ไม่พบผลการค้นหา
แพทย์แนะผู้ที่มีอาการปวดท้องบิดควรรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ สด สะอาด ดื่มน้ำที่ผ่านการกรองหรือต้มให้เดือด ถ่ายอุจจาระ - กำจัดอุจจาระถูกต้องตามหลักสุขาภิบาล เพื่ออนามัยที่ดี ลดเสี่ยงปัญหาสุขภาพ

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคบิด เป็นอาการติดเชื้อเฉียบพลันในระบบทางเดินอาหารของลำไส้ใหญ่และลำไส้เล็ก ซึ่งเกิดจากเชื้อแบคทีเรียหรือโปรโตซัวที่ทำให้เกิดอาการท้องเสีย ถ่ายเหลว ร่วมกับการ มีไข้สูง คลื่นไส้ อาเจียน ปวดเบ่งเวลาถ่ายอุจจาระ มีอาการเหมือนถ่ายไม่สุด ในเด็กอาจพบอาการชักร่วมด้วย โดยผู้ป่วยที่อาการชัดเจนจะถ่ายอุจจาระเป็นมูกหรือมูกเลือด ซึ่งเป็นผลมาจากการแตกของฝีขนาดเล็กๆ ที่ติดเชื้อแบคทีเรีย 

โดยทั่วไปโรคบิดแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่ โรคบิดชนิดไม่มีตัว เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียในกลุ่มซิเกลลา (Shigella) สามารถพบได้ทั่วไปในพื้นที่ที่มีสุขอนามัยไม่ดี และโรคบิดชนิดมีตัว เกิดจากสัตว์เซลล์เดียว (โปรโตซัว) ที่ชื่อว่า อะมีบา (Ameba) มักพบการติดเชื้อได้ในพื้นที่ร้อนชื้น ปัจจุบันประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคบิดในหลายพื้นที่เนื่องจากการสุขาภิบาลด้านอาหารและน้ำดื่มที่ไม่ดีพอ ทั้งนี้โรคบิดเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายได้ หากรักษาได้อย่างทันท่วงทีและได้รับการชดเชยภาวะขาดน้ำควบคู่กับการให้ยาปฏิชีวนะอย่างเหมาะสม

ด้าน นพ.มานัส โพธาภรณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคบิดสามารถติดต่อกันได้ผ่านเชื้อโรคที่อยู่ในอุจจาระของผู้ป่วย โดยเมื่อเชื้อปนเปื้อนไปสู่แหล่งน้ำ ลงไปในอาหาร หรือตกค้างอยู่ที่มือของผู้ป่วย อาจทำให้เชื้อแพร่กระจายได้ ไม่เพียงเท่านั้นแมลงวันยังเป็นสาเหตุที่ทำให้เชื้อแพร่กระจายได้อีกด้วย ขณะที่ผู้ป่วยที่มีเชื้อของโรคบิดสามารถเป็นพาหะและแพร่เชื้อได้ตลอดเวลาที่มีอาการ เพราะจะมีเชื้อออกมากับอุจจาระทุกครั้งที่ถ่าย และเชื้อจะค่อยๆ หมดไปหลังจาก 2-3 สัปดาห์ 

โรคบิดสามารถป้องกันได้หลายวิธี ได้แก่ 

1.การล้างมือให้สะอาด ทั้งก่อนการปรุงอาหารและก่อนรับประทานอาหาร โดยเฉพาะหลังการเข้าห้องน้ำ 

2.ดื่มน้ำสะอาด เช่น น้ำต้มสุก หรือน้ำดื่มบรรจุขวดที่ผ่านเครื่องกรองน้ำที่ได้มาตรฐาน ไม่ดื่มน้ำคลองหรือน้ำบ่อแบบดิบๆ และไม่รับประทานน้ำแข็งที่เตรียมไม่สะอาด 

3.รับประทานอาหารปรุงสุกในขณะที่ยังร้อนอยู่ หากซื้ออาหารบรรจุสำเร็จควรอุ่นอาหารให้ร้อนจัดก่อนการรับประทานทุกครั้ง 

4.เลือกอาหารที่ผ่านกระบวนการผลิตอย่างปลอดภัย เช่น นมที่ผ่านกระบวนการพาสเจอร์ไรซ์ ผักและผลไม้ควรล้างด้วยน้ำสะอาดอย่างทั่วถึง 

5.เก็บอาหารให้ปลอดภัยจากแมลงวัน หนู หรือสัตว์อื่นๆ 

6.ส่งเสริมให้มีการเลี้ยงทารกด้วยน้ำนมแม่ เพื่อให้เด็กมีภูมิคุ้มกันโรค 

7.ถ่ายอุจจาระลงในส้วมที่ถูกสุขลักษณะ อย่าถ่ายลงคลองหรือตามพื้นดิน เพื่อป้องกันการแพร่กระจายโรค 

8.ทิ้งขยะในถังขยะที่มีฝาปิด และกำจัดขยะอย่างสม่ำเสมอ 

ทั้งนี้ควรดูแลรักษาสุขภาพและรับการตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อให้ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงและมีอนามัยที่ดีอยู่เสมอ หากมีอาการผิดปกติควรพบ���พทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโรคและรับการรักษาอย่างถูกต้องต่อไป