ไม่พบผลการค้นหา
รายงานด้านบรรษัทภิบาลในเอเชียปีนี้ บ่งชี้ 'ไทย' คืบหน้าด้านการตรวจสอบความโปร่งใสของกลไกตลาดและบริษัทต่างๆ แต่คงที่ 'อันดับ 6' เพราะยังมีปัญหาคอร์รัปชัน-ปิดกั้นสื่อ แต่ 'ญี่ปุ่น' อันดับลดตามหลังไทย เหตุไม่เร่งปฏิรูปกฎหมาย

สมาคมบรรษัทภิบาลแห่งเอเชีย (ACGA) ซึ่งเป็นองค์กรอิสระด้านการตรวจสอบและสำรวจข้อมูลด้านการบริหารและดำเนินธุรกิจที่เป็นธรรมและโปร่งใส เผยแพร่รายงานสำรวจบรรษัทภิบาลในเอเชีย CG Watch ประจำปี 2018 พบว่าสถานการณ์ในประเทศที่เป็นกลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่ 'ปรับตัวดีขึ้น' ด้านการส่งเสริมบรรษัทภิบาลและกระบวนการตรวจสอบถ่วงดุล แต่มีบางประเทศที่คะแนนรวมลดลง เพราะไม่คืบหน้าด้านการปฏิรูปกฎหมาย

ประเทศที่มีคะแนนบรรษัทภิบาลสูงเป็นอันดับ 1 ในปีนี้ ได้แก่ ออสเตรเลีย ตามด้วยอันดับ 2-5 ได้แก่ เขตบริหารพิเศษฮ่องกงของจีน สิงคโปร์ มาเลเซีย และ ไต้หวัน ส่วนอันดับ 6-12 ได้แก่ ไทย ญี่ปุ่น อินเดีย เกาหลีใต้ จีน ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย

คะแนนรวมของไทยอยู่ที่ร้อยละ 55 และเนื้อหาในรายงานระบุว่า ไทยมีความคืบหน้าในหลายๆ ด้าน เช่น การส่งเสริมความโปร่งใสและความเป็นธรรมด้านการประกอบธุรกิจ แต่ยังมีปัญหาที่น่ากังวล 2 ประการที่ต้องแก้ไข คือ การคอร์รัปชันในภาคส่วนอื่นๆ และภาวะถดถอยของเสรีภาพสื่อ

ส่วนประเทศที่มีคะแนนรวมลดลงจนทำให้ตกอันดับเมื่อเทียบกับผลสำรวจในรายงาน CG Watch ปี 2559 ได้แก่ สิงคโปร์และญี่ปุ่น โดยผู้จัดทำรายงานระบุว่า สิงคโปร์อยู่ในภาวะถดถอย เพราะไม่ชัดเจนเรื่องการถือหุ้นแบบสองขั้น (dual-class shares) ทำให้ตกจากอันดับ 2 มาอยู่ที่อันดับ 3 ในปีนี้ และรายงานมีข้อเสนอแนะให้สิงคโปร์ผลักดันให้เกิดระบบตรวจสอบโครงสร้างการถือหุ้นแบบสองขั้นที่มีประสิทธิภาพและโปร่งใส ส่วนญี่ปุ่นตกจากอันดับ 4 มาอยู่ที่อันดับ 7 เพราะไม่มีการปฏิรูปกฎหมายที่เข้มแข็งเพียงพอ

ACGA Market Ranking-CGWATCH2018.JPG

ทั้งนี้ ACGA และภาคีเครือข่ายในเอเชียแปซิฟิก ประกอบด้วยองค์กรไม่แสวงผลกำไรและบริษัทเอกชนต่างๆ ร่วมกันจัดทำรายงานสถานการณ์บรรษัทภิบาล CG Watch มาตั้งแต่ปี 2546 โดยเผยแพร่ทุกๆ 2 ปีและเก็บข้อมูลจากบริษัทและตลาดหลักทรัพย์ใน 12 ประเทศ รัฐ และเขตบริหารพิเศษในภูมิภาคเอเชีย ทั้งยังมีการตรวจสอบธรรมาภิบาลของบริษัทเอกชนในตลาดหลักทรัพย์กว่า 1,100 บริษัททั่วเอเชียแปซิฟิก 

การประเมินคะแนนตามเกณฑ์ต่างๆ ตามหัวข้อที่สำรวจ เช่น การให้คะแนนด้านการตลาดจะคำนึงถึงธรรมาภิบาลและหลักนิติรัฐในแต่ละประเทศ ควบคู่กับกลไกการตรวจสอบถ่วงดุลว่ามีความทันสมัยหรือประสิทธิภาพที่เหมาะสมกับขนาดของตลาดหรือไม่ รวมไปถึงความเป็นอิสระของสื่อมวลชนและการเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคม

Exposure of Protien Company-CGWATCH2018.JPG

ขณะที่เกณฑ์การประเมินคะแนนบรรษัทภิบาลของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จะรวมถึงวินัยทางการเงิน ความโปร่งใส ความเป็นอิสระ ความรับผิดชอบต่อสังคม ความเป็นธรรม ความยั่งยืน ส่วนบริษัทของไทยที่ติดอันดับต้นๆ ด้านการลงทุนและขยายกิจการในเอเชีย ได้แก่ 'ซีพีฟู้ด' และ 'ไทยยูเนี่ยน' เป็นบริษัทที่ถูกสำรวจและให้คะแนนด้านบรรษัทภิบาล CG Watch ในปีนี้ด้วย

กรณีของเครือบริษัท 'ซีพีฟู้ด' มีความเสี่ยงต่ำเรื่องมาตรการความปลอดภัยทางอาหาร แต่มีความเสี่ยงสูงในด้านสาธารณสุข ส่วน 'ไทยยูเนี่ยน' มีความเสี่ยงสูงด้านความปลอดภัยทางอาหารและสาธารณสุข

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: