ไม่พบผลการค้นหา
พลทหารไอติม ชี้แจง เป็นทหารไม่มีสิทธิ์เลือก ถ้าถูกใช้ให้ไปเลี้ยงไก่ก็คงไม่มีสิทธิ์ปฏิเสธ แม้ว่าจะไม่อยากทำ พร้อมถอดบทเรียนจากการเกณฑ์ทหารสะท้อนความเหลื่อมล้ำในสังคม และความอ่อนแอของสถาบันครอบครัว

ไอติม - พริษฐ์ วัชรสินธุ์ อายุ 25 ปี หลานชายอดีตนายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และแกนนำคนรุ่นใหม่พรรคประชาธิปัตย์ เล่าประสบการณ์การเกณฑ์ทหาร 3 เดือนแรกก่อนเข้ากรมกองว่า หากมองในแง่ดีคือเป็นช่วงเวลาที่เขาได้รู้จักเพื่อนใหม่ และพักสมอง เพราะต้องฝึกหนักทั้งวันตั้งแต่เช้ามืดจนถึงดึก วิ่ง-อาบน้ำ-กินข้าวเช้า-ฝึก-กินข้าวเที่ยง-อาบน้ำ-ฝึก-กินข้าวเย็น-อาบน้ำ-ฟังการอบรม-สวดมนต์-นอน เป็นแบบนี้ทุกวัน จนน้ำหนักลดลงไป 10 กิโลกรัม แทบไม่มีเวลาได้ตามข่าวสาร ไม่มีโทรศัพท์ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ หรือแม้กระทั่งนาฬิกา

ตอนแรกเขารู้สึกกดดันว่า ออกมาจากค่ายทหารแล้วจะไม่สามารถเชื่อมต่อกับโลกภายนอกได้ติด แต่ปรากฎว่าหลังจากที่ได้ออกมาพักระหว่างครึ่งของการฝึก การเมืองไทยก็ยังไม่ได้เดินไปข้างหน้ามากนัก เพราะยังไม่ได้ปลดล็อกทางการเมืองให้พรรคการเมืองทำกิจกรรม มีแต่การดูดอดีตนักการเมืองภูมิภาค 

แต่ระหว่างการฝึกทหาร ก็ทำให้ 'ไอติม' ได้เจอกับประสบการณ์ใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นการฝึก, การทำโทษ, การแบ่งเวลากิจวัตรประจำวัน, หรือแม้กระทั่งของหาย

"วันเข้าจะแจกของทุกอย่างหมด ทุกคนจะได้เหมือนกัน ผ้าเช็ดตัวหนึ่งผืน กางเกงในสามตัว สบู่หนึ่งก้อน ยาสระผมหนึ่งขวด แต่ของผมก็มีหายครับ คือวันแรกเขาจะแนะนำให้เขียนชื่อตัวใหญ่ๆ ผมมีกางเกงใน 3 ตัว ผ่านไป 2 วัน หายไปหนึ่งตัว แล้วผมจะรอดได้ยังไงอีก 68 วันกับกางเกงใน 2 ตัว ซึ่งมันเป็นอะไรที่ผมไม่คิดว่ามันจะหายนะ หลังจากนั้นก็พยายามให้มันอยู่ในสายตา เขียนชื่อให้ตัวใหญ่ที่สุด"

หรือเรื่องอาหาร จากคนที่ไม่ค่อยชอบกินผัก ต้องเจอกันเมนู 'ผักหนึ่งไร่ไข่หนึ่งฟอง' หรือ 'แกงเขียวหวานวิญญาณไก่' ก็ต้องปรับตัว และกินให้หมดทุกอย่าง จนบางครั้งไอติมก็นั่งนึกอยากกินเคเอฟซี และโค้ก พอได้จังหวะทางค่ายทหารให้ทุกคนโทรกลับหาที่บ้านได้คนละ 2-5 นาที ก็เลยสั่งให้ที่บ้านซื้อมาฝาก แต่พอได้เจอกับครอบครัวที่มาเยี่ยมจริงๆ กลับรู้สึกตื้นตันจนกินอะไรไม่ลง ทำอะไรไม่ถูก แต่กลับมาที่พักค่อยนึกเสียดายว่าทำไมตัวเองไม่กิน ไอติมกล่าวด้วยรอยยิ้ม

ตั้งแต่มาอยู่ที่นี่ เขาเจอเพื่อนใหม่จากหลากหลายสังคม เนื่องจากในหนึ่งกองร้อยจะมีพลทหาร 70 นาย และ 35 คนในนั้นมีปัญหายาเสพติด หลายคนไม่ได้เรียนต่อ หลายคนมีครอบครัวตั้งแต่ยังอายุน้อย ซึ่งไอติมกล่าวว่า ทุกวันที่เขายืนเวรยาม 2 ชั่วโมงจะได้ทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่ๆ ปัญหาในชีวิตของหลายคนมาจากครอบครัวที่ไม่มั่นคง การหย่าร้างกันของพ่อแม่ ทำให้เขามองเห็นความสำคัญของสถาบันครอบครัวมากยิ่งขึ้น

ขณะเดียวกัน ไอติม ก็ตระหนักถึงความเหลื่อมล้ำในสังคม เห็นได้จากเรื่องใกล้ตัวที่สุดคือการเกณฑ์ทหาร เด็กที่ครอบครัวมีฐานะได้เรียนในโรงเรียน ได้เรียน รด. ต่างจากคนที่ครอบครัวไม่สมบูรณ์ ไม่ร่ำรวย ส่วนใหญ่ก็จะไม่ได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และไม่ได้เรียน รด. จนต้องมาเกณฑ์ทหาร ชวนให้เขาตั้งคำถามว่า ทำไมการเกณฑ์ทหารจึงต้องกลายมาเป็นภาระของคนที่ยากจนเท่านั้น? ต่างจากในประเทศสิงคโปร์ที่ทุกคนต้องเกณฑ์ทหารเหมือนกันหมด

"เด็กที่เกิดมาควรมีโอกาสเท่าเทียมกัน แต่เขาไม่มีโอกาส ทั้งที่ไม่ใช่ความผิดของเขา หลายคนที่มาเป็นทหารเกณฑ์ เพราะอาจจะมีโอกาสน้อยกว่าคนอื่น อย่างแรก คนที่มีฐานะก็จะได้เรียนในโรงเรียนใหญ่ มีโอกาสเรียน รด. และหลายคนได้ใบดำก็ไม่ใช่ว่าได้เพราะโชคดี ทำไมการเป็นทหารเกณฑ์ต้องเป็นภาระของคนที่ไม่ร่ำรวย มันสะท้อนความเหลื่อมล้ำได้อย่างชัดเจน"

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า แล้วทุกวันนี้ในค่ายทหารที่ไอติมได้รับการฝึกอยู่ยังมีการเรียกตัวทหารไปรับใช้ผู้บังคับบัญชาอยู่หรือไม่?

ไอติม ตอบว่า ยังมีอยู่ แต่จะเป็นความสมัครใจหรือไม่ ตนไม่รู้ แต่ตนและเพื่อนๆ เป็นทหารเลือกอะไรมากไม่ได้ ถ้าวันหนึ่งมีคนสั่งให้ไปเลี้ยงไก่ ตนก็คงเลือกไม่ได้ ถ้าเลือกได้ก็ไม่อยากไป เพราะตนตั้งใจเข้ามาเกณฑ์ทหารเพื่อรับใช้ชาติ แม้จะอยู่ข้างนอกค่ายทหารเป็นนักการเมืองก็รับใช้ชาติได้ แต่การเลี้ยงไก่จะรับใช้ชาติได้อย่างไร? ถ้าหากไก่ตัวนั้นจะนำมาสู่การตั้งคำถามเรื่องการเกณฑ์ทหารก็คงจะถือว่าเป็นประโยชน์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: