ไม่พบผลการค้นหา
มีงานศึกษาบางชิ้นชี้ให้เห็นว่าช่วงที่มีการจัดฟุตบอลโลกนั้น ตัวเลขการฆ่าตัวตายจะลดลง เนื่องจากการเชียร์ฟุตบอลทำให้เกิดการเชื่อมโยงกันของคนในสังคม

ช่วง 1 เดือนของการแข่งขันฟุตบอลโลก การรับชมเกมฟุตบอลไม่ว่าจะในสนามหรือผ่านหน้าจอโทรทัศน์ไม่ได้เพียงแค่ให้ความสนุกตื่นเต้นเท่านั้น แต่ยังช่วยลดอัตราการฆ่าตัวตายของคนในสังคมได้ด้วย

ปี 1998 ฟุตบอลโลกถูกจัดขึ้นในประเทศฝรั่งที่เรียกกันว่าศึก “ฟร๊องซ์ 98” (France '98) ทัวร์นาเม้นท์จบลงที่ชาติเจ้าภาพเอาชนะทีมบราซิลคว้าแชมป์โลกสมัยแรกได้สำเร็จต่อหน้าแฟนบอลของตัวเอง จากผลการศึกษาเรื่อง Impact of the 1998 football World Cup on suicide rates in France: results from the national death registry ที่ใช้ข้อมูลจากการลงทะเบียนผู้เสียชีวิต เผยว่าในช่วงเวลา 1 เดือนของทัวร์นาเมนต์ฟุตบอลโลก อัตราคนฆ่าตัวตายในฝรั่งเศสลดลงถึงประมาณ 10% และลดลงอย่างชัดเจนในวันที่ทัพตราไก่ลงทำการแข่งขัน อัตราการฆ่าตัวตายในวันนั้นจะลดต่ำลงไปอีกถึง 19% โดยเฉพาะในผู้ชายอายุ 30-44 ปี

ในทางจิตวิทยา การเชียร์กีฬาเป็นการเติมเต็มความต้องการมนุษย์ ที่ไม่ใช่ทางด้านร่างกายแต่เป็นทางด้านจิตใจ ซึ่งมนุษย์เราต้องการสิ่งที่เข้ามาหล่อเลี้ยงจิตใจเช่นเดียวกับร่างกาย ความรู้สึกมีความสัมพันธ์และเชื่อมโยงกับคนอื่นในสังคมเป็นสิ่งหนึ่งที่จิตใจมนุษย์ต้องการ

ในบทความ Football fever just a game of fitting in ของ Matthew Raggatt ที่เขียนขึ้นในช่วงฟุตบอลโลกปี 2014 ระบุว่า ผู้ที่ตัดสินใจฆ่าตัวตายหลายคน มักจะรู้สึกว่าตัวเองแปลกแยกออกจากสังคม ซึ่งนักจิตวิทยาด้านกีฬามองว่าการได้ชมการแข่งขันฟุตบอลนั้น ทำให้เราสามารถมีเรื่อง “พูดคุยกับคนอื่นระหว่างพักดื่มน้ำ” (The Water cooler talk) เหมือนมีเรื่องคุยกับเพื่อนตอนเลิกเรียนหรือระหว่างพักเที่ยง ทำให้เราได้มีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนกว้างออกไปอีก การได้พูดคุยกับคนอื่นในเรื่องเดียวกันทำให้ผู้ที่รู้สึกแปลกแยกออกจากสังคม ได้กลับมารู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคมอีกครั้ง 

ไม่ใช่แค่ฟุตบอลเท่านั้น พบว่าในการแข่งขันกีฬาระดับชาติรายการใหญ่ๆ ก็ได้สร้างผลทางจิตวิทยาสังคมเช่นกัน ปี 2012 ประเทศนิวซีแลนด์ได้แชมป์รักบี้ชิงแชมป์โลกที่พวกเขาเป็นเจ้าภาพ ก็มีข้อมูลที่ว่าประเทศนิวซีแลนด์ในช่วงเวลาดังกล่าวมีตัวเลขการฆ่าตัวตายนั้นก็ลดลงอย่างชัดเจน

นอกจากนี้ยังมีงานศึกษาบางชิ้นที่ระบุว่าในช่วงเกิดเหตุวินาศกรรม อย่างเช่นเหตุการณ์วางระเบิดที่ลอนดอนหรือเหตุการณ์ 9/11 ก็พบว่าอัตราคนฆ่าตัวตายจะลดลงด้วยเช่นกัน ในบทความ World cup and quakes cause drop in suicide rate ผู้เชี่ยวชาญจาก Community Action on Suicide Education Prevention and Research ประเทศนิวซีแลนด์ มองว่าสิ่งที่เหมือนกันระหว่างเหตุวินาศกรรมกับการแข่งขันกีฬาคือ ‘ความเชื่อมแน่นทางสังคม’ (Social cohesion) เมื่อเกิดวินาศกรรมผู้คนจะเกิดความรู้สึกบางอย่างร่วมกันทันที โดยจะเปลี่ยนความสนใจในเรื่องส่วนตัวมาสู่ความรู้สึกร่วมของสังคม ทำให้ความรู้สึกแปลกแยกแบบปัจเจกจะลดลง เหมือนกับที่ระหว่างการแข่งฟุตบอลระดับชาติ ที่ทุกคนรู้สึกเหมือนมีคนคิดอะไรเหมือนกันอยู่ หนุนหลังทีมเดียวกันอยู่ และมีเป้าหมายเดียวกันคือ ‘ชัยชนะ’ ต่างกันที่ฟุตบอลไม่จำเป็นต้องมีการสูญเสีย

แต่บางครั้งในทางกลับกันความผิดหวังจากความพ่ายแพ้ก็ทำให้มีการฆ่าตัวตายของแฟนบอลได้เช่นกัน ตัวอย่างเช่นในเกมสุดท้ายของฟุตบอลโลกปี 1950 ที่เจ้าภาพบราซิลแพ้ให้กับอุรุกวัย 2 ประตูต่อ 1 ต่อหน้าแฟนบอล 173,850 คน ที่ซื้อตั๋วเข้ามาชมเกมนัดชิง เป็นสถิติการซื้อบัตรเข้าชมฟุตบอลที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์จนถึงปัจจุบัน หลังจากนั้น มีรายงานว่ามีแฟนบอลหลายสิบคนตัดสินใจฆ่าตัวตายจากความผิดหวังกับผลแข่งขันรอบชิงครั้งนั้น.




Smanachan Buddhajak
0Article
0Video
0Blog