จากเหตุการณ์ "โจ บอยสเก๊าท์" เสียชีวิต ภายหลังจาดการหมดสติขณะกำลังร้องเพลงที่สถานบันเทิงแห่งหนึ่ง เรืออากาศเอกนายแพทย์อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า ขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวและเพื่อนๆของโจ กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งความผิดปกติของหลอดเลือดหัวใจเป็นภัยเงียบที่อาจนำมาสู่อาการภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันซึ่งอาจเกิดขึ้นกับผู้ที่มีความเสี่ยงได้ตลอดเวลา
เลขาธิการ สพฉ. กล่าวว่า ในผู้ป่วยทั่วไปก่อนที่หัวใจจะหยุดเต้นเฉียบพลัน หัวใจจะมีภาวะเต้นพลิ้วไม่เป็นจังหวะทำให้เลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกายไม่สมบูรณ์ ทำให้เกิดภาวะหมดสติ ไม่รู้สึกตัว แต่สมองยังคงสั่งการให้ร่างกายพยายามหายใจ ที่เรียกว่า Gasping breathing หรือการหายใจเฮือก ซึ่งผู้ป่วยจะหายใจแบบอ้าปากพะงาบ ทำให้คนรอบข้างเข้าใจผิดว่ายังหายใจเป็นปกติ และทำให้การตัดสินใจช่วยเหลือด้วยการกดหน้าอก CPR นั้นช้าลง ซึ่งจากการวิจัยทางการแพทย์นั้นผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการกดหน้าอกช่วยภายในเวลา 4 นาทีหลังจากที่หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันจึงจะสามารถเพิ่มโอกาสรอด
สำหรับขั้นตอนการช่วยชีวิตสำหรับประชาชนทั่วไป คือ เมื่อพบผู้หมดสติให้ปลุกเรียก ถ้าไม่ตอบสนอง ให้สังเกตการหายใจ หากไม่หายใจ หรือหายใจเป็นเฮือก หรือสงสัยว่าไม่หายใจ ให้โทร 1669 เพื่อเรียกหน่วยกู้ชีพ จากนั้นให้เริ่มทำการกดหน้าอก CPR โดยประสานมือตรงกี่งกลางหน้าอกระหว่างหัวนมสองข้าง กดลึก 5-6 เซนติเมตร กดต่อเนื่องด้วยจังหวะ 100-120 ครั้งต่อหน้าที จนกว่าหน่วยกู้ชีพมาถึง หรือจนกว่าผู้ป่วยจะมีการตอบสนอง
และหากสถานที่นั้นมีเครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าอัตโนมัติหรือ AED ให้ร้องขอเพื่อนำมาใช้โดยทำตามคำแนะนำของเครื่อง AED ขณะรอคอยชุดปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์จะมาถึง ซึ่งในกรณีลักษณะเช่นนี้เรียกว่าผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ หากได้รับการนำส่งยังรพ.รัฐหรือเอกชนที่อยู่ไกล้ก็สามารถใช้บริการตามโครงการฉุกเฉินวิกฤติมีสิทธิทุกที่ หรือ UCEP ได้