นายสุณัย ผาสุก ที่ปรึกษา human rights watch ประจำประเทศไทย แสดงความกังวลเกี่ยวกับการเลือกตั้งในไทย หลังมีเพียงเครือข่ายเพื่อการเลือกตั้งเสรีแห่งเอเชีย หรือ Anfrel ที่เป็นองค์กรเอ็นจีโอระหว่างประเทศเพียงองค์กรเดียว ที่สามารถเข้ามาสังเกตการณ์การเลือกตั้งในไทยได้ ขณะที่การทำหน้าที่ของผู้สังเกตการณ์ในประเทศก็เกิดปัญหา เพราะมีการเปลี่ยนแปลงในระเบียบของ กกต.ที่เกี่ยวข้องกับการอุดหนุนงบประมาณ ซึ่งที่ผ่านมาจะมีการอุดหนุนงบประมาณให้ แต่ในระเบียบปัจจุบัน กกต.ไม่ได้สนับสนุนงบประมาณให้กับองค์กรที่ทำหน้าที่สังเกตการเลือกตั้งในประเทศแล้ว
"ยกตัวอย่างพีเน็ตที่เป็นเครือข่ายหลัก ซึ่งเป็นสมาชิกของ Anfrel ในประเทศไทย ก็ได้รับผลกระทบจากการที่ กกต.ไม่สนับสนุนงบประมาณ ประกอบกับการที่กฎกติกาที่เกี่ยวข้องกับข้อปฏิบัติในการสังเกตการเลือกตั้ง ทำให้เกิดข้อกังวลว่าจะสามารถปฏิบัติได้เหมือนเช่นที่เคยทำมาในอดีตได้หรือไม่ และได้มากน้อยเพียงใด" นายสุณัย กล่าว
นายสุณัย ย้ำว่า การเชิญ Anfel แบบกระชั้นชิดเพียง 10 กว่าวันก่อนการเลือกตั้ง ส่งผลกระทบต่อ Anfrel ในการวางแผนการส่งเจ้าหน้าที่ไปติดตามการเลือกตั้งในพื้นที่ต่างๆ กระทบกับความพร้อมในการจัดเตรียมเครือข่ายที่จะเข้ามาในไทย ขณะที่ท่าทีของรัฐบาลไทยเองก็ส่งผลต่อการเข้ามาสังเกตการณ์ขององค์กรระหว่างประเทศ ดังจะเห็นได้จากท่าทีของกระทรวงการต่างประเทศ ที่มีอำนาจในการออกวีซ่าให้กับชาวต่างชาติที่จะเข้ามาในไทย ทำให้เกิดความกังวลกับอาสาสมัครที่เป็นชาวต่างชาติซึ่งอยู่ในไทย มีความไม่มั่นใจหากถูกตีความว่าวีซ่าที่ใช้อยู่นี้ไม่สามารถใช้ในการสังเกตการณ์การเลือกตั้งได้ ถูกตีความว่าทำละเมิดวีซ่าที่ขอไว้
นายสุณัย ยังระบุว่า มีความกังวลต่อท่าที กกต.ที่ออกมาข่มขู่ดำเนินคดีกับผู้ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่ของ กกต. ซึ่งเป็นการกดดันการทำหน้าที่ขององค์กรสังเกตการณ์การเลือกตั้งอย่างชัดเจน ทั้งที่ กกต. ควรมีท่าทีที่จะส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมสังเกตการเลือกตั้ง ซึ่งในเวลาที่เหลือไม่กี่วันก่อนการเลือกตั้งนี้ กกต. ควรมุ่งเน้นอบรมเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยและให้ความรู้ประชาชน เพื่อป้องกันปัญหาซ้ำรอยการเลือกตั้งล่วงหน้าเมื่อวันที่ 17 มีนาคมที่ผ่านมา