ไม่พบผลการค้นหา
เด็กสาวเดินทางกลับบ้านเกิดใน ‘จังหวัดร้อยเอ็ด’ พร้อมทีมมือพ่นสี 33 ชีวิต โดยเธอตั้งใจจะวาดภาพลงบนกำแพงสองฝั่งคลองข้างวัดบูรพาภิราม เพื่อสร้างแลนด์มาร์กแห่งใหม่ให้กับเมืองอันเป็นที่รัก
101grafiti

พุธ-พฤหัส-ศุกร์ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เพียงแค่ 3 วัน สองกำแพงริมคลองข้างวัดบูรพาภิราม อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด ถูกชุบชีวิตใหม่อีกครั้งด้วยสีสันจัดจ้าน สไตล์ภาพวาดที่หลากหลาย จากฝีมือศิลปินสตรีตอาร์ตทั่วประเทศไทย

101grafiti

ที่นี่คือ ‘แลนด์มาร์กแห่งใหม่’ ของจังหวัดร้อยเอ็ด สตรีตอาร์ตแห่งที่ 4 ซึ่งเทศบาลเมืองร้อยเอ็ดต้องการพัฒนาให้พื้นที่กลายเป็นจุดสนใจของทั้งกลุ่มคนท้องถิ่น หรือนักท่องเที่ยว โดยทุกคนสามารถแวะเข้ามาถ่ายรูป เช็กอิน เป็นบริเวณใจกลางเมืองที่เด็กวัยรุ่นมานัดพบกันได้ในช่วงเย็นหลังเลิกเรียน หรือเลิกงาน โดยไม่ต้องไปเดินแต่ห้างสรรพสินค้าอย่างเดียว

โปรเจ็กต์ สตรีตอาร์ต101 หรือสตรีตอาร์ตเมืองร้อยเอ็ด เริ่มต้นครั้งแรกราว 2-3 ปีก่อน โดยผู้หญิงตัวเล็กๆ ยิ้มสวยชื่อว่า ‘บิว-วริศรา จันทะคัต’ เธอจบการศึกษาจากคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และปัจจุบันเปิดสตูดิโอด้านกราฟฟิตี้ร่วมกับรุ่นพี่อยู่ที่ตัวเมืองเชียงใหม่ โดยรับจ้างวาดงานจากกระป๋องสเปรย์ทุกที่ทั่วโลก

101grafiti

เธอกลับบ้านเกิดช่วงวันหยุดจากการเรียน และเริ่มต้นสร้างสรรค์ผลงานจากสีสเปรย์เป็นรูปคิวปิด (Cupid) บนกำแพงเล็กๆ เลียบคลองถนนตัดใหม่ ไม่ได้ตั้งใจว่าจะสร้างแรงกระเพื่อม แต่ด้วยฝีมือที่ไม่ธรรมดา และภาพอันเป็นเอกลักษณ์ ส่งผลให้ผู้คนเริ่มทยอยมาถ่ายรูปกันไม่หยุด จนเทศบาลเมิืองร้อยเอ็ดชวนให้เธอมาสร้างสรรค์ครั้งที่ 2 และ 3 ด้วยศิลปินกลุ่มใหญ่ขึ้น และกำแพงยาวขึ้น เพื่อเป็นการดึงดูดการท่องเที่ยวสู่จังหวัด

101grafiti
  • บิว-วริศรา จันทะคัต

ท่ามกลางแดดร้อนระอุปลายฝนต้นหนาว สตรีตอาร์ตแห่งที่ 4 ทางบิวและทีมตั้งใจจะสร้างพื้นที่แห่งใหม่ เชื่อมโยงกับที่เก่า ไม่ไกลจากกันเท่าไหร่ ปักหมุดเมืองร้อยเอ็ด เป็นเมืองแห่งศิลปะ

“เราอยากจะทำอาร์ตแม็ป ดึงคนมาทางนี้บ้าง จากสตรีตอาร์ตเดิมที่ได้รับความนิยมอยู่แล้ว จากคลองที่ไม่มีอะไรน่าสนใจ อยากจะทำให้มี gimmick มากขึ้น ธีมตรงนี้เราจะให้ศิลปินแต่ละคนตีความในเรื่องของสถานที่ สิ่งแวดล้อมว่ามีความเป็นมาอย่างไร ตรงนี้เป็นแม่น้ำลำคลองร้อยเอ็ด ก็จะให้ตีความเกี่ยวข้องกับน้ำ อีสาน หรือร้อยเอ็ด นำเสนอออกมาในสไตล์ของแต่ละคน”

101grafiti

เธอออกตัวว่า โปรเจ็กต์ครั้งนี้ไม่ใช่งานแนววิพากษ์อะไร แต่อยากให้ศิลปินโชว์ฝีมือของตัวเองเต็มที่ เติมงานศิลปะให้เมืองร้อยเอ็ด เธอเล่าด้วยว่า เมื่อก่อนงานกราฟฟิตี้เริ่มมาจากการต่อต้านสังคมก็จริง แต่ว่าทุกวันนี้ก็มีหลากหลายสไตล์เกิดขึ้น เช่น งานประเภทที่ให้ความสำคัญกับความสวยงาม เก็บดีเทลละเอียด หรือบางศิลปินที่ให้ความสำคัญกับการนำเสนอตัวตนของตัวเอง ซึ่งในไทย ศิลปะประเภทนี้ก็ได้รับการยอมรับในเชิงศิลปะมากขึ้น

“อยากจะพัฒนาให้ร้อยเอ็ดที่เป็นบ้านเกิดของหนู อยากจะใช้ความสามารถทำให้เป็นเมืองศิลปะ จริงๆ อยากจะให้ศิลปะเข้ามาสู่ชุมชน เพราะมันเป็นอะไรที่สำคัญ ทำให้บ้านเรามีสีสัน พอบ้านเรามีสีสัน ก็ทำให้คุณภาพชีวิตของเราดีไปด้วย”

101grafiti
"ในอีสานหลายจังหวัดมีวัฒนธรรม แต่ยังขาดศิลปะในการนำเสนอ ทีนี้พอศิลปะมานำเสนอควบคู่กับวัฒนธรรม ทำให้เกิดการยกระดับจิตใจคน ศิลปะเป็นเรื่องของอารมณ์อยู่แล้ว เมื่อเราได้เห็นอะไรที่สวยงาม ผ่อนคลาย จะทำให้การดำเนินชีวิตของเราดีขึ้น"


101grafiti
  • แผ่นหลังของ มวย- ปิยศักดิ์ เขียวสะอาด มือสเปรย์ที่เคยทำงานกราฟฟิตี้วิพากษ์การเมืองมาหลายชิ้น เขาเป็นหนึ่งในศิลปิน 33 คน และเป็นพาร์ตเนอร์ที่เปิดสตูดิโอร่วมกับบิวที่เชียงใหม่

ที่กำแพงฝั่งตรงข้ามบิว หนึ่งในศิลปินที่สะดุดตาคือ ‘แอนดรูว์ สโตน’ ชาวอเมริกัน ซึ่งร่วมโปรเจ็กต์กับทีมนี้เป็นครั้งที่ 2 แล้ว เขาอยู่ในจังหวัดร้อยเอ็ดกับครอบครัวมานาน 10 ปี มีลูกชาย 2 คน ปัจจุบันเป็นครูสอนภาษาอังกฤษในโรงเรียนสตรีศึกษา จังหวัดร้อยเอ็ด

101grafiti
  • แอนดรูว์ สโตน

“ผมเรียนศิลปะมาตอนที่อยู่ลอสแองเจลิส ผมเคยทำงานสตรีตอาร์ตในสหรัฐฯ มาก่อน ในแอลเอนั่นแหละครับ ผมทำราว 10 ปีก่อนหยุด เพราะเดินทางมาประเทศไทย แล้วก็ไม่ได้ทำต่อ เพราะไม่รู้จักใคร แต่ผมรู้จักคนพวกนี้เมื่อปีก่อน ผมเลยได้เริ่มทำงานสตรีตอาร์ตอีกครั้ง”

101grafiti
  • ผลงานของสโตน

“งานที่ผมทำคือ ชื่อเล่นของผมเอง มันเป็นอะไรที่คล้ายๆ กับที่ทำตอนอยู่อเมริกา ชุมชนสตรีตอาร์ตที่ไทยเจ๋งมากครับ พวกเขาเป็นมิตรแล้วก็อำนวยความสะดวกให้ตลอด พวกเขามีพรสวรรค์มากด้วย ที่นี่ทำงานเหมือนมิกซ์ระหว่างกราฟฟิตี้ และสตรีตอาร์ต ที่อเมริกากลุ่มคนที่ทำกราฟฟิตี้ค่อนข้างหลากหลาย แล้วก็มีปัญหามากในสมัยก่อนราว 20 ปีที่แล้ว ยกพวกตีกันอะไรแบบนี้น่ะครับ”

เขาอธิบายว่า ที่อเมริกาจะมีการเพนต์ทับ เกทับกัน หรือถูกมองว่าเลอะเทอะ จึงถูกทาสีทับ แต่ที่ประเทศไทยไม่ค่อยเกิดขึ้น จึงมองว่าสังคมไทยเฟรนด์ลี่กับงานสตรีตอาร์ตอะไรแบบนี้

“แต่มันก็สำคัญด้วยเหมือนกันสำหรับผู้คนที่จะสามารถแสดงความคิดเห็นทางการเมืองได้ ถ้าคุณมีไอเดียเกี่ยวกับการเมือง มันไม่ควรจะโดนลบ ทุกคนควรมีสิทธิ์มีเสียงเกี่ยวกับไอเดียหรือความคิดของตัวเอง” สโตนปิดท้าย

101grafiti


On Being
198Article
0Video
0Blog