ไม่พบผลการค้นหา
นับตั้งแต่ พ.ศ.2361 หลังจากที่กัปตันเดินเรือชาวอเมริกันเข้ามาสยามครั้งแรก จดหมายจากสยามก็ถูกส่งไปถึงประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา หลังจากนั้นทั้งสองชาติก็มีการติดต่อค้าขายกันเรื่อยมาจนกระทั่งปัจจุบันที่ครบรอบ 200 ปี ในปี พ.ศ. 2561
"ไทกับฝรังชาตมะริกันเปนไม้ตรีมีความราบคาบต่อกันชั่วฟ้าแลดิน"

เนื่องในโอกาสครบรอบ 200 ปีความสัมพันธ์ระหว่างไทย-สหรัฐอเมริกา ทางสถานทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทยได้ร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งไทยและสหรัฐฯ จัดนิทรรศการ 'ของขวัญแห่งมิตรภาพ :ราชอาณาจักรไทยและสหรัฐอเมริกา พ.ศ. 2361-2561' ขึ้นที่พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนารถ ในพระบรมมหาราชวัง ตั้งแต่ที่ 21 มีนาคม - 30 มิถุนายน พ.ศ.2561 

กลิน เดวี่ส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย กล่าวว่า การสถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ มีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2361 ซึ่งนิทรรศการครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากทั้งหน่วยงานต่างๆ ของไทยและพิพิธภัณฑ์สมิธโซเนียนจากสหรัฐฯ ในการนำวัตถุทางประวัติศาสตร์ของไทยที่เป็น ‘ของขวัญ’ มอบให้แก่ทางสหรัฐฯ ในอดีต มาจัดแสดงในงานครั้งนี้

ภายในนิทรรศการมีการจัดแสดงสาสน์ของพระยาสุริยวงศ์มนตรี (ดิศ บุนนาค) ที่เขียนถึงประธานาธิบดีเจมส์ มอนโร ของสหรัฐฯ รวมไปถึงของขวัญที่พระมหากษัตริย์ของไทยพระราชทานให้แก่สหรัฐฯอเมริกา แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่มีมาอย่างยาวนานระหว่างสองประเทศ

จุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ 200 ปี ไทย-สหรัฐฯ

ปี พ.ศ.2361 กัปตันเดินเรือชาวอเมริกันนำเรือมาจอดเทียบท่า ณ กรุงเทพมหานคร เพื่อหาซื้อน้ำตาล ซึ่งเป็นสินค้าราคาแพงในยุคนั้น และเมื่อได้น้ำตาลเต็มลำเรือจึงได้ออกเดินทางกลับ พร้อมนำจดหมายของพระยาสุริยวงศ์มนตรี (ดิศ บุนนาค) ซึ่งดำรงตำแหน่งเจ้าพระพระคลังในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยขณะนั้น ไปส่งถึงประธานาธิบดีเจมส์ มอนโร


01 Letter from Phaja Surivongmontri (Dit Bunnag) to President James Monroe 1818 Part 1.jpg

(สาสน์ที่พระยาสุริยวงศ์มนตรีเขียนถึงประธานาธิบดีเจมส์ มอนโร เป็นภาษาโปรตุเกส)

จดหมายฉบับวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ.2361 ชักชวนให้สหรัฐอเมริกาสานสัมพันธ์ทางการค้ากับราชอาณาจักรสยามนับแต่นั้นต่อไปในอนาคต และยังถือเป็นจดหมายฉบับแรกที่มีการติดต่อกันอย่างเป็นทางการครั้งแรกระหว่างสองประเทศอีกด้วย

ในปี พ.ศ.2376 ราชอาณาจักรสยามและสหรัฐฯ ได้ลงนามในสนธิสัญญาพาณิชย์และไมตรี ซึ่งเป็นสนธิสัญญาฉบับแรกระหว่างสหรัฐอเมริกากับประเทศในทวีปเอเชียเพื่อสร้าง "ไม้ตรีมีความราบคาบต่อกันชั่วฟ้าแลดิน" ซึ่งขณะนั้นตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ถือเป็นช่วงที่สยามเริ่มมีการติดต่อค้าขายกับชาวตะวันตกอย่างเป็นทางการอีกครั้งหนึ่ง


_61A7450.JPG

(สนธิสัญญาพาณิชย์และไมตรีระหว่างสยามและสหรัฐฯ)

สนธิสัญญาพานิชย์และไมตรีฉบับนี้เป็นสนธิสัญญาที่มีการบันทึกลงนามถึง 4 ภาษา ได้แก่ ภาษาโปรตุเกส ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาจีน ว่าด้วยเรื่องความสัมพันธ์และข้อตกลงในเรื่องการค้าระหว่างราชอาณาจักรสยามและสหรัฐอเมริกา ซึ่งนับว่าเป็นสนธิสัญญาที่สยามทำกับชาติตะวันตกฉบับแรกๆ ของกรุงรัตนโกสินทร์และทำขึ้นก่อนสนธิสัญญาเบาว์ริ่งในปีพ.ศ. 2398

ในปี พ.ศ.2404 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชสาสน์ไปยังประธานาธิบดีเจมส์ บูแคนัน แสดงพระราชประสงค์ที่จะพระราชทานช้างคู่หนึ่งเพื่อ 'ไว้ให้สืบพันธุ์ในทวีปอเมริกา' และยังได้พระราชทานงาช้างอีกคู่หนึ่งด้วย 'เพื่อจะให้เปนยศปรากฎนามของกรุงสยามยิ่งขึ้นไป' แต่ทั้งนี้เมื่อพระราชสาสน์ไปถึงกรุงวอชิงตัน ดี.ซี นายอับราฮัม ลินคอร์น ก็ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ทั้งนี้ประธานาธิบดีลินคอร์นปฏิเสธช้างจากสยาม โดยให้เหตุผลว่า 'ภูมิอากาศของสหรัฐฯไม่เหมาะแก่การขยายพันธุ์ช้าง'


IMG_1503.jpg

(กล่องบุหรี่ทองคำที่นายปรีดีส่งไปถึงประธานาธิบดีแฟรงคลิน ดี รูสเวลท์)

แม้ว่าทางสยามไม่ได้ส่งช้างไปยังสหรัฐฯ แต่ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศยังมีการติดต่อกันมาโดยตลอด 

ครั้งหนึ่ง ช่วงปลายของสงครามโลกครั้งที่ 2 นายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ขณะนั้น ได้จัดส่งกล่องบุหรี่ทองคำมอบให้แก่ประธานาธิบดีแฟรงคลิน ดี รูสเวลท์เป็นการลับ เพื่อส่งข้อความที่มีนัยทางการเมืองแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับทางสหรัฐฯ และไทยพร้อมที่จะสนับสนุนสหรัฐฯในสงครามครั้งนั้น ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและสหรัฐฯ เกิดความร่วมมือในทุกระดับทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจและวัฒนธรรม จนกระทั่งปัจจุบัน