ไม่พบผลการค้นหา
นายกฯแพทองธาร ร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 45 (แบบไม่เป็นทางการ) ย้ำการส่งเสริมความเป็นแกนกลางและหนึ่งเดียวกันของอาเซียน “ASEAN unity and centrality” ท่ามกลางภูมิรัฐศาสตร์ที่ซับซ้อนและการแข่งขันระหว่างมหาอำนาจ

วันนี้ (9 ต.ค.2567) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมและกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 45 (แบบไม่เป็นทางการ) โดยนายกรัฐมนตรีเห็นพ้องและมีความกังวลที่โลกกำลังเผชิญกับความท้าทายที่ซับซ้อนมากขึ้น และความมั่นคงของภูมิภาคอาเซียนกำลังถูกหล่อหลอมโดยปัจจัยภายนอกมากขึ้น การแข่งขันระหว่างมหาอำนาจและความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นทั่วโลกทำให้ขาดความไว้วางใจ ควบคู่ไปกับความเป็นพหุภาคีนิยมและภูมิภาคนิยมอ่อนแอลง

อาเซียนต้องมุ่งมั่นในการเสริมสร้างประชาคมอาเซียน รักษาและคงความเป็นอาเซียนที่แข็งแกร่งและเป็นหนึ่งเดียว ความเป็นผู้นำร่วมกันของอาเซียนในการส่งเสริมผลประโยชน์ในภูมิภาคจะมีความสำคัญยิ่งในการเสริมสร้างความเป็นแกนกลางของอาเซียน และทำให้กรอบการทำงานที่อาเซียนเป็นผู้นำมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับพันธมิตรภายนอก ผ่านการหารือและความร่วมมือแบบครอบคลุมภายใต้มุมมองของอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก

ทั้งนี้ ไทยในฐานะผู้ส่งเสริมสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันจะทำงานอย่างใกล้ชิดกับสมาชิกอาเซียน เพื่อรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค เสริมสร้างอาเซียนในฐานะผู้เล่นระดับโลกที่มีความรับผิดชอบในภูมิรัฐศาสตร์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อาเซียนจะต้องมีจุดยืนที่เป็นหลักการแต่ไม่เลือกข้างในประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อภูมิภาคและประชาชน ขณะที่การแข่งขันกันระหว่างมหาอำนาจ ทะเลจีนใต้ถือเป็นจุดความขัดแย้ง ไทยเรียกร้องให้ทุกฝ่ายใช้ความยับยั้งชั่งใจ หลีกเลี่ยงการกระทำที่ยั่วยุ และร่วมมือกันอย่างสร้างสรรค์เพื่อแก้ไขข้อพิพาทอย่างสันติ ประเทศไทยมุ่งมั่นที่จะสรุปการเจรจาจัดทำประมวลการปฏิบัติในทะเลจีนใต้ (Code of Conduct: COC) ที่มีประสิทธิผลและเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุดตามกฎหมายระหว่างประเทศ ในระหว่างนี้จะต้องรับรองเสรีภาพในการเดินเรือและการบินเหนือทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นเส้นทางการค้าสำคัญที่สำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไทยมีความกังวลเช่นเดียวกันกับทั่วโลกเกี่ยวกับสถานการณ์ในตะวันออกกลาง รวมถึงวิกฤตด้านมนุษยธรรมในฉนวนกาซา ไทยสนับสนุนความพยายามทั้งหมดในการบรรลุข้อตกลงการหยุดยิง การปล่อยตัวพลเรือนทุกคนอย่างไม่มีเงื่อนไข รวมถึงพลเมืองอาเซียน ตลอดจนการเข้าถึงบริการด้านมนุษยธรรมอย่างไม่มีข้อจำกัด ประเทศไทยสนับสนุนการแก้ไขความขัดแย้งโดยสันติ เพื่อบรรลุแนวทางสองรัฐ (two-State solution)

สำหรับประเด็นเมียนมา ทยให้ความสำคัญสูงสุด ในฐานะเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนยาวกว่า 2,400 กิโลเมตร ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้ง ตั้งแต่ผู้พลัดถิ่น การอพยพเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย การหยุดชะงักทางการค้าและการดำรงชีวิต ปัญหาสุขภาพของประชาชน ไปจนถึงอาชญากรรมข้ามชาติ โดยเฉพาะยาเสพติดและการหลอกลวงออนไลน์ โดยนายกรัฐมนตรีได้หยิบยก 4 ประเด็นสำคัญต่อเรื่องนี้ 

1. ไทยจะทำงานร่วมกับมิตรประเทศในอาเซียน และภายนอกเพื่อเมียนมาที่สงบสุข มั่นคง และเป็นหนึ่งเดียว ซึ่งถือเป็นผลประโยชน์ร่วมกันของประเทศในภูมิภาคนี้

2. ไทยจะมีบทบาทเชิงรุกมากขึ้นในการนำสันติภาพในเมียนมากลับคืนมา โดยจะเพิ่มความร่วมมือทวิภาคีกับเมียนมา และสนับสนุนกระบวนการอาเซียนต่อไป ไทยชื่นชมการทำงานของสปป. ลาว ในฐานะประธานอาเซียน โดยเฉพาะผู้แทนพิเศษเรื่องเมียนมาของประธานอาเซียน (special envoy) อาลุนแก้ว และไทยจะทำงานอย่างใกล้ชิดกับมาเลเซียประธานอาเซียนในวาระต่อไป

3. อาเซียนควรเป็นหนึ่งเดียวในการส่งสารถึงทุกฝ่ายในเมียนมาว่า การใช้กำลังทางทหารไม่ใช่ทางออก เป็นเวลาที่ต้องเริ่มพูดคุยกัน ประเทศไทยพร้อมที่จะช่วยเหลือ สิ่งสำคัญคือให้ทุกฝ่ายกลับเข้าสู่กระบวนการทางการเมืองและหาทางออกทางการเมือง 

4. อาเซียนควรเร่งให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในระยะสั้นและเร่งการพัฒนาเมียนมาในระยะยาว โดยประเทศไทยได้บริจาคเงิน 290,000 เหรียญสหรัฐฯ ให้กับศูนย์ AHA เพื่อช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในเมียนมา และประเทศไทยพร้อมที่จะช่วยเหลือชาวเมียนมามากขึ้น