นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าโรค มือ เท้า ปาก ปกติจะไม่มีอาการรุนแรง แต่หากได้รับเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 หรือ อีวี 71 (EV 71) อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ ผู้ปกครองสามารถสังเกตอาการของบุตรหลาน หากพบว่า มีไข้ขึ้นสูง ซึมลง เดินเซ ชัก เกร็ง หายใจหอบเหนื่อย อาเจียนมาก มีภาวะขาดน้ำ ความดันโลหิตต่ำ อัตราการเต้นหัวใจผิดปกติ อาจช็อกหมดสติ และเด็กอาจมีโอกาสหัวใจวายทำให้เสียชีวิตได้ ซึ่งในบางรายไม่พบผื่นที่บริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า ให้เห็นชัดเจน
ทั้งนี้ วิธีการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 (EV71) ทำได้โดยสอนให้บุตรหลานรักษาความสะอาด อาทิ การล้างมือ ดูแลสุขอนามัยทั่วไป ไม่พาเด็กไปสถานที่ที่มีคนเยอะ อากาศไม่ถ่ายเท เช่น ห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ ในช่วงที่มีการระบาด รวมทั้งโรงเรียนและศูนย์เด็กเล็กควรดูแลให้มีการปฏิบัติตามมาตรฐานด้านสุขลักษณะของสถานที่อย่างสม่ำเสมอ เช่น ในห้องเรียน ห้องครัว ภาชนะใส่อาหาร รวมทั้งห้องน้ำ ห้องส้วม อาคารสถานที่ เครื่องเล่น หรืออุปกรณ์การเรียนการสอน ของเล่นต่างๆ ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรคเป็นประจำ
จากข้อมูลเฝ้าระวังโรค สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 6 พ.ค. 61 พบผู้ป่วยจำนวน 11,326 ราย จาก 76 จังหวัด กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือ อายุ 1 – 3 ปี ภาคที่มีอัตราป่วยสูงสุดคือ ภาคเหนือ 28.31 ต่อแสนประชากร ภาคกลาง 22.995 ต่อแสนประชากร ภาคใต้ 10.62 ต่อแสนประชากร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 8.37 ต่อแสนประชากร ตามลำดับ โดยจังหวัดที่ไม่พบผู้ป่วยคือจังหวัดอุดรธานี
นพ.โอภาส กล่าวว่า หากพบว่าบุตรหลานมีอาการใกล้เคียงกับการรับเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 แนะนำให้พาไปพบแพทย์โดยทันที และควรแจ้งให้ทางโรงเรียนและศูนย์เด็กเล็กทราบ และหยุดอยู่บ้านจนอาการและแผลทุกแห่งหายเป็นปกติ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรค