ไม่พบผลการค้นหา
4 ปีที่ผ่านมา มีธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ เอสเอ็มอีเข้ามาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ mai 46 ราย ส่วนใหญ่มาจากอุตสาหกรรมชิ้นส่วน รองลงมาได้แก่ ค้าปลีก เกษตร-อาหาร ขนส่ง และสื่อสารเทคโนโลยี และมีมากกว่า 10 ราย เป็นธุรกิจครอบครัวที่ผันตัวเข้ามาระดมทุนในตลาดหุ้น

การเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่สำคัญของธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก เริ่มมีความหลากหลายมากขึ้นจากเดิมที่เป็นเพียงการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินเพียงอย่างเดียว สู่การระดมเงินจากตลาดหลักทรัพย์ ที่เป็นทางเลือกที่โดดเด่น เหตุผลสำคัญคือการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในราคาถูกที่สุด สร้างความน่าเชื่อถือให้กับบริษัทจากคู่ค้า รวมถึงช่วยสร้างมาตรฐานให้กับบริษัทในระยะยาว 

จากสถิติการเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ (mai) ช่องทางการระดมเงินทุนของเอสเอ็มอี ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา (2556-2560) พบว่ามีภาคธุรกิจ 46 บริษัทเข้าระดมทุน โดยอุตสาหกรรมที่เข้าระดมทุนในตลาดเอ็มเอไอมากที่สุด คือ กลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมหรือชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรม จำนวน 18 บริษัท กลุ่มค้าปลีก 5 บริษัท กลุ่มเกษตรและอาหาร 5 บริษัท กลุ่มขนส่ง 4 บริษัท กลุ่มสื่อสารและเทคโนโลยี 3 บริษัท กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ 3 บริษัท กลุ่มพลังงาน 3 บริษัท กลุ่มมีเดีย 2 บริษัท กลุ่มโรงพยาบาล 1 บริษัท และกลุ่มประกัน 1 บริษัท กลุ่มการเงิน 1 บริษัท 

โดยข้อมูลที่น่าสนใจคือ มีมากกว่า 10 บริษัทที่เป็นธุรกิจครอบครัวและเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อสร้างความยั่งยืนกับธุรกิจ

ผู้บริหารฝ่ายวาณิชธนกิจ ของบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย เปิดเผยว่า ธุรกิจที่เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ยังไม่แตกต่างจากเดิม ส่วนใหญ่ยังเป็นอุตสาหกรรมที่เติบโตได้ดี ทั้งในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว พลังงาน สุขภาพ โรงพยาบาล ซึ่งเป็นจุดเด่นของประเทศไทย  

ขณะที่ แนวโน้มการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ จะเป็นบริษัทที่เล็กลง แต่การเข้าจดทะเบียนก็จะทำได้ยากขึ้น จากการเพิ่มความเข้มงวดของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) รวมถึงการเปลี่ยนมาตรฐานทางบัญชีใหม่ ที่จะเริ่มใช้ปีหน้า (ปี 2562)


"กลุ่มธุรกิจที่เข้ายังเป็นธุรกิจเดิมๆ ที่เป็นจุดเด่นของประเทศ ทั้งกลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โรงพยาบาล เรายังไม่เห็นบริษัทในอุตสาหกรรมใหม่ๆ เข้ามาจดทะเบียน แม้กระทั่ง 10 อุตสาหกรรมที่ภาครัฐสนับสนุนก็ยังต้องรอเวลาอีกหลายปีกว่าจะเข้าระดมทุนได้"

ธุรกิจภูธรท่องยุทธภพตลาดทุน

ทิศทางการเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์หลังจากนี้ มองว่าจะเป็นกลุ่มธุรกิจต่างจังหวัดมีจำนวนเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจที่อยู่ในรูปแบบกงสี หรือ การเปลี่ยนรุ่นจากรุ่นพ่อแม่ดูแล มาเป็นรุ่นลูก จากเดิมที่รุ่นพ่ออาจจะสนใจแค่การบริหารธุรกิจภายในครอบครัว

แต่ในรุ่นลูกต้องการให้มีมืออาชีพเข้ามาบริหารธุรกิจ เพราะรุ่นลูกที่มีการศึกษาและเข้าใจธุรกิจมากขึ้น ก็จะต้องการให้บริษัทเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ เพราะประเมินว่า เป็นโอกาสที่จะสร้างการเติบโตของธุรกิจ ในต้นทุนทางการเงินที่ถูกลง หรือในรุ่นลูกบางรายไม่สนใจที่จะบริหารธุรกิจอีกต่อไปแล้ว ก็เข้าตลาดทุนเพื่อจัดโครงสร้างช่วยหาคนเก่งเข้ามาบริหาร โดยหากพิจารณาในอีกด้านก็ช่วยให้การจัดการทรัพย์สินของครอบครัวชัดเจนขึ้น แบ่งสัดส่วนการถือครองหุ้นและได้รับผลตอบแทนจากบริษัทตามการเติบโต 

นายอำนวย จิรมหาโภคา ผู้ช่วยผู้จัดการ หัวหน้ากลุ่มสายงานการตลาดผู้ออกหลักทรัพย์ 1 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ทิศทางของการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่ผ่านมานั้นจะเป็นธุรกิจครอบครัวที่เข้ามาจดทะเบียน เพื่อยกระดับบริษัทให้มีความเป็นมืออาชีพและบริหารจัดการบริษัทให้มีคุณภาพ


"ธุรกิจที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จะมีความหลากหลายของอุตสาหกรรม แต่สิ่งที่เห็นคือ ระยะหลังจะเป็นธุรกิจครอบครัว กงสีเข้ามาจดทะเบียนมากขึ้น" นายอำนวย กล่าว

สาเหตุที่ทำให้ธุรกิจครอบครัวเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มากขึ้น ส่วนใหญ่เกิดจากการเปลี่ยนรุ่นของผู้บริหารบริษัท ที่มักจะเปลี่ยนเป็นรุ่นที่ 2 หรือ รุ่นที่ 3 เข้ามาทำธุรกิจ และเข้าใจตลาดหุ้นช่วยให้บริษัทอยู่ได้ในระยะยาว แก้ปัญหาการที่รุ่นลูกหรือหลานไม่สนใจสืบทอดธุรกิจของครอบครัว ครั้นจะทิ้งสิ่งที่สร้างมาก็เป็นเรื่องยาก พ่อแม่จึงแก้ปัญหาด้วยการดึงมืออาชีพเข้ามาบริหารได้  

รุ่นใหม่นิยมระดมทุนตลาดหุ้นติดปีกธุรกิจ

การระดมทุนในตลาดทุนมีข้อดี คือได้รับเงินทุนในราคาถูก ช่วยจัดโครงสร้างบริษัทให้มีการเติบโตได้ในระยะยาว สร้างศักยภาพการเติบโตในอนาคต เห็นได้จากตัวอย่างบริษัทที่เข้าจดทะเบียนอย่างบริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ORI ผู้ประกอบอสังหาริมทรัพย์รายเล็ก เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว เริ่มต้นเข้าระดมทุนด้วยมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด 5,000 ล้านบาท มีกำไรในปีแรกเพียง 10 ล้านบาท 


โรงแรมสเตย์บริดจ์ สวีท แบงค็อก ทองหล่อ.jpg

(สเตย์บริดจ์ สวีท แบงค็อก ทองหล่อ โรงแรมในโครงการของบมจ. ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้)

เมื่อได้รับแหล่งเงินทุนและการเข้าถึงทุนในราคาต่ำ ทำให้ในปีที่ผ่านมา มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดอยู่ที่ 35,000 ล้านบาท กำไรเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2,000 ล้านบาท เป็นผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของประเทศ

หรือผู้ประกอบการอย่างบริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) TKN เข้าจดทะเบียนเมื่อ 3 ปีที่แล้วเช่นกัน ขณะนั้นมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดที่ 5,000 ล้านบาท สามารถสร้างการเติบโตให้บริษัทมีมูลค่าถึง 30,000 ล้านบาท และขยายธุรกิจไประดับโลกได้ในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ไมใช่เรื่องที่ง่าย และต้องมีความรับผิดชอบที่สูงมาก โดยเฉพาะกับนักลงทุนรายบุคคลที่เข้ามาถือหุ้นบริษัท และคาดหวังการเติบโต ดังนั้นการเข้าจดทะเบียนจะทำให้บริษัทมีระบบการทำงานและต้องปรับตัวให้เติบโตสม่ำเสมอ