ไม่พบผลการค้นหา
สหประชาชาติระบุว่า อุดมการณ์ทางการเมืองมีผลต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง เพราะประชาชนจะคิดว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่สำคัญนัก หากวิธีการแก้ไขปัญหาขัดกับวิธีการมองโลกของพวกเขา

สหประชาชาติเปิดเผยรายงานการประเมินผลความก้าวหน้าด้านการแก้ไขปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ซึ่งไม่แตกต่างไปจากปีก่อนๆ นั่นก็คือ ปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงย่ำแย่ แต่ปีนี้เป็นปีแรกที่รายงานของยูเอ็นเน้นย้ำว่าอุดมการณ์ทางการเมืองเป็นอุปสรรคต่อการเปลี่ยนแปลงเพื่อยับยั้งภาวะโลกร้อน

การคำนวณ “ช่องว่างการปล่อยก๊าซคาร์บอน” ประจำปี หรือการคำนวณช่องว่างระหว่างปรมาณการปล่อยมลพิษทั่วโลกกับความพยายามของทั่วโลกในการหยุดยั้งการปล่อยมลพิษ ปีนี้พบว่า พฤติกรรมและวัฒนธรรมของบางประเทศ เช่น สหรัฐฯ เป็นอุปสรรคในการบรรลุเป้าหมายการลดมลพิษ เพราะมีแนวโน้มว่าประชาชนจะตั้งคำถามกับปัญหาสิ่งแวดล้อม หากวิธีการแก้ไขปัญหาขัดกับวิธีการมองโลกของพวกเขา

เมื่อปี 2015 การประเมินของนักวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงพบว่า การจะบรรลุเป้าหมายที่ตกลงกันไว้ว่าจะต้องจำกัดไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นจากช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรมเกิน 1.5 องศาเซลเซียส จะต้องมีการปรับเป้าหมายที่แต่ละประเทศเสนอให้จริงจังขึ้นกว่าเดิมอีก 5 เท่า

สเตฟานี ไฟเฟอร์ ซีอีโอของ Institutional Investors Group on Climate Change กล่าวว่า ผ่านไป 3 ปี การปล่อยก๊าซคาร์บอนยังสูงขึ้นเรื่อยๆ และหากยังปล่อยไว้เช่นนี้ ก็จะเกิดผลกระทบตามมาที่ร้ายแรงและต้องสูญเสียเงินจำนวนมหาศาล

นอกเหนือจากการประเมินนโยบายการแก้ไขปัญหาอย่างที่เคยทำมา รายงานปี 2018 กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเป็นเรื่องสำคัญในการสร้างแรงสนับสนุนโยบายสิ่งแวดล้อม เวลาที่เสนอนโยบายการกำหนดราคาคาร์บอน ประชาชนบางส่วนมักจะต่อต้านนโยบาย หรือคิดว่าปัญหาไม่ได้สำคัญนัก หากวิธีแก้ไม่น่าสนใจ

ผู้เขียนรายงานระบุว่า การวิจัยทางเศรษฐกิจช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาชี้ว่า มนุษย์ไม่ได้ตัดสินใจด้วยเหตุผลเพียงอย่างเดียว รายงานของยูเอ็นระบุว่าค่าใช้จ่ายและพฤติกรรมทางการเมืองเป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูปงบประมาณเพื่อรับมือกับปัญหาสภาพภูมิอากาสเปลี่ยนแปลง ลดช่องว่างระหว่างนโยบายปัจจุบันกับสิ่งที่ผลวิจัยแนะนำว่าเหมาะสมเพื่อให้อุตสาหกรรมพลังงานสะอาดขึ้น

รายงานช่องว่างการปล่อยก๊าซคาร์บอนยังระบุการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนที่จะเป็นไปได้จากรัฐบาลท้องถิ่น บริษัทเอกชนและนักลงทุน โดยการประเมินแบบที่มองโลกในแง่ดีที่สุดสรุปว่า หากทุกประเทศทำได้ตามเป้าหมายจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้ 19,000 ล้านตันต่อปีภายในปี 2030 หรือมากพอที่จะปิดช่องว่างระหว่างปริมาณการปล่อยมลพิษทั่วโลกกับความพยายามของทั่วโลกในการหยุดยั้งการปล่อยมลพิษไปได้

ที่มา : Bloomberg