ไม่พบผลการค้นหา
เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินนัดทำกิจกรรม 'ส่งใจถึงรัฐบาลมีสำนึกสิ่งแวดล้อม' ยืนสงบนิ่ง 30 นาที ทุกวัน 2 ครั้ง 9 โมงเช้า และ 5 โมงเย็น จนกว่าจะมีการยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา-กระบี่

นายอัครเดช ฉากจินดา ผู้ประสานงานเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน เปิดเผยว่า การทำกิจกรรม 'ส่งใจถึงรัฐบาลมีสำนึกสิ่งแวดล้อม' จะมีทุกวัน โดยจะยืนสงบนิ่ง 30 นาที ทั้งช่วงเช้า เวลา 9.00 น. และเย็น เวลา 17.00 น. เพื่อแสดงสัญลักษณ์ถึงการต่อต้านด้วยสันติวิธี และรวมพลังว่าจะยืนหยัดอดอาหารต่อไป จนกว่าจะมีคำสั่งยกเลิกการทำงานตามรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) เพื่อให้ยุติการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน อ.เทพา จ.สงขลา และโรงไฟฟ้าถ่ายหิน จ.กระบี่ และให้รัฐบาลหาทางออกร่วมกัน ด้วยการประเมินยุทธศาสตร์เชิงพื้นที่

โดยที่ผ่านมา แม้รัฐบาลจะมีคำสั่งให้ชะลอการสร้างโรงไฟฟ้าออกไปอีก 3 ปี แต่การทำ EIA ยังดำเนินต่อไป นั่นหมายความว่า 3 ปี ที่เลื่อนออกไป คือกระบวนการเตรียมงานตามขั้นตอนปกติ ไม่ใช่การชะลอการสร้างโรงไฟฟ้าแต่อย่างใด

แม้ตอนนี้จะยังไม่เห็นท่าทีจากรัฐบาลที่จะดำเนินการตามข้อเรียกร้องมากนัก แต่การอดอาหารเป็นวิธีที่ดีที่สุดในตอนนี้ และเป็นการต่อสู้กับตัวเอง เพราะรัฐบาลได้ปิดช่องทางการเคลื่อนไหวต่างๆ ด้วยกฎหมาย เช่น พ.ร.บ.การชุมนุมในที่สาธารณะ, คำสั่ง คสช. ที่ 3/2558, และการฟ้องหมิ่นประมาทแกนนำเครือข่าย ซึ่งทำให้ผู้ชุมนุมไม่มีช่องทางอื่นที่จะเรียกร้อง นอกจากเอาชีวิตมาเป็นประกัน เพราะทุกวันนี้กฎหมายต่างๆ ถูกร่างขึ้นมาให้เอื้อกลุ่มทุน เช่น โครงการประชารัฐ เขตเศรษฐกิจพิเศษ เป็นต้น


"เราไม่มีทางจะสู้ เดินไปหานายกฯ ก็โดยจับ เราจึงเอาชีวิตเข้าแลกเพื่อปกป้องแผ่นดิน เพื่อให้คุณตระหนักว่ามันสำคัญแค่ไหน" นายอัครเดช กล่าว

นายศุ บุญเลี้ยง ศิลปิน ผู้เข้าร่วมทำกิจกรรมสงบนิ่ง กล่าวว่า ตนลองมานั่งสูบกลิ่นควันรถ อากาศที่ไม่บริสุทธิ์ เพียงไม่กี่นาที ยังรู้สึกวังเวงใจ คนเราทุกคนต้องการอากาศที่บริสุทธิ์ ทะเลที่สวยงาม การที่ชาวบ้านลุกขึ้นมาปกป้องแผ่นดินของตนเอง เป็นสิทธิอันชอบธรรม หากมีมลพิษรั่วไหลลงทะเล ก็จะกระทบกันทั่วทุกจังหวัดที่ติดทะเล จึงอยากทราบว่า เมื่อชาวบ้านลุกขึ้นมาสู้ด้วยการอดอาหาร โดยไม่ใช้ความรุนแรง รัฐบาล และผู้มีอำนาจ ควรรู้สึกอย่างไร?

อีกด้านหนึ่ง ผู้สื่อข่าว 'วอยซ์ ออนไลน์' ลงพื้นที่สอบถามประชาชนในย่านที่กลุ่มเครือข่ายปกป้องอันดามันปักหลักอยู่หน้าสำนักงานสหประชาชาติ ถ. ราชดำเนิน ประชาชนในบริเวณนั้น มองว่าการชุมนุมดังกล่าว เป็นการชุมนุมที่สงบ และมีคนน้อย ไม่ขัดขวางการจราจรหรือกระทบต่อคนในพื้นที่ แต่ก็ไม่เป็นที่พูดถึง เพียงแค่รับรู้ว่ามีอยู่เท่านั้น

ขณะนี้ กลุ่มผู้ชุมนุมต่อต้านโรงไฟฟ้าเทพา-กระบี่ ปักหลักอยู่หน้าสำนักงานสหประชาชาติ ถ.ราชดำเนิน ประมาณ 150 คน อดอาหาร 68 คน มาเป็นเวลา 126 ชั่วโมง หรือเกือบ 6 วัน ซึ่งมีผู้ชุมนุมล้มป่วยจนต้องเข้าโรงพยาบาลไปแล้ว 8 คน และในวันที่ 18 ก.พ. นี้ จะมีเครือข่ายประชาสังคมอีก 17 กลุ่มเดินทางมาร่วมกิจกรรม และคาดว่าจะมีผู้ชุมนุมเพิ่มเป็น 500 คน และมีผู้อดอาหารเพิ่มเป็น 100 คน

สำหรับในวันที่ 20 ก.พ. กลุ่มผู้ชุมนุมจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน เพื่อเดินทางไปฟังคำตอบข้อเรียกร้องจากนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล และเดินทางไปรับฟังการไต่สวนของศาลแพ่ง ที่ ถ.รัชดาภิเษก คดีการชุมนุมในที่สาธารณะ หลังจากเมื่อวันที่ 16 ก.พ. ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.นางเลิ้งยื่นร้องศาลแพ่งให้ยุติการชุมนุมบริเวณหน้าสำนักงานสหประชาชาติ และขอให้ย้ายการชุมนุมไปพื้นที่อื่น

อ่านเพิ่มเติม :

ตร.ฟ้องศาลระงับชุมนุมต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ไม่สนผู้ชุมนุมอดข้าวประท้วงจนป่วย

ผู้ชุมนุมค้านถ่านหิน ประกาศอดอาหาร หน้าUN จี้รัฐยกเลิกโรงไฟฟ้า