ชมนาด ศรีเปารยะ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ "ชมนาด" บอกกับทีมข่าววอยซ์ออนไลน์ฟังว่า เมื่อ 3- 4 ปีที่ผ่านมาราคายางพาราลดลงถึงจุดต่ำสุด สร้างความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรชาวสวนยางพาราพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นอย่างมาก ส่งผลกระทบต่อธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์การเกษตรของตนเอง จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการมองหาพืชท้องถิ่นชนิดอื่นมาสร้างรายได้ทดแทน
โดยเริ่มจากการตั้งข้อสังเกตุว่า "สะตอ" เป็นผลผลิตที่ชาวบ้านใน อ.พิปูน ปลูกทุกหลังคาเรือน และเมื่อถึงช่วงฤดูกาล จะมีผลผลิตออกมาล้นตลาด ส่งผลให้ราคาต่ำมาก จึงเริ่มคิดแนวการแปรรูปสะตอให้กลายเป็นผลผลิตที่สร้างรายได้
“เรายังไม่เคยเห็นสะตอถูกนำมาแปรรูปในรูปแบบอื่น นอกจากดองและแช่แข็ง 2 วิธีนี้ ทำให้กลิ่น สี และรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ของสะตอเปลี่ยนไป จึงเกิดคำถามว่า ทำไมถึงไม่มีใครทำสะตออบแห้งบ้าง” ชมนาดกล่าว
โจทย์การทำสะตออบแห้งของเธอ ตั้งไว้ว่าเมื่ออบแล้ว สี กลิ่น และรสชาติ จะต้องคงเดิม จึงเริ่มทดลองนำสะตอมาอบด้วยเตาอบทั่วๆ ไปก่อน แต่ต้องพบกับความผิดหวัง เพราะผลลัพธ์ที่ได้ไม่เป็นไปตามที่เธอตั้งไว้
เมื่อการทดลองด้วยตัวเองไม่ได้ผลที่น่าพอใจ ชมนาด ตัดสินใจเข้าขอคำปรึกษากับ ผศ.ดร. หมุดตอเล็บ หนิสอ อาจารย์ประจำสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จนเกิดการพัฒนาเทคโนโลยีอบแห้งแบบอุณหภูมิต่ำ ซึ่งช่วยคงคุณภาพสะตอให้มี สี กลิ่นและรสชาติ ใกล้เคียงกับสะตอสด อีกทั้งยังช่วยให้เก็บไว้ได้นาน 6-12 เดือน
หากต้องการนำมารับประทาน แค่เพียงนำสะตออบแห้งไปแช่น้ำ ประมาณ 1 ชั่วโมง จากสะตอที่แห้ง กรอบ จะค่อยๆ คืนรูปกลายเป็นเม็ดสะตอ เม็ดอวบๆ สีสวย พร้อมนำไปประกอบอาหารตามเมนูที่ต้องการ
เมื่อได้ผลผลิตถูกต้องโจทย์ที่วางไว้ จึงเริ่มโปรโมทผลิตภัณฑ์ในเฟซบุ๊ก จนมีลูกค้าติดต่อนำไปวางขายที่สนามบินนครศรีธรรมราช และสนามบินสุราษฎร์ธานี จนเมื่อปลายปีที่แล้ว มีโอกาสได้วางจำหน่ายที่งาน OTOP CITY 2017 ลูกค้าให้การตอบรับที่ดีมาก จนเธอบอกว่าตอนนี้ ”แกะสะตอกันแทบไม่ทัน”
ลูกค้าผลิตภัณฑ์สะตออบแห้ง ส่วนใหญ่เป็นลูกค้าที่ประกอบธุรกิจร้านอาหารในต่างประเทศ เนื่องจากขนส่งง่าย เก็บไว้ได้นาน และพบว่านอกเหนือจากคนไทยที่ชื่นชอบการรับประทานสะตอแล้ว คนเอเชีย สิงค์โปร อินโดนีเซีย ยังชื่นชอบการรับประทานสะตอมากไม่แพ้กัน
ชมนาด บอกว่า ผลิตภัณฑ์สะตออบแห้งของเธอ เป็นรายแรกในประเทศไทย แต่เธอเชื่อว่าหลังจากนี้จะมีผู้ประกอบการรายอื่นๆ พยายามทำตาม แต่ด้วยจุดแข็งของผลิตภัณฑ์ที่มี ทำให้เธอมั่นใจว่าธุรกิจยังไปต่อได้
“มั่นใจได้ว่าสะตอทุกเม็ดเราคัดเกรดมาแล้ว เนื้อแน่น หวาน กรอบ และที่สำคัญเราไม่ใช้สารเคมีในการปลูก ลูกค้าจึงบริโภคได้อย่างปลอดภัย และในอนาคตเตรียมทำลูกเหรียงอบแห้ง ใบเหลียงอบแห้งออกมาวางจำหน่ายเพิ่มเติมอีกด้วย ” ชมนาด กล่าว
ทุกวันนี้ แม้ธุรกิจกำลังไปได้สวยยอดขายเติบโตต่อเนื่อง แต่ธุรกิจยังคงดำเนินในลักษณะวิสาหกิจชุมชม
ทุกกระบวนการผลิตตั้งแต่เก็บสะตอจากต้น จนกระทั่งบรรจุลงห่อ ยังคงพึ่งแรงงานจากชาวบ้านในพื้นที่ ถือเป็นการสร้างงาน สร้างรายได้เข้าชุมชนอย่างแท้จริง