ไม่พบผลการค้นหา
พนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้งยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งให้สั่งยุติการชุมนุม เนื่องจากกีดขวางและก่อความไม่สะดวก พร้อมเรียกแกนนำการชุมนุมเข้าไต่สวนวันที่ 20 ก.พ.ที่จะถึง

พ.ต.ต.อรรถวิท เรืองโภควิทย์ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง ยื่นคำร้องถึงศาลแพ่งวันนี้ (16 ก.พ.) เพื่อให้มีคำสั่งยุติการชุมนุมของกลุ่มผู้คัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาและกระบี่ ซึ่งปักหลักชุมนุมบริเวณทางเดินเท้า เกาะกลางถนนหน้าตึกสหประชาชาติ (ตึกยูเอ็น) ถนนราชดำเนินนอก เขตพระนคร กรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 12 ก.พ. โดยให้เหตุผลว่าเป็นการชุมนุมฝ่าฝืนกฎหมาย เพราะผู้ชุมนุมพักหลับนอนและปักหลักอยู่บนทางเท้า เป็นการกีดขวางและก่อให้เกิดความไม่สะดวกแก่ประชาชนที่ใช้รถใช้ถนนบริเวณดังกล่าว

คำร้องได้ระบุให้นายสมยศ โต๊ะหลัง และนางสาวจินดารัตน์ เพิ่มลาภวิรุฬห์ ผู้แจ้งการชุมนุมของกลุ่มผู้คัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาและกระบี่ ไปตามนัดไต่สวนคำร้องที่ศาลแพ่งในวันที่ 20 ก.พ. เพื่อให้ปากคำให้เกิดความชัดเจนในพฤติการณ์ชุมนุม 

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 13 ก.พ. เจ้าหน้าที่จาก สน.นางเลิ้งได้เจรจาขอให้กลุ่มผู้ชุมนุมย้ายไปอยู่ที่บริเวณทางเท้าริมคลองผดุงกรุงเกษม ฝั่งหน้าวัดโสมนัส แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย แต่ผู้ชุมนุมยืนยันว่าจะปักหลักที่เดิม พร้อมทั้งอดอาหารกดดันให้รัฐบาลตอบรับข้อเรียกร้องของเครือข่ายผู้ต่อต้านถ่านหิน จนมีผู้ล้มป่วยถูกส่งโรงพยาบาลแล้ว 8 คน แต่ผู้ชุมนุมที่เหลือยืนยันว่าจะปักหลักอยู่ที่เดิม จนกระทั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจยื่นคำร้องต่อศาลในวันนี้

ตำรวจ ตรึงกำลัง

(เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.นางเลิ้งตรึงกำลังบริเวณพื้นที่ชุมนุมของกลุ่มคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเมื่อวันที่ 12 ก.พ.)

เหตุผลที่ผู้ชุมนุมคัดค้านโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาและกระบี่ เนื่องจากกระบวนการจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของโครงการไม่ได้มาตรฐาน ทั้งยังมีผลประโยชน์ทับซ้อน มีการเอื้อประโยชน์ในการซื้อขายที่ดินของคนบางกลุ่มอย่างมีนัยสำคัญ จนทำให้เกิดความขัดแย้งภายในชุมชน อีกทั้งการเลือกพื้นที่ก่อสร้างก็ไม่เหมาะสม เพราะบริเวณดังกล่าวเป็นแหล่งผลิตอาหารทะเลที่มีประมงพื้นบ้านทำมาหากินอยู่นับหมื่นคน หากเดินหน้าก่อสร้างจะทำให้ประชาชนกว่า 200 หลังคาเรือนต้องย้ายออกจากพื้นที่

ผู้คัดค้านโรงไฟฟ้าได้พยายามยื่นหนังสือต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ลงพื้นที่ในจังหวัดภาคใต้เมื่อเดือน พ.ย.ปีที่แล้ว แต่แกนนำการต่อต้านถ่านหินซึ่งจัดกิจกรรมเดินขบวน 'เทใจให้เทพา' กลับถูกสกัดไม่ให้พบกับ พล.อ.ประยุทธ์ ทั้งยังมีการควบคุมตัวและตั้งข้อหาผู้เข้าร่วมการชุมนุม 16 คน

ต้านถ่านหิน

เมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา เครือข่ายผู้ต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินได้รวมตัวกันเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ ออกคำสั่งให้รัฐบาลยกเลิกการดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมทั้ง 16 คน และ พล.อ.ประยุทธ์ได้ให้สัมภาษณ์ว่าจะมีคำสั่งให้ชะลอโครงการเอาไว้ก่อน และจะให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานออกมาชี้แจงอีกครั้ง พร้อมระบุว่าจะให้ความเป็นธรรมและให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ชุมนุม แต่ขั้นตอนในกระบวนการยุติธรรมต่างๆ ยังต้องดำเนินต่อไปเช่นกัน

ส่วนการชุมนุมครั้งล่าสุดของเครือข่ายต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา-กระบี่เมื่อวันที่ 12 ก.พ. มีเป้าหมายเรียกร้องให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศยุติโครงการไปเลย โดยให้เหตุผลว่าการสั่งชะลอโครงการไม่ใช่ทางออกของปัญหา แต่เป็นเพียงการยื้อเวลาไว้ระยะหนึ่งเท่านั้น ในที่สุดแล้วก็อาจมีการสั่งเดินหน้าโครงการต่อ โดยไม่ได้มีการแก้ไขตรวจสอบ หรือกระทำการใด ๆ เพื่อจะสร้างทางออกของปัญหาได้อย่างแท้จริง

ก่อนหน้านี้ในเดือน ธ.ค.ปีที่แล้ว นายมนูญ ศิริวรรณ นักวิชาการอิสระ และสมาชิกชมรมนักวิชาการเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นฝ่ายสนับสนุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน เคยแถลงว่าการสร้างโรงไฟฟ้าเป็นสิ่งจำเป็น และมีเป้าหมายเพื่ออนาคตของประเทศ ให้ประชาชนมีไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอ ในราคาที่เป็นธรรม พร้อมเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ ตัดสินอย่างกล้าหาญ เดินหน้าสร้างโรงไฟฟ้าตามแผนของกระทรวงพลังงาน

อ่านเพิ่มเติม: