นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยโพสต์เฟซบุ๊ก อนุทิน ชาญวีรกูล ถึงแนวคิดการพักชำระหนี้ กยศ. ซึ่งกำลังเป็นที่ถกเถียงในสังคม ว่า สนับสนุนให้มีการชำระหนี้ กยศ. ในส่วนของลูกหนี้ ที่มีงานทำและมีรายได้เพียงพอ สามารถชำระได้โดย ไม่กระทบต่อการดำรงชีพ
ส่วนลูกหนี้ ที่ยังไม่มีงานทำ หรือมีรายได้น้อยไม่เพียงพอต่อการยังชีพ เห็นว่ารัฐควรจะพักหนี้ให้เขาอย่างน้อย 5 ปี พักทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย เมื่อเขามีงานทำ และมีความสามารถชำระหนี้ได้ ต้องชำระหนี้ตามสัญญากับ กยศ.
นอกจากนี้ ผู้กู้ที่ไม่สามารถทำงานได้เนื่องจากป่วย พิการ ทุพพลภาพ รัฐควรจะยกหนี้ ให้ ไม่ต้องชำระหนี้อีก ซึ่งมีจำนวนไม่มากนัก ทั้งจำนวนคน และจำนวนเงิน แต่เป็นความทุกข์ อย่างมาก ของผู้กู้ ผู้ค้ำประกัน และ ครอบครัว
อย่างไรก็ตาม ตนขอยืนยันความเห็น และข้อเสนอของตนว่า หนี้ กยศ. ไม่ควรต้องมีผู้ค้ำประกัน เพราะผู้กู้กู้ไปเรียนหนังสือตามนโยบายของรัฐบาล ที่ส่งเสริมให้ประชาชนศึกษาถึงระดับปริญญาตรี ผู้กู้ไม่ได้กู้ไปทำธุรกิจ หรือใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น การกู้ยืมเพื่อการศึกษา เป็นการกู้ยืมกรณีพิเศษ
ดังนั้น รัฐควรจัดให้แก่ประชาชน โดยไม่มีค่าใช้จ่าย เพราะเป็นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ ไม่ต้องให้มากู้ยืมด้วยซ้ำไป การยกเลิกภาระค้ำประกันของผู้กู้เดิม และ การเปลี่ยนแปลงเงื่อนไข โดยไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน สำหรับผู้กู้รายใหม่ เป็นสิ่งที่รัฐบาล และกยศ. ควรพิจารณาทันที เพราะหนี้กยศ. กำลังเป็นระเบิดเวลาของอนาคตการศึกษาไทย และ เยาวชนส่วนหนึ่งของชาติ ที่เป็นอนาคตของประเทศไทย
ปัจจุบันมีลูกหนี้ยังค้างชำระหนี้กยศ. ร้อยละ 61
นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ.ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันมีทุนหมุนเวียนของรัฐ 68,200 หมื่นล้านบาท โดยผู้กู้ทั้งหมดราว 5.7 ล้านราย มีผู้ชำระหนี้ประมาณร้อยละ 65 หรือราว 3 ล้านราย และชำระเสร็จสิ้นแล้วเพียง 8 แสนราย ยังติดค้างอยู่อีกราว 2.1 ล้านราย หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 61 อย่างไรก็ตาม มีแนวโน้มคนกู้จะลดลง ซึ่งปัจจุบัน กยศ. ต้องทำให้ถูกกฎหมาย ไม่ใช่ถูกใจลูกหนี้
ทั้งนี้ กยศ.เริ่มฟ้องลูกหนี้จากผู้ที่จบการศึกษาแล้ว ที่มีอายุ 30 ปีขึ้น ไปมากกว่า 1 ล้านคดี เฉลี่ยปีละ 1 แสนคดี พร้อมยืนยันว่า ดอกเบี้ย กยศ.ถูกมาก โดยในระยะ 9 ปีแรกไม่คิดดอกเบี้ย หลังจบการศึกษา 2 ปี เริ่มคิดดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 1 เท่านั้น หากผิดนัดจะมีเบี้ยปรับอีกเล็กน้อย
ส่วนขั้นตอนทวงหนี้จะส่ง SMS ทางโทรศัพท์ที่มีในฐานข้อมูลอยู่ 3 ล้านเลขหมาย หากไม่ตอบรับจะโทรแจ้งเตือน และหากไม่ชำระ หรือมีการเปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์ จะส่งหนังสือทวงถามตามทะเบียนบ้าน และบังคับคดีตามกฎหมาย จะไม่ทวงหนี้โหด และยังมีเงินให้กู้เรียนได้ เพราะอัตราการกู้ลดลง ยอดจ่ายคืนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทำให้มีเงินหมุนเวียนเพียงพอ
อีกทั้ง ตาม พ.ร.บ. กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560 หรือ พ.ร.บ. กยศ. ผู้กู้ต้องยินยอมให้หักเงินเดือนและเเจ้งต่อนายจ้างว่ามีหนี้และนายจ้างมีหน้าที่หักเงินเดือนคืนให้ กยศ.เมื่อ กยศ.มีหนังสือแจ้งเตือน แต่จะหักภาษี ณ ที่จ่ายส่งสรรพากรและกองทุนสวัสดิการหรือยังชีพพนักงานก่อนหักคืน กยศ.หากไม่ดำเนินการ นายจ้างต้องรับผิดชอบดอกเบี้ยร้อยละ 2 โดยกฎหมายให้อำนาจ กยศ.เข้าถึงข้อมูลลูกหนี้ได้
บางคนกู้เพื่อรักษาสิทธิ์ ทั้งที่ไม่จำเป็นต้องกู้
ด้านศาสตราจารย์ ธนิต ธงทอง อดีตรองอธิการบดีด้านกิจการนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่าผู้กู้รายเก่าช่วงเรียนระดับมัธยม อาจไม่เข้าใจระบบการกู้เท่าที่ควร แต่รายใหม่ในระดับอุดมศึกษา จะเข้าใจเงื่อนไขและกระบวนการกู้รวมถึงภาระในอนาคต โดยเห็นว่ามหาวิทยาลัยควรมีทุนการศึกษาเป็นเงินให้เปล่าแก่นิสิตนักศึกษาที่ขาดแคลนด้วย ซึ่ง จุฬาฯ มีนิสิตกู้ กยศ.ราว 800 ราย เมื่อมีการให้ทุน สามารถลดผู้กู้ กยศ.ได้ครึ่งหนึ่งราว 400 ราย และพบว่าผู้ที่ไม่ขอทุนแต่ยอมกู้ กยศ.เพราะต้องการรักษาสิทธิ์ บางส่วนพบว่า กู้เงินเพื่อให้ผู้ปกครองนำไปใช้จ่ายเนื่องจากดอกเบี้ยถูก แม้มีเงินเพียง 2,000 บาทต่อเดือนเข้าบัญชีก็ตาม
ดังนั้น จึงเชื่อว่า ผู้กู้รับรู้และสามารถผ่อนชำระได้ แต่ผู้ที่ไม่จ่ายหนี้ เพราะยังไม่มีงานทำหรือมีภาระใช้จ่ายอื่นๆ เหตุเพราะการบริหารจัดการและการประชาสัมพันธ์ที่ไม่ครอบคลุมทั่วถึง เนื่องจากเมื่อจบการศึกษาแล้ว สถาบันการศึกษาก็ไม่สามารถดูแลได้และไม่รู้จะส่งต่อให้ กยศ.หรือธนาคารที่เกี่ยวข้องอย่างไรด้วย
ลูกหนี้กยศ. ไม่เข้าเครดิตบูโร -จับตาหนี้เสียคนรุ่นใหม่
ด้านนายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) ระบุว่า กยศ.ยังไม่ได้เป็นสมาชิกเครดิตบูโร ที่ต้องส่งข้อมูลลูกหนี้มาให้เหมือนในหลายๆ ประเทศ แต่หลักการทั่วไปในการทำสัญญายืมเงินต้องใช้หนี้ และตามทฤษฎี ต้องจัดลำดับความสำคัญการชำระว่าจ่ายหนี้อะไรก่อน ส่วนใหญ่จะจ่ายหนี้นอกระบบก่อนเพราะดอกเบี้ยแพง ถัดมาคือจ่ายภาษีเพราะมีโทษทางอาญา , จ่ายหนี้สาธารณูปโภค น้ำ,ไฟ เพราะกระทบความเป็นอยู่ และจะจ่ายหนี้สถาบันการเงินเป็นลำดับสุดท้าย แต่จะพบว่าจะชำระหนี้ กยศ.หลังใช้หนี้ธนาคารอีก
โดยข้อมูลหนี้เครดิตบูโร 25-26 ล้านคน เฉลี่ยเป็นหนี้ 1.6 แสนบาท และร้อยละ 21 ของคนอายุไม่เกิน 31 ปี จะมีอย่างน้อย 1 บัญชีไม่ชำระกลายเป็นหนี้เสีย หากรวมหนี้ กยศ.ในระบบจะพบตัวเลขที่น่ากลัว ดูจากวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 มีร้อยละ 47 เป็นหนี้เสีย ต้องแก้ปัญหานี้ร่วม 10 ปี ขณะที่ กยศ.มีผู้ไม่ชำระกว่าร้อยละ 61
ดังนั้น จึงเสนอให้มีการเชื่อมต่อข้อมูลและแบ่งแยกว่าลูกหนี้ กยศ.แต่ละคนมีสถานะทางอาชีพอย่างไร หากพิการ เสียชีวิต หรือยากจน ต้องพิจารณาอีกมาตรการหนึ่ง โดยควรมุ่งทวงหนี้กับคนที่มีสถานะทางการเงินที่พอจะใช้หนี้ได้แต่ไม่ยอมชำระหนี้
อ่านเพิ่มเติิม