การเปิดตัวของ ‘พรรคอนาคตใหม่’ นำโดย นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ จากนักธุรกิจหมื่นล้าน จนได้รับฉายาว่า ‘ไพร่หมื่นล้าน' กับ นายปิยบุตร แสงกนกกุล ‘อาจารย์มหาวิทยาลัย’ ที่เป็นนักวิชาการในสังกัดคณะนิติราษฎร์
ทั้ง ‘ธนาธร’ และ ‘ปิยบุตร’ ต่างเคยออกมาเคลื่อนไหวเสนอแก้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ก่อนหน้านี้ ทำให้การ ‘เปิดตัว’ เล่นการเมืองอย่างเป็นทางการ หลังไปจองชื่อเพื่อจัดตั้งพรรคการเมืองกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เมื่อ 15 มี.ค.ที่ผ่านมา ได้รับความสนใจไม่น้อย
แน่นอนว่าทั้ง ‘ธนาธร’ และ ‘ปิยบุตร’ ย่อมเจอคำถามถึง ‘บทบาท’ ตัวเองในอดีตอย่าง ‘ถอนรากถอนโคน’
โดยเฉพาะเรื่อง มาตรา 112 ที่เป็นเรื่อง ‘ละเอียดอ่อน’ ของสังคมไทย จะทำให้พรรคจะถูก ‘ป้ายสี’ หรือ ‘เหมารวม’ ไปหรือไม่ ?
โฟกัสไปที่ฝ่ายความมั่นคงอย่าง พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ. ในฐานะเลขาธิการ คสช. ก็ไม่ได้ ‘กังวล’ ในเรื่องนี้
“ทุกคนมีสิทธิจัดตั้งพรรค แต่จะได้รับสนับสนุนมากน้อยแค่ไหนจากพี่น้องประชาชนนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ละคนก็จะมองว่าพื้นฐานแต่ละพรรคเป็นอย่างไร ผมเชื่อว่าทุกอย่างขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของพี่น้องประชาชน” พล.อ.เฉลิมชัย กล่าว
อีกทั้งพรรคอนาคตใหม่ พยายาม ‘สร้างภาพลักษณ์’ ใหม่ เน้น ‘แนวร่วม’ และหา ‘กองหนุน’ ที่เป็น ‘คนรุ่นใหม่’
แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะทั้ง ‘ปิยบุตร-ธนาธร’ ยังถูกเชื่อมโยง ‘เกี่ยวข้อง’ กับการออกมาเคลื่อนไหวของกลุ่มนักศึกษาที่เรียกร้องให้ ‘คสช.’ คืนอำนาจให้ประชาชนด้วย
(ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ พร้อมผู้ร่วมก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่)
การ ‘แสดงจุดยืน’ ของพรรคอนาคตในวันเปิดตัวพรรคอย่างชัดเจนว่า ไม่เอา ‘คสช.’ และไม่ร่วมกระบวนการ ‘นายกฯคนนอก’ แน่นอนว่า ‘ข้อเสนอ’ เช่นนี้ และ ‘ภูมิหลัง’ ที่มีมา ย่อมเป็นที่จับตาของ ‘ฝ่ายความมั่นคง’ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
จึงทำให้ ‘พรรคอนาคตใหม่’ ถูกจัดไว้ในกลุ่ม ‘ต้าน คสช.’ ทันที พร้อมถูก ‘เหมารวม’ เป็นพรรค ‘เครือข่าย’ ของ ‘เพื่อไทย’ และ ‘คนเสื้อแดง’ ไปด้วย
แม้จะพยายามนำเสนอเป็น ‘ทางเลือก’ ของ ‘คนรุ่นใหม่’ ที่ ‘เบื่อหน่าย’ การเมืองในอดีตก็ตาม ที่หวัง ‘เปลี่ยนแปลง’ ประเทศ
“ผมมองว่าการที่คนรุ่นใหม่เข้ามาเล่นการเมือง จะคาดหวังหรือไม่คาดหวัง เป็นเรื่องปกติ บ้านเมืองเราจะเป็นยุคสมัยเปลี่ยนผ่านไป เหมือนกรณีผมออกไป ก็จะมีคนรุ่นใหม่เข้ามา เป็นเรื่องปกติธรรมดา แต่การเลือกตั้งขึ้นอยู่กับพี่น้องประชาชนว่าคิดเรื่องเหล่านี้อย่างไร” พล.อ.เฉลิมชัย กล่าว
(พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ. และ เลขาธิการ คสช.)
อีกทั้งพรรคอนาคตใหม่ ยังเสนอให้ คสช. ผ่อนคลายและปลดล็อกพรรค เพื่อสร้างบรรยากาศการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นช่วง ก.พ. ปี 2562 ซึ่งข้อเสนอนี้ก็ยังไม่ได้รับ ‘ความสนใจ’ จากฝ่ายความมั่นคง เพราะทุกอย่างต้องเป็นไปตามขั้นตอน
ซึ่งการตัดสินใจทั้งหมดนี้อยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมตรีและ รมว.กลาโหม
“เขาคิดได้ ก็คิดไป เรื่องจะทำเป็นเรื่องของคสช.“ พล.อ.ประวิตร เมินข้อเสนอ
แน่นอนว่า ‘ศึก’ เลือกตั้งครั้งนี้ ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับ ‘พรรคอนาคตใหม่’ ที่ยังต้องเจอ ‘เครือข่าย’ พรรคขั้วตรงข้าม ทั้ง ‘นอมินี คสช.’ และ ‘กปปส.’ ที่ยืนยันสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ทั้งแบบเปิดเผยและเก็บไว้ในใจ ที่ล้วนไม่ปิดประตูตายกับสูตร ‘นายกฯคนนอก’
ถือเป็นการ ‘ต่อสู้’ ตามระบบที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายพรรคการเมือง ที่ ‘คสช.’ ไม่ต้อง ‘เปิดหน้าสู้’ ให้ ‘เปลืองตัว’
แต่ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์หนักว่า ‘คสช.’ จะ ‘กลั่นแกล้ง’ พรรคอนาคตใหม่ หรือ พรรคแนวร่วม ‘เพื่อไทย-เสื้อแดง’ หรือไม่ เช่น ทำให้ ‘ล้ม’ ตั้งแต่ยังไม่เริ่มวิ่ง
แน่นอนว่าเป็นไปได้ยาก เพราะหาก ‘เป็นจริง’ ก็จะ ‘ชัดเจน’ จนเกินไป ในกระบวนการ ‘ต่อสู้’ ครั้งนี้ของแต่ละฝ่าย และไม่เป็นผลดีต่อ ‘ขั้วตรงข้าม’ พรรคอนาคตใหม่เอง
แต่สิ่งที่ คสช. อย่าได้ประมาท คือ ‘เสียงจากประชาชน’ เพราะเมื่อช่วงปลายเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ‘สวนดุสิตโพล’ สำรวจความเห็นจากประชาชน 1,185 คน พบว่า ประชาชนไม่เห็นด้วย กับการตั้งพรรคการเมืองหนุน ‘พล.อ.ประยุทธ์’ นั่งนายกฯต่อ ร้อยละ 58.95 เพราะพรรคการเมืองควรเป็นอิสระ เป็นกลาง มีนโยบายชัดเจน เน้นทำเพื่อประชาชน พัฒนาบ้านเมือง ไม่ควรสนับสนุนใคร ที่เป็นการสืบทอดอำนาจ
ส่วนร้อยละ 35.37 เห็นด้วย เพราะเป็นสิทธิที่ทำได้ ทำให้มีพรรคใหม่ๆ ตัวเลือกมากขึ้น
แต่อย่าลืม ว่า ช่วงที่ทำโพล นั้น โครงการไทยนิยมยั่งยืน ของรัฐบาลยังไม่เริ่มคิกออฟ และยังเป็นช่วงที่ คสช. ‘กองหนุน’ ลดลง แน่นอนว่าต้องจับตา ‘ผลโพล’ ในอนาคต หลังแต่ละกลุ่ม ‘เปิดตัว’ ไปจดจัดตั้งพรรค และ ‘ไทยนิยม ยั่งยืน’ ลงไปทุกหย่อมหญ้าแล้ว
ที่สำคัญ ‘กองทัพ’ กำลังถูกจับตาในเรื่อง ‘การวางตัว’ ช่วงก่อนการเลือกตั้ง เพราะในห้วงเวลานี้ ‘คสช.’ ยังคงคุมอำนาจอยู่
แม้ ‘คสช.’ จะไม่ได้เกี่ยวข้องกับ ‘กระบวนการจัดเลือกตั้ง’ โดยตรง เพราะเป็นหน้าที่ กกต.
แต่การดูแล ‘ความสงบเรียบร้อย’ ยังคงเป็นเรื่องของฝ่ายความมั่นคง ซึ่ง ‘ผบ.เหล่าทัพ’ ในฐานะ ‘สมาชิกคสช.’ ต่างประสานเสียง ‘ไม่ยุ่งการเมือง’
ขณะเดียวกัน คสช.จะต้องอยู่ในอำนาจต่อไปจนกว่าจะมี ‘ครม.ชุดใหม่’ จากการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรก หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 ตาม มาตรา 265 ในบทเฉพาะกาล จึงทำให้ข้อเสนอของ ‘กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง’ ที่เสนอให้ ‘ยุบ คสช.’ และเป็น ‘รัฐบาลรักษาการ’ เป็นอันตกไป
“เราจะวางตัวเป็นกลางทางการเมือง ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวหรือแทรกแซงกลไกลต่างๆทางการเมือง” พล.อ.อ.จอม รุ่งสว่าง ผบ.ทอ.
“ให้เป็นเรื่องของการเมือง ฝ่ายทหารก็ทำหน้าที่ไป ถ้าในบทบาทของประชาชน สิ่งใดเป็นสิทธิหน้าที่ก็ทำไป” พล.อ.ธารไชยยันต์ ศรีสุวรรณ ผบ.ทสส. กล่าว
โดยเบื้องต้น คสช. เตรียมประชุมพรรคการเมืองใหม่และเก่า ช่วงเดือน มิ.ย.นี้ หลังมีการยื่นจดแจ้งจัดตั้งพรรคการเมืองกับ กกต. และกฎหมาย ส.ว.- ส.ส. ผ่านการพิจารณาเรียบร้อย เพื่อ ‘หารือ’ แนวทางต่างๆ และนำไปสู่การ ‘ปลดล็อกพรรคการเมือง’
เพราะจะต้องแก้คำสั่ง คสช. ในการห้ามชุมนุมเกิน 5 คนด้วย แน่นอนว่า จะต้องมี ‘เงื่อนไข’ ให้ปฏิบัติตาม
นั่นจะทำให้ ‘การเคลื่อนไหว’ ของ ‘พรรค-กลุ่ม’ ต่างๆ จะชัดเจนขึ้นในเดือน พ.ค.นี้ด้วย หลัง กกต. จะเปิดให้ ‘พรรคเก่า’ ไปยื่นตั้งพรรค ซึ่งจะทำให้การแสดงจุดยืนและข้อเสนอเพื่อ ‘ต่อรอง’ กับ ‘คสช.’ และ ‘ฝ่ายการเมือง’ จะเริ่มผุดออกมาเรื่อยๆ
พร้อมกับการ ‘ปรากฏกาย’ ของผู้นำพรรคเก่าๆ ที่ยังสามารถกำหนด ‘ทิศทาง’ การเมืองได้อยู่ มหกรรม ‘ดีล’ จะเริ่มเกิดขึ้นในไม่ช้า เพราะว่ากันว่า ฝากฝั่ง ‘เพื่อไทย-เสื้อแดง’ ก็จะมี ‘พรรคแนวร่วม-นอมินี’ ตั้งขึ้นมาด้วย
การเปิดตัวของ ‘พรรคอนาคตใหม่’ จึงเป็นแค่ ‘ออเดิร์ฟ’ เท่านั้น !!
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง