนโยลีใหม่ ทำให้หลายฝ่ายต้องผลักดันข้อกฎหมาย และเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบต่างๆ เพื่อให้รถยนต์ขับเคลื่อนด้วยตนเองสามารถวิ่งบนท้องถนนได้อย่างปลอดภัยในอนาคต

ที่ผ่านมา บางประเทศเคยพยายามออกแบบถนนเรืองแสดง ถนนผลิตไฟฟ้า ถนนกรองอากาศ ฯลฯ ทว่าโจทย์สำคัญของการบริหารเมืองในปี 2018 หนีไม่พ้นการสร้างสรรค์นวัตกรรมการออกแบบถนนที่มุ่งเน้นเรื่องความปลอดภัยมาเป็นอันดับแรก ตัวอย่างเช่นบริษัทสามเอ็ม (3M) ที่กำลังร่วมมือกับเจเนรัล มอเตอร์ (General Motors) และฟอร์ด (Ford) ทุ่มเทพัฒนาถนน และป้ายจราจรอัจฉริยะ เพื่อใช้กับรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยตนเอง แต่ก็ยังไม่มีใครกล้ารับประกันเรื่องความปลอดภัย และการปรับปรุง เพราะท้องถนนที่แออัดในอนาคตอาจทำให้อุบัติเหตุเกิดง่ายขึ้น หากนักวางแผนไม่เตรียมแผนรับมือกับเทคโนโลยี


peter-hershey-192003.jpg

2. การออกแบบเมืองด้วยระบบอัลกอริทึม

อัลกอริทมิก ดีไซน์ (Algorithmic Design) หรือการนำระบบอัลกอริทึมเข้ามาช่วยออกแบบสถาปัตยกรรม กำลังเป็นเครื่องมือชิ้นสำคัญของบริษัทสถาปนิกชื่อดังระดับโลก โดยการออกแบบส่วนใหญ่ทุ่มความสำคัญกับเมือง และภาคพื้น ซึ่งอัลกอริทึมจะคอยเนรมิตรทุกรายละเอียดของไอเดียล้ำๆ ให้เกิดขึ้นจริง และมันเป็นเทคโนโลยีที่จะมาเปลี่ยนวิธีการทำความเข้าใจเมือง และการออกแบบไปตลอดกาล

ณ สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology – MIT) ทีมนักวิจัยส่วนใหญ่กำลังใช้ปัญญาประดิษฐ์ช่วยหักล้าง หรือสนับสนุน ทฤษฎีการวางผังเมืองในหัวข้อต่างๆ เช่น สาเหตุการฟื้นฟูเมือง เหมือนกับทางโทโปส์ (Topos) บริษัทสตาร์ทอัพในกรุงนิวยอร์ก ซึ่งนำปัญญาประดิษฐ์มาวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับเมืองต่างๆ ทำให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะเฉพาะ และองค์ประกอบสำคัญของความเป็นเมือง โดยการวิเคราะห์ผ่านระบบอัลกอริทึมนำไปสู่ความเข้าใจที่ละเอียดลึกซึ้ง และช่วยให้สามารถออกแบบโซลูชันการบริหารจัดการเมืองแบบครบวงจรได้ดียิ่งขึ้น

นอกจากนั้น สถาปนิกทั่วโลกต่างเดินหน้าทดลองความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่มีปัญญาประดิษฐ์เป็นตัวช่วยคิดค้นขึ้น เพราะการสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมจากโครงสร้างสุดซับซ้อนต้องอาศัยเทคโนโลยีประมวลผลที่แม่นยำ โดยเฉพาะกับการออกแบบที่อยู่อาศัยในเขตชานเมือง หรือการก่อสร้างบ้านสำเร็จรูป ซึ่งอัลกอริทึมสามารถตอบสนองความต้องการได้ดี


peter-hershey-192002.jpg

3. คนหลากเจเนอเรชั่นอาศัยอยู่ร่วมกันเป็นปกติ

ในสหรัฐฯ มีประชากรมากกว่า 60 ล้านคน กำลังอาศัยอยู่ในครอบครัวที่มีความหลากหลายทางเจเนอเรชั่น นั่นหมายความว่า ภายในบ้านหลังเดียวกันจะมีทั้งสมาชิกที่เป็นผู้ใหญ่เจเนอเรชั่นเอ็กซ์ วัยรุ่นเจเนอเรชั่นวาย เด็กเล็กเจเนอเรชั่นอัลฟ่า และบรรดาคนชราเบบี้บูมเมอร์ ซึ่งจำนวนดังกล่าวกำลังเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ผลมาจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้อพยพที่ย้ายเข้ามาอาศัยอยู่ในสหรัฐฯ

เนสเตอร์ลี (Nesterly) สตาร์ทอัพขนาดเล็กในเมืองบอสตัน เป็นเหมือนตัวแทนที่สะท้อนให้เห็นแนวโน้มของการอยู่อาศัยร่วมกันของคนหลากเจเนอเรชั่น และหลายเชื้อชาติ โดยแพลตฟอร์มมาพร้อมแนวคิดการทำธุรกิจเช่าที่พักคล้ายๆ กับแอร์บีเอ็นบี (Airbnb) แต่กลับไม่สนนักท่องเที่ยวรายวัน และเน้นการจับคู่เจ้าของบ้านสูงอายุเข้ากับผู้เช่าหนุ่มสาวที่งบประมาณจำกัด ซึ่งนอกจากเนสเตอร์ลีจะก่อให้เกิดคลื่นความสนใจในรูปแบบการใช้ชีวิตใหม่ๆ แล้ว ขณะเดียวกันยังทำให้สถาปัตยกรรมของบ้านเปลี่ยนแปลงไปด้วย โดยสถาปนิกต้องออกแบบบ้านให้มีความยืดหยุ่น สามารถรองรับผู้อยู่อาศัยที่หลากหลาย ทั้งเด็กเล็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ และคนชรา


marco-ceschi-119361.jpg

4. ร้านรวงเล็กๆ ภายในเมืองจะจางหายไป

2 ไฮไลท์เด่นประจำปีของสถาปนิกชื่อดังสัญชาติอังกฤษ โทมัส เฮเธอร์วิก (Thomas Heatherwick) คือการออกแบบพื้นที่สาธารณะตอบสนองความต้องการของ ‘คนรวย’ จนทำให้โครงการการ์เดน บริดจ์ (Garden Bridge) หรือสะพานข้ามแม่น้ำเทมส์ ลากยาวยันโครงการเพียร์ 55 (Pier 55) การปรับปรุงท่าเรือให้เป็นสวนสาธารณะลอยน้ำ ย่านแมนฮัตตันฝั่งตะวันตก ต้องล้มพับลงเสียเฉยๆ เพราะมันดูเหมือนจะเป็นสัญลักษณ์ของความฟุ่นเฟือย มากกว่าสาธารณูปโภคที่เป็นประโยชน์ต่อมวลชน

นั่นเป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นความร่วมมือกันของทางภาครัฐ และเอกชน ซึ่งทำให้หลายๆ เมืองทั่วโลกมองเห็นผลกระทบด้านลบในระยะยาวของการพัฒนาพื้นที่สาธารณะ และหันมาสนใจในปรากฏการณ์เจนทริฟิเคชั่น (Gentrification) หรือกระบวนการผลักให้ชุมชนเล็กๆ ภายในเมืองค่อยๆ หายไป เพราะการเกิดของโครงการลงทุนจากพวกมหาเศรษฐี และการซ่อมแซมอาคารเก่าแก่ที่ทำให้ค่าเช่าสูงขึ้น ผลักไสให้ผู้มีรายได้น้อย และร้านรวงขนาดเล็กต้องย้ายออกจากพื้นที่

ฮายไลน์ (High Line) โครงการฟื้นฟูรางรถไฟร้างให้กลายเป็นสวนลอยฟ้ากลางป่าคอนกรีต นับเป็นหนึ่งตัวอย่างการทำงานร่วมกันของภาครัฐ และเอกชนในมหานครนิวยอร์ก เพื่อพิสูจน์ให้เห็นประโยชน์ต่อสาธารณชน และผลกระทบด้านบวกในอนาคต เริ่มต้นด้วยการจัดตั้งเครือข่ายชุมชน เพื่อช่วยเหลือผู้คนระดับรากหญ้า โดยนำความรู้เกี่ยวกับการเจรจาต่อรอง และการออกแบบมาแบ่งปันกัน หวังจะนำไปสู่ความเป็นธรรมของการสร้างสรรค์พื้นที่สาธารณะในอนาคต


nikolas-behrendt-220141.jpg

5. ความจริงเสมือนบุกรุกพื้นที่สาธารณะ

โปเกมอน โก (Pokémon Go) นับเป็นตัวปลุกเทรนด์การใช้เทคโนโลยีการสร้างความจริงเสมือนในพื้นที่ (Augmented Reality – AR) ให้กลับมามีชีวิตชีวา ด้วยการให้ผู้เล่นออกไปตามหาโปเกมอนที่ซ่อนตัวอยู่ตามสถานที่ต่างๆ จนเกิดเป็นการวิพากษ์วิจาร์เกี่ยวกับประเด็นการรุกรานพื้นที่ทางกายภาพด้วยความจริงเสมือน

ครั้งหนึ่ง มูลนิธิปกป้องสิทธิเสรีภาพของสื่อในสหรัฐฯ (Knight Foundation) ออกมาระดมทุนจัดอีเวนท์ให้ผู้เล่นเกมโปเกมอน โก ออกไปสำรวจเมืองที่ตัวเองอยู่ เพื่อกระตุ้นการออกมามีส่วนร่วมในพื้นที่สาธารณะของชุมชนภายใต้การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี

เช่นเดียวกับ สแนปแชท (Snapchat) ที่นำผลงานประติมากรรมบอลลูนสุนัขของเจฟฟ์ คูนส์ (Jeff Koons) ราชารสนิยมสาธารณะ ซึ่งรับแรงบันดาลใจมาจากลูกโป่งแฟนซี แต่สร้างขึ้นด้วยเทคโนโลยีการสร้างความจริงเสมือน และกำหนดพิกัดเอาไว้กลางสวนสาธารณะ ซึ่งก่อให้เกิดเป็นคำถามตามมามากมายว่า พื้นที่สาธารณะ เป็นพื้นที่ของใครกันแน่ ซึ่งเรื่องดังกล่าวสำคัญมาก เพราะหากเทคโนโลยีบุกรุกพื้นที่สาธารณะจนกลายเป็นความ ‘ปกติ’ อนาคตการออกแบบเมืองต้องคอยรองรับการเกิดขึ้นของนวัตกรรมใหม่ๆ ให้ครอบคลุมทุกมิติ และต้องอยู่บนฐานของการสร้างโอกาสให้คนทุกกลุ่ม ซึ่งทั้งหมดก็วางอยู่บนเรื่องของสิทธิมนุษยชน


U-01.jpg