ที่วัดนวลจันทร์ เขตบึงกุ่ม กทม.นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช.พร้อมด้วยนายยศวริศ ชูกล่อม, นายอารี ไกรนรา, นายศักดิ์ระพี พรหมชาติ และนายธนาวุฒิ วิชัยดิษฐ ด้วยแกนนำ นปช. ร่วมกันทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้วีรชน "เมษา- พฤษภา 53"
โดยมีการใส่บาตรพระสงฆ์จำนวน 9 รูป พร้อมถวายสังฆทาน, ผ้าบังสุกุลและกรวดน้ำให้วีรชนรวมถึงทหารที่เสียชีวิตในเหตุการณ์
นายจตุพร ระบุว่า ไม่ควรมีใครต้องมาตายจากการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยหรือต่อสู้ทางการเมืองที่มีความคิดเห็นแตกต่างกัน แต่ปี 2553 นั้นประชาชนเสียชีวิตมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย และ 10 ปีที่ผ่านมายังไม่ได้รับความยุติธรรม ซึ่งตนในฐานะแกนนำ จะต้องทวงถามความยุติธรรมต่อไป
พร้อมเรียกร้องให้มีการไต่สวนสาเหตุการตายทุกศพ และย้ำด้วยว่า ในส่วนที่ไต่สวนการตายแล้วหลายสิบศพ พิสูจน์ชัดว่าประชาชนถูกทหารทำให้ถึงแก่ความตายและไม่มีเขม่าดินปืนในมือและไม่พบว่าผู้ตายมีอาวุธแม้แต่รายเดียว จึงไม่ใช่ผู้ก่อการร้าย อย่างที่ผู้ถืออำนาจรัฐกล่าวอ้าง และตนได้ย้ำเตือนคนในครอบครัววีรชนทุกคนว่า เป็นลูก, เป็นพ่อแม่และเป็นญาติของวีรชน ไม่ใช่ของผู้ก่อการร้ายตลอดมาก
นายจตุพร ยังเตือนฝ่ายตรงข้ามที่กล่าวหาคนเสื้อแดงว่าเป็นผู้ก่อการร้ายและอื่นๆ ซึ่งรวมถึงกรณีนายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ที่ออกมาปกป้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีนั้น ขอให้ยุติการกระทำ เพราะข้อเท็จจริงคือมีคนตาย และได้มึการอภิปรายในทั้งในสภาฯ และในวาระอื่นๆจำนวนมาก
ส่วนการยกเรื่องศาลตัดสินกรณี "สั่งฆ่าประชาชน" แล้วนั้นไม่เป็นความจริง เเละทั้งนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรีขณะนั้น ยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เนื่องจาก คดีมีปัญหาเรื่องเขตอำนาจศาล ที่ต้องส่งให้ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยต้องผ่านคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. และเป็นที่รับรู้กันว่าหากเรื่องต้องผ่าน ป.ป.ช.ก็ถือว่าจบสิ้นกันและสุดท้าย ป.ป.ช. ก็ไม่ส่งเรื่องเข้าสู่ศาล เพราะตัดสินเองว่าผู้มีอำนาจไม่มีความผิด
สำหรับที่ตนเคยถูกจำคุกฐานหมิ่นประมาทนายอภิสิทธิ์นั้น เป็นคดีเมื่อปี 2552 ไม่ใช่เหตุการณ์ปี 2553 จึงไม่ควรที่จะนำ 2 เรื่องดังกล่าวมาปนกัน เพื่ออธิบายความบริสุทธิ์ของผู้มีอำนาจ
นายจตุพร ยืนยันว่า ความจริงที่เกิดขึ้นจากปี 2553 ที่ทุกฝ่ายต้องยอมรับคือมีคนตายจำนวนมากที่ต้องได้รับความเป็นธรรม ตนได้มีโอกาสพูดคุยกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ก่อนการรัฐประหารปี 2557 ไม่กี่นาที ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นอีกในสังคมไทย แต่ก็เห็นชัดว่า "ระบอบเผด็จการทหาร" ไม่สามารถแก้ไขปัญหาความยากจนและความเดือดร้อนของประชาชนได้ แม้แปลงร่างเข้ามาตั้งพรรคการเมือง ก็ไม่แตกต่างจากพรรคสามัคคีธรรม ที่ตั้งขึ้นมารองรับการสืบทอดอำนาจคณะรัฐประหารเมื่อปี 2534 ก่อนจบลงที่เหตุการณ์ "พฤษภา 35"
ส่วนวันที่ 22 พ.ค. ที่จะถึงครบรอบการรัฐประหารปี 2557 นั้น นปช.ไม่มีกิจกรรมอะไร เพียงแต่แกนนำ นปช. จะแสดงความคิดเห็นและจุดยืนที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารผ่านช่องทางต่างๆเท่านั้น