“ผมไม่ได้เป็นเหมือนพรรคการเมืองบางพรรค ที่เข้ามาแล้วต้องล้างกระดานทุกอย่าง ผมมาสานต่อในสิ่งที่ผู้อำนวยการทั้ง 2 ท่านวางไว้ และผลงานที่ปรากฏออกมาก็เป็นความท้าทายของผมมาก” ผอ.หอศิลปฯ กทม. กล่าว
แม้เข้ารับตำแหน่งได้ไม่นาน แต่ดีกรีความเชี่ยวชาญ และผลงานของเขาก็เป็นที่ยอมรับจากนานาประเทศ โดยก่อนหน้าที่มารับตำแหน่งผู้อำนวยการ ในปี 2560 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปวิตรเคยดำรงตำแหน่งอนุกรรมการฝ่ายกิจกรรมศิลปขงหอศิลปฯ กทม. ขณะเดียวกันยังดำรงตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการสรรหาศิลปินศิลปาธร และอนุกรรมการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง และที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมประเทศไต้หวัน
ด้านเกียรติยศ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปวิตรได้รับเหรียญอิสริยาภรณ์สาขาศิลปศาสตร์และอักษรศาสตร์ ชั้นอัศวิน จากกระทรวงวัฒนธรรมและการสื่อสาร ประเทศฝรั่งเศส ในปี 2557
แล้วจู่ๆ เวลา 2 เดือนก็หมุนตัวเขามาเผชิญหน้ากับแนวคิดประหลาดของพล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งต้องการยกอำนาจการบริหารหอศิลปฯ กทม. ให้ทางสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว เข้ามาดูแลกิจการแทน ทั้งๆ ที่ตัวเลขจากการบริหารงานของมูลนิธิหอศิลปฯ กทม. เมื่อปี 2560 สรุปออกมาสวยงาม ปราศจากการติดลบตัวแดง โดยทางผู้ว่าฯ กทม. หวังเปลี่ยนพื้นที่สุนทรียะทางสังคมให้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้แบบโค-เวิร์คกิ้ง ���เปซ (Co-Working Space)
“ในฐานะผู้อำนวยการ ผมขอตอบแทนมูลนิธิหอศิลปฯ ว่าทุกคนค่อนข้างประหลาดใจที่ท่านผู้ว่าฯ กทม. คิดว่ามูลนิธิหอศิลปฯ ควรหยุดการบริหาร โดยให้ทางสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว เข้ามาจัดการแทน ซึ่งตัวผมเองทราบข่าวจากหน้าหนังสือพิมพ์พร้อมๆ กับประชาชนทุกคน แต่ทางมูลนิธิหอศิลปฯ ก็ถือสัญญาโอนสิทธิ์บริหารกิจการระหว่างปี 2554-2564” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปวิตรเผยความรู้สึกหลังทราบข่าว
ประเด็นดังกล่าวกลายเป็นดราม่าถ้วยใหญ่ในสังคมช่วง 2-3 วันผ่านมา ประชาชนเรือนหมื่นทยอยออกมาลงชื่อคัดค้านผ่านทางเว็บไซต์ Change.org ขณะที่เสียงส่วนใหญ่เปี่ยมด้วยข้อสงสัยว่า เพราะเหตุใดกทม. ที่มีปัญหาระดับวิกฤติต้องเร่งขจัดล้นมืออยู่แล้ว จำต้องเข้ามาเอี่ยวกับพื้นที่ทางศิลปวัฒนธรรมด้วย หรือลึกๆ แล้วมันเป็นกลเกมทางการเมือง เกมช่วงชิงอำนาจ และเกมความเชื่อมั่นภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหาร
ผอ.หอศิลปฯ กทม. เท้าความต้นต่อของปัญหาให้ฟังว่า จากเดิมปี 2560 สภากรุงเทพฯ อนุมัติงบประมาณสนับสนุนการทำงานของหอศิลปฯ 45 ล้าน แต่พอมาในปี 2561 กลับปราศจากการจัดสรรงบประมาณ โดยทางกทม. ทำแค่จ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ และแปลงบประมาณไปไว้ที่สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว ซึ่งทางหอศิลปฯ ต้องทำโครงการ หรือกิจกรรมต่างๆ เพื่อขอเบิกจ่ายงบประมาณ ทว่าผ่านมาแล้ว 5 เดือน หอศิลปฯ ยังเบิกจ่ายงบประมาณไม่ได้สักโครงการเดียว
แม้วันนี้ (15 พ.ค. 61) สถานการณ์ที่ขมึงเกลียวดูคล้ายคลี่คลายลง แต่วอยซ์ออนไลน์อยากชวนทุกคนไปสัมผัสก้าวย่างการทำงานที่แข็งแกร่งของมูลนิธิหอศิลปฯ และทันทีที่ตัวอักษรสุดท้ายจบลง คุณจะรู้จักหอศิลปฯ กทม. ในมุมมองใหม่ที่ชัดเจน และแตกต่างออกไป
ผมเป็นกังวลมากว่า สรุปแล้วปี 2561 การทำงานต้องออกมาตัวแดงแน่ๆ (หัวเราะ) เพราะงบประมาณที่ภาคเอกชนสนับสนุนยังไม่มากเท่าไหร่ แต่สิ่งที่ทำได้ในสภาพปัจจุบันคือ ยังมีสัญญาโอนสิทธิ์ที่เซ็นเมื่อปี 2554 ซึ่งข้อหนึ่งในสัญญาระบุว่า ทางมูลนิธิหอศิลปฯ ต้องนำนักเรียนของโรงเรียนในสังกัดกทม. มาทำกิจกรรมอย่างน้อยปีละ 2,000 คน ปี 2561 เปลี่ยนรูปแบบไปนิดหน่อย โดยจากเดิมที่ใช้งบประมาณจากกทม. ทั้งหมด เปลี่ยนเป็นขอความร่วมมือจากภาควิชาศิลปะศึกษา ทำโครงการร่วมกัน ได้ประโยชน์ร่วมกัน และเป็นโอกาสดีที่ในการสร้างสรรค์รูปแบบการทำงานแบบใหม่ๆ
อีกอย่างหนึ่งที่ผมรู้สึกประทับใจมากคือ เมื่อวันเสาร์ (12 พ.ค. 61) ที่ผ่านมา หอศิลปฯ จัดกิจกรรมบรรยายประกอบนิทรรศการคาราวัจโจ โอเปรา ออมเนีย (Caravaggio OPERA OMNIA) โดยเชิญคุณนที อุตฤทธิ์ มาพูดคุย ณ ห้องออดิทอเรียม ชั้น 5 ซึ่งจุผู้ชมได้ 220 คน และเต็มเกือบทุกที่นั่ง แน่นอนว่า หอศิลปฯ ไม่เก็บค่าเข้าร่วมกิจกรรม แต่เนื่องจากวันนั้นเริ่มมีกระแสต่างๆ ออกมา ตอนสุดท้ายผมเลยเรียนให้ทุกคนทราบว่า กำลังประสบปัญหาเรื่องงบประมาณ และทางด้านหน้ามีกล่องบริจาค ผลปรากฎว่าผู้ชมบริจาคเงินมาให้เยอะมาก เยอะกว่าค่าใช้จ่ายในการจัดงาน และศิลปินก็ไม่รับค่าวิทยากร มันเป็นตัวอย่างที่ทำให้ผมเห็นว่า ประชาชนต้องการให้หอศิลปฯ ยังทำกิจกรรมลักษณะดังกล่าวอยู่
ผมขอเคลียร์ที่ท่านอัศวินบอกว่า นักเรียนต้องอ่านหนังสือ และทำกิจกรรมกับพื้น เพราะผมมาหอศิลปฯ ตั้งแต่ปี 2551 ในฐานะคนทั่วไป หรือบางทีก็พาลูกศิษย์มาแสดงละคร มาฟังบรรยาย มาเสวนา มาดูนิทรรศการศิลปะ ผมไม่เคยเห็นภาพดังกล่าว และหลังจากผมเข้ามาเป็นผู้อำนวยการได้ 2 เดือน ทุกวันผมเดินไปห้องสมุด ซึ่งเป็นห้องสมุดประชาชน ใครๆ ก็สามารถเข้าไปใช้ได้ บริการอินเทอร์เน็ต น้ำดื่มบริการ ปลั๊กไฟ ที่นั่งเพียงพอสำหรับ 100 คน และมันไม่เคยเต็ม
ประเทศเราเห่ออะไรกันเป็นพักๆ เรื่องโค-เวิร์คกิ้ง สเปซความจริงสังคมตอบโจทย์ และแก้ไขปัญหาไปหมดแล้ว พื้นที่รอบๆ หอศิลปฯ กทม. เต็มไปด้วยโค-เวิร์คกิ้ง สเปซหลายแห่ง ที่ใกล้สุดน่าจะเป็นของธนาคารไทยพาณิชย์ตรงสยามสแควร์ซอย 1 ซึ่งเขาเปิด 24 ชั่วโมง หรือในช่วงสอบห้องสมุดของหลายๆ มหาวิทยาลัยก็เปิดบริการ 24 ชั่วโมง
และเมื่อวันอังคาร (8 พ.ค. 61) ผมรับโน๊ตมาจากสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว ว่าท่านผู้ว่าฯ กทม. ต้องการปรับปรุงพื้นที่บริเวณห้องสมุดชั้นใต้ดิน ให้นักเรียนนักศึกษาเข้ามานั่งทำงาน ผมก็เห็นด้วย แต่ต้องเรียนให้ทราบก่อนว่า ปกติบริเวณชั้นใต้ดินเป็นพื้นที่จัดแสดงผลงานศิลปะนิพนธ์ เพื่อเผยแพร่ผลงานนักศึกษาสู่สาธารณะชน พอ 2-3 วันต่อมา ผมทราบข่าวเหมือนประชาชนทั่วไปว่า ท่านคิดสั่งโต๊ะ-เก้าอี้ 2,000 ชุด มาปรับพื้นที่ให้เป็น โค-เวิร์คกิ้ง สเปซ ผมตกใจมาก
ลองคิดดูว่า ถ้าหอศิลปฯ กทม. ต้องเป็นโค-เวิร์คกิ้ง สเปซมีโต๊ะเก้าอี้ 2,000 ชุด มันจะกลายเป็นสถานที่ติวหนังสือหรือเปล่า แล้วผมก็สงสัยว่า การที่นักเรียนต้องติวหนังสือมันแสดงให้เห็นความบกพร่องของระบบการศึกษาในโรงเรียนของบ้านเราหรือเปล่า แล้วทำไมหอศิลป์ที่เป็นพื้นที่ของศิลปะต้องมาแก้ไขปัญหาตรงนี้ด้วย มันเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าหรือเปล่า
ไม่ใช่ความจริง เนื่องจากตัวเลขงบประมาณที่กทม. สนับสนุนหอศิลปฯ ประจำปี 2560 อยู่ที่ 45 ล้านบาท และทางหอศิลปฯ ใช้งบประมาณดำเนินงาน 75 ล้านบาท ซึ่งส่วนต่างอยู่ที่ 30 ล้านบาท แต่จากการดำเนินงานของมูลนิธิหอศิลปฯ ตามสัญญาโอนสิทธิ์ที่สามารถบริหารจัดการพื้นที่ ภาคเอกชนให้การสนับสนุน จำหน่ายของที่ระลึก เก็บค่าที่จอดรถ ฯลฯ ซึ่งสร้างรายได้เข้าหอศิลปฯ 37 ล้านบาท
ดังนั้น 45+37=82 นั่นหมายความว่า ปี 2560 เป็นตัวเลขสีเขียว 7 ล้านบาท แน่นอนว่า ในรอบ 10 ปีผ่านมา บางปีขาดทุน บางปีเป็นตัวเลขสีแดง แต่เท่าที่ดูรายงานทั้งหมด ไม่เคยขาดทุนเกิน 6 ล้าน และสิ่งสำคัญคือ มูลนิธิหอศิลปฯ ยังมีเงินสะสมที่สามารถดำเนินกิจกรรมต่างๆ ต่อไปได้ เราอยู่ด้วยเงินสนับสนุนในปีผ่านมา บวกกับการทำงานของมูลนิธิหอศิลปฯ
สิ่งสำคัญที่พิสูจน์ว่า มูลนิธิหอศิลปฯ บริหารงานแล้วไม่ขาดทุนคือ หอศิลปฯ ยังคงเปิดบริการอยู่ 6 วันต่อสัปดาห์ โดยกทม. ช่วยจ่ายเฉพาะค่าน้ำ ค่าไฟ และจากสถิติปีที่แล้ว หอศิลปฯ มีผู้เข้าชม 1,700,000 คน ซึ่งหากคิดกับแบบธุรกิจถือเป็นการลงทุนทางวัฒนธรรมที่ถูกมาก
จริงๆ แล้วผมมักมองวิกฤตเป็นโอกาส คือในวันครบรอบ 10 ปีหอศิลปฯ (29 ก.ค. 61) เราเตรียมเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้ามาชมงาน จึงถือโอกาสพิเศษที่กำลังเป็นจุดสนใจ ให้ข้อมูลกับประชาชนว่า 10 ปีที่ผ่านมา มูลนิธิหอศิลปฯ ทำอะไรมาบ้าง บริหารงานอย่างไร สร้างสรรค์กิจกรรมที่แตกต่างหลากหลายอย่างไร
ยังไม่ได้พูดคุย คือผมอยากไปคุยกับผู้บริหารกทม. เหมือนกัน เพราะจริงๆ แล้วผู้บริหารของ กทม. ทุกท่าน โดยตำแหน่งเป็นคณะกรรมการที่ปรึกษาของมูลนิธิหอศิลปฯ และผมเชื่อว่าหากมีโอกาสพูดคุยกันบ่อยครั้งมากยิ่งขึ้น อาจเกิดความเข้าใจที่ตรงกัน ซึ่งน่าจะพัฒนาหอศิลปฯ ให้เป็นไปในทางเดียวกันได้
กทม. ยังไม่เคยบริหารหอศิลปฯ มาก่อนด้วยตัวเอง แต่กทม. มีตัวอย่างของการบริหารงานในพื้นที่อื่นๆ ที่มีลักษณะใกล้เคียงกันแล้ว เช่น พิพิธภัณฑ์เด็ก หรือหอสมุดเมือง ซึ่งน่าจะเป็นตัวอย่างให้ประชาชนเห็นแล้ว แต่เท่าที่ผมได้ยินมา กระแสข่าวลิือมันอาจจะเยอะ เหมือนกับเขาจะให้สัมปทานกับเอกชนมาดำเนินการ เพราะรูปแบบการบริหารพื้นที่ของทางราชการมีหลายรูปแบบ เพราะฉะนั้น ต้องให้ประชาชนตัดสินดีกว่า เพราะสุดท้ายแล้วหอศิลปฯ มันไม่ใช่ของศิลปิน ไม่ใช่ของกทม. มันเป็นของประชาชน
แต่ตามสัญญาโอนสิทธิ์ที่ทำเมื่อปี 2554 มูลนิธิหอศิลปฯ มีอำนาจบริหารจัดการหอศิลปฯ ไปถึงปี 2564 ซึ่งคงต้องว่าไปตามสัญญาที่ลงนามไว้
ผมไม่คิดว่าหอศิลป์ฯ กทม. มีจุดอ่อน มันมีแต่จุดแข็งมากกว่า ผมมาลองคิดดูแล้ว ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลท้องถิ่น หรือรัฐบาลกลางในหลายๆ ประเทศ บางที่พอเขาเห็นจุดไหนที่มีปัญหา เขาควรเข้าไปแก้ไข อย่างที่ประชาชนแสดงความเห็นมาว่า มีปัญหาอีกตั้งเยอะแยะ มีพื้นที่อีกหลายพื้นที่ที่มีปัญหา และต้องการการแก้ไขในปัจจุบัน แต่เท่าที่ผมรับฟังเสียงจากประชาชนส่วนใหญ่ เขาไม่เห็นว่าหอศิลปฯ กทม. มีปัญหา ก็ต้องขอบคุณผู้อำนวยการหอศิลปฯ กทม. ทั้ง 2 ท่านก่อนหน้าผมที่บริหารงานมาด้วยความราบรื่น
ผมพูดเสมอว่า ในประเทศประชาธิปไตยทุกคนมีความคิดเห็นทางการเมือง คนทุกคนมีสี ศิลปินก็เป็นคน ศิลปินก็เป็นประชาชน แต่งานศิลปะอาจจะไม่มีสี เพราะฉะนั้น พื้นที่ที่ทางศิลปวัฒนธรรมจำเป็นมากที่จะต้องดำรงความเป็นกลาง การที่สีหลักของพื้นที่หอศิลป์ฯ เป็นสีขาวจริงๆ มันเหมาะมาก เพราะสามารถทาสีอะไรลงไปก็ได้
จริงๆ แล้วทั้งสภา กทม. ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง มันเป็นยุคที่อะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้ มันเป็นยุคที่ต้องระวังตัวมากๆ โดยเฉพาะข้าราชการประจำที่ต้องทำงานจนเกษียณ แต่ข้าราชการการเมืองเขาเข้ามาแค่ระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น ซึ่งก็ไม่รู้นานเท่าไหร่ แล้วถ้าใครมีปัญหาก็เจอ ม.44
ตัวอย่างของการงบประมาณ 40 ล้านบาทที่อยู่กับสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว และเราไม่สามารถเบิกจ่ายมาได้ มันเป็นตัวอย่างของการที่ข้าราชการประจำไม่กล้าตัดสินใจ
นโยบายการชุมนุมทางการเมืองของหอศิลปฯ กทม. คือถ้ามาชุมนุมทางการเมืองเฉยๆ ต้องขออนุญาตให้ไปที่อื่น เพราะพันธกิจหลักของหอศิลปฯ กทม. เป็นพื้นที่เผยแพร่ผลงานศิลปะ แต่ถ้ามาแสดงงานศิลปะที่มีความคิดเห็นทางการเมืองได้เลย เพราะงานศิลปะทุกชิ้นมีแง่มุมทางการเมือง สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม อยู่ในนั้นแน่นอน
เราเป็นสังคมประชาธิปไตย เราต้องเปิดโอกาสให้ผู้ชมงานศิลปะได้ตีความ โดยไม่ต้องลุกขึ้นมาทะเลาะกัน สังคมประชาธิปไตยจะเจริญรุ่งเรืองได้ ถ้าคนที่มีความคิดเห็นทางการเมืองแตกต่างอยู่ร่วมกันได้ ซึ่งผมเชื่อว่าหอศิลปฯ กทม. เป็นตัวอย่างหนึ่ง เพราะบางทีผมไปดูงานชั้นหนึ่งเป็นสีหนึ่ง (สีทางการเมือง) พอไปดูอีกชั้นหนึ่งมันก็เป็นอีกสีหนึ่ง
ผมเห็นแล้วว่า ในบรรยากาศทางการเมืองที่ปกครองโดยคสช. ในปัจจุบัน มันยังมีพื้นที่ให้คนได้มีเสรีภาพในการแสดงออก จะเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วยก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ผมยังรู้สึกดีใจที่ไม่ถูกสั่งให้ถอดภาพบางภาพออกไป เพราะมีหลายภาพมากที่ต่างชาติมาชมแล้วเขาทึ่ง และก็เห็นว่าประเทศเรากำลังพัฒนาระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
ท่านผู้ว่าฯ อัศวิน เคยมาหอศิลปฯ เพียงแค่ 2 ครั้ง เพื่อร่วมกิจกรรมของทางกทม. ดังนั้น ผมอยากขอเป็นผู้นำชม เพื่อให้ท่านเห็นกิจกรรมแท้จริงของหอศิลปฯ ว่ามีความหลากหลาย และมีพื้นที่ที่เพียงพอกับการเรียนรู้ของผู้ที่เข้ามาชมงาน และผมเห็นตลอดเวลาทุกครั้งที่ดูงาน ไม่ว่าจะเป็นส่วนไหนของหอศิลปฯ ก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นเวลา 10 โมงเช้า หรือเวลา 8.45 น. ผมจะเห็นคน 2 กลุ่มตลอดเวลา คือกลุ่มที่หนึ่งเป็นนักเรียน นักศึกษา กลุ่มที่สองคือ ชาวต่างชาติ
มันเป็นช่องทางหนึ่งที่ในโอกาสครบรอบ 10 ปี เราจะได้เห็นว่าประชาชนเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย กับการที่กทม. จะเข้ามาบริหารหอศิลปฯ แล้วหลายๆ คนไม่ได้โหวตอย่างเดียว แต่เขาก็แสดงความคิดเห็นด้วย ซึ่งผมก็อ่านทุกความคิดเห็น และผมก็อยากให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นเหมือนกันว่า ที่เขามาหอศิลปฯ แล้วเห็นนักเรียนต้องนั่งทำกิจกรรมอยู่บนพื้น ต้องนั่งอ่านหนังสือจากบนพื้น เป็นภาพประจำที่มาหอศิลปฯ เห็นจริงหรือเปล่า แล้วผมจะนำทุกความเห็นมาปรับปรุงการทำงานของหอศิลปฯ ให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป
ผมสูญเสียเวลาส่วนตัว เพราะช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา ผมอยู่หอศิลปฯ กทม. ถึงเที่ยงคืนทุกวัน เพราะต้องเขียนอีเมล และข้อมูลมากมายต้องเตรียม แต่ผมรู้สึกสนุกขึ้นเรื่อยๆ ประสบการณ์ดีๆ เกิดขึ้นเยอะมาก มันมีเรื่องประหลาดใจในทางดีๆ เกิดขึ้นบ่อยครั้ง
คือถ้าผู้ว่าฯ กทม. บอกว่าท่านเป็นคนรักงานศิลปะ ผมก็อยากฟังความคิดเห็นของท่านที่มีต่อนิทรรศการคาราวัจโจ โอเปรา ออมเนีย ซึ่งคนไทยให้ความสนใจเข้าชมกันมากที่สุด และในฐานะคนรักศิลปะเหมือนๆ กัน เราจะได้พูดคุยกันได้
เรามองเรื่องการศึกษาไม่ตรงกัน น่าจะมาคุยกันเกี่ยวกับแนวทางการศึกษาสมัยใหม่ การศึกษาด้วยตัวเองคืออะไร ผมยังยืนยันว่า หอศิลปฯ กทม. เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมของประชาชน ไม่ใช่แค่คนกรุงเทพฯ ไม่ใช่แค่คนไทย แต่ทุกวันมีคนต่างชาติเข้ามาด้วย อีกประเด็นหนึ่งคือ การใช้ประโยชน์ของพื้นที่ให้ได้เต็มที่ ผมต้องเรียนให้ทราบว่า เนื่องในวาระครบรอบ 10 ปี หอศิลปฯ กทม. ให้ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพฯ สำรวจความคิดเห็นผู้ใช้บริการ ซึ่งความคิดเห็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ
หอศิลปฯ มีกิจกรรมมาก และหลากหลายเกินไป ทำให้บางครั้งพื้นที่ค่อนข้างแน่น เพราะฉะนั้น ความคิดเห็นของประชาชนที่มาใช้หอศิลปฯ ก็พิสูจน์แล้วว่า เราใช้พื้นที่ครบทุกพื้นที่แล้ว และการจัดวางกิจกรรมต่างๆ มันก็คงไม่สามารถจะแน่นเหมือนศูนย์การค้าได้ เพราะศูนย์การค้าเขามีพื้นที่จำกัด และต้องใช้ประโยชน์พื้นที่ทุกตางรางนิ้ว กับการค้า แต่เราเป็นพื้นที่ทางศิลปะก็ต้องมีสุนทรียะในการจัดวางกิจกรรม