ไม่พบผลการค้นหา
รายงานการประเมินล่าสุดพบว่า ปีนี้มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนมากกว่า 37,100 ล้านตัน ซึ่งมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ แม้เกือบทุกประเทศตั้งเป้าหมายว่าจะป้องกันการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากเชื้อเพลิงฟอสซิลและโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ของปี 2018 มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 - 3.7 โดยอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนเพิ่มขึ้นอย่างมากเป็นปีที่ 2 ติดต่อกันแล้ว หลังจากที่ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนค่อนข้างคงที่ในช่วงปี 2014 - 2016

การปล่อยก๊าซคาร์บอนเพิ่มขึ้นในปีนี้จะทำให้มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ที่ 37,100 ล้านตัน และจะฉุดรั้งความพยายามของทั่วโลกในการบรรลุเป้าหมายในข้อตกลงปารีสว่าด้วยการป้องกันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะควบคุมไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นจากช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรมเกิน 2 องศาเซลเซียส

ความต้องการใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้นทำให้มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนมากขึ้น ซึ่งเป็นอุปสรรคในการควบคุมอุณหภูมิโลก โดยปีนี้มีการบริโภคเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นจากช่วงทศวรรษที่ผ่านมาประมาณ 1 ใน 6 อันเป็นผลมาจากชนชั้นกลางเพิ่มขึ้นทั่วโลก และมีการแจกจ่ายไฟฟ้าไปให้กับคนยากจนหลายร้อยล้านคนทั่วโลก ความท้าทายสำหรับทุกประเทศจึงอยู่ที่การลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนในระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยที่ยังตอบสนองความต้องการด้านพลังงาน โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาที่มีความต้องการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

โครงการคาร์บอนโลก (GCP) เพิ่งเผยแพร่รายงานประจำปีที่นักวิทยาศาสตร์ที่ใช้ข้อมูลสภาพภูมิอากาศและอุตสาหกรรมจากทั่วโลกมาอธิบายภาพรวมของแหล่งทรัพยากรโลกและก๊าซเรือนกระจกให้เข้าใจง่ายที่สุด

 

ถ่านหินกลับมาอีกครั้ง

รายงานระบุว่า ปี 2017 - 2018 มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการใช้ถ่ายหินมากขึ้นอีกครั้ง หลังจากที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากถ่านหินมากที่สุดในปี 2013 ซึ่งความเปลี่ยนแปลงนี้เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนโดยรวมเพิ่มขึ้น นอกเหนือจากการปล่อยก๊าซจากน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมานานแล้ว

ประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนจากถ่านหินมากที่สุดได้แก่ จีนและอินเดีย ขณะที่ประเทศที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากถ่ายหินมากที่สุดสหรัฐฯ หลังจากที่มีการปิดโรงงานไฟฟ้าถ่านหินมากกว่า 250 แห่งนับตั้งแต่ปี 2010 และคาดว่าจะปิดอีกหลายแห่งในช่วง 5 ปีข้างหน้านี้

ขณะที่อัตราการเติบโตของการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากการผลิตซีเมนต์ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

 

ประเทศส่วนใหญ่ปล่อยก๊าซคาร์บอนเพิ่มขึ้น

ประเทศส่วนใหญ่ปล่อยก๊าซคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศเพิ่มขึ้น แต่ 19 ประเทศ ซึ่งปล่อยก๊าซคาร์บอนรวมกันประมาณร้อยละ 20 ของทั้งหมด มีแนวโน้มที่จะปล่อยก๊าซคาร์บอนน้อยลงจากช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ขณะที่เศรษฐกิจก็ยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ อารูบา บาร์เบโดส สาธารณรัฐเช็ก เดนมาร์ก ฝรั่งเศส กรีนแลนด์ ไอซ์แลนด์ ไอร์แลนด์ มอลตา เนเธอร์แลนด์ โรมาเนีย สโลวาเกีย สโลวีเนีย สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ ตรินิแดดแอนด์โตเบโก อังกฤษ สหรัฐฯ และอุซเบกิสถาน

แม้ช่วงหลายปีที่ผ่านมา สหรัฐฯ จะพยายามลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอน แต่ในปี 2018 ก็ยังปล่อยก๊าซคาร์บอนเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 เนื่องจากมีความต้องการใช้เครื่องปรับอากาศเพิ่มขึ้นและมีการใช้น้ำมันเพิ่ม เช่นเดียวกับจีนที่น่าจะปล่อยก๊าซคาร์บอนออกมาร้อยละ 31.7 ของทั้งโลกในปีนี้ คิดเป็นอัตราเติบโตร้อยละ 1.7 จากปี 2017 ขณะที่อินเดียน่าจะปล่อยก๊าซคาร์บอนออกมาเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.3 หลังกลับมาใช้ถ่านหินมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในสิ้นปี 2018 สหภาพยุโรปน่าจะลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ประมาณร้อยละ 0.7 และน่าจะเป็นปีแรกที่สามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนลงได้นับตั้งแต่ปี 2014

 

ปฏิวัติการใช้พลังงาน

ทั่วโลกมีความพยายามที่ปฏิวัติการใช้พลังงานไปสู่พลังงานสะอาดขึ้น โดยมีการใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม เชื้อเพลิงชีวภาพเพิ่มขึ้นทั่วโลกในอัตราการเติบโตประมาณ 2 เท่าทุกๆ 4 ปี เทรนด์นี้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องและมีอัตราเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขของข้อตกลงปารีส

อย่างไรก็ตาม การเรียกร้องให้แต่ละประเทศลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากเชื้องเพลิงฟอสซิลอย่างเท่าเทียมดูจะไม่เกิดขึ้นภายในปี 2019 เพราะอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนในปี 2018 เพิ่มขึ้นค่อนข้างสูง และมีแนวโน้มว่าปี 2019 ก็จะเพิ่มขึ้นเช่นกัน

รายงานช่องว่างการปล่อยก๊าซคาร์บอนประจำปี ซึ่งคำนวณช่องว่างระหว่างปริมาณการปล่อยมลพิษทั่วโลกกับความพยายามของทั่วโลกในการหยุดยั้งการปล่อยมลพิษ พบว่า ช่องว่างห่างกันมาก และมีแนวโน้มจะห่างขึ้นเรื่อยๆ ทุกประเทศจำเป็นต้องปรับเป้าหมายในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้จริงจังขึ้นกว่าเดิมอีก 5 เท่า เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการควบคุมอุณหภูมิโลก

 

ที่มา : The Conversation


ข่าวที่เกี่ยวข้อง :