ชาลส์ นิกซ์ (Charles Nix) ผู้อำนวยการออกแบบอักษรแห่งโมโนไทป์ (Monotype) บริษัทออกแบบชุดตัวอักษรที่ใหญ่สุดในโลก ซึ่งปัจจุบันถือลิขสิทธิ์ฟอนต์เฮลเวติกาอยู่ กล่าวถึงข้อบกพร้องของเฮลเวติกาว่า ไม่ชอบเลยที่ตัวอักษรเบียดกันแน่นเวลาปรับเป็นขนาดเล็ก แล้วระยะห่างระหว่างตัวอักษรก็ไม่สม่ำเสมอ
ไม่กี่ปีมานี้ นิกซ์และนักออกแบบอักษรคนอื่นๆ แห่งโมโนไทป์เริ่มเล็งเห็นแล้วว่า เฮลเวติกาต้องได้รับการแปลงโฉม เพราะปัญหาของชุดตัวอักษรยอดนิยมชักจะเริ่มเด่นชัดขึ้นทุกที บริษัทรายใหญ่หลายแห่งที่ใช้เฮลเวติกากันมาอย่างยาวนานก็ทยอยหันหลังให้ อย่างกูเกิลก็หยุดใช้เฮลเวติกาเมื่อปี 2011 แล้วหันไปใช้ชุดตัวอักษรเฉพาะที่มีลักษณะคล้ายกัน แต่ดีกว่าแทน แอปเปิลเองตามไปอีกรายในปี 2013 ด้วยการใช้ชุดตัวอักษรของตัวเอง ไอบีเอ็ม และเน็ตฟลิกซ์ก็ด้วย
กลับมา ณ ปัจจุบัน โมโนไทป์ได้แปรงโฉมเฮลเวติกาใหม่ด้วยความหวังว่า ชุดอักษรรุ่นเก๋าจะกลับมาสปาร์กจอยอีกครั้งในชื่อ เฮลเวติกา นาว (Helvetica Now) โดยโมโนไทป์ต้องการให้ชุดตัวอักษรที่ปรับโฉมใหม่เหมาะกับโลกดีไซน์ในศตวรรษที่ 21 ด้วยการออกแบบให้สามารถอ่านได้ง่ายขึ้นเมื่ออักษรมีขนาดเล็ก เช่น เมื่อข้อความปรากฏบนหน้าจอนาฬิกาข้อมืออัจฉริยะ แอปเปิลวอตช์ และยังมีสเกลสมส่วนเมื่อต้องปรากฏบนป้ายบิลบอร์ดขนาดยักษ์
นิกซ์ใช้เวลา 2 ปีกับการออกแบบชุดตัวอักษรเฮลเวติกา นาว หวังจะทำให้นักออกแบบได้มองเฮลเวติกาผ่านมุมใหม่อีกครั้ง เพราะสำหรับตัวเขาเองแล้ว ชุดตัวอักษรดังกล่าวเป็นเหมือน “คนที่คุณรัก ในยามที่แดดทอดตัวกระทบร่างนั้นอย่างสมบูรณ์แบบในเช้าวันเสาร์ แล้วทันใดคุณก็ได้เห็นเขาหรือเธออย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ให้ความรู้สึกราวกับตกหลุมรักอีกครั้ง”
เฮลเวติกา หรือเดิมมีชื่อว่า นอยเออ ฮาส โกรเทสก์ (Neue Haas Grotesk) ถูกออกแบบขึ้นในปี 1957 โดยนักออกแบบชาวสวิสสองรายคือ แม็กซ์ เมียดิงเงอร์ (Max Miedinger) และเอดูอาร์ด ฮอฟฟ์แมน (Edouard Hoffman) ด้วยแนวติดที่จะออกแบบชุดตัวอักษรที่เรียบง่ายสะอาดตา เป็นชุดของอักษรที่ปล่อยให้คำพูดได้แสดงบทบาทของมันอย่างเต็มที่ โดยไม่ไปแย่งซีน
การเปลี่ยนแปลงชุดตัวอักษรเฮลเวติกาครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในปี 1983 โดยบริษัทออกแบบอักษรลิโนไทป์ (Linotype) ได้ออกเฮลเวติกาเวอร์ชันใหม่ชื่อ นอยเออ เฮลเวติกา (Neue Helvetica) ซึ่งเป็นเวอร์ชันแรกที่หลายคนคุ้นเคยกันผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ และนิกซ์มองว่านั่นเป็นช่วงเวลาที่ผ่านมานานมากแล้ว สิ่งหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงคือ ในช่วงเวลานั้น การแสดงผลผ่านหน้าจอ และอินเทอร์เน็ตไม่ใช่ปัจจัยสำคัญในการออกแบบชุดตัวอักษร เฮลวิติกา นาว ต้องการจะแก้ไขข้อบกพร่อง เพื่อปรับปรุงให้เหมาะกับยุคดิจิทัลอีกครั้ง
อักษรในชุดเฮลเวติกา นาว นั้นรวมไปถึง เฮลเวติกา นาว ไมโคร (Helvetica Now Micro) สำหรับแสดงผลบนหน้าจอขนาดเล็ก ฟอนต์มีลักษณะหัวเปิดมากขึ้น ตัวกว้างขึ้น เพิ่มความสูงของอักษรตัวพิมพ์เล็ก เมื่อให้อ่านง่ายแม้มีขนาดเล็ก เฮลเวติกา นาว ดิสเพลย์ (Helvetica Now Display) ปรับให้ช่องไฟระวห่างอักษรขนาดใหญ่สม่ำเสมอกัน เฮลเวติกา นาว เท็กซ์ (Helvetica Now Text) สำหรับใช้ในพื้นที่ที่แน่นคับ จึงมีพื้นที่ว่าง (white space) มากกว่า เพื่อให้อ่านได้ง่าย
นอกจากนี้ เฮลวิติกา นาว ยังนำลักษณะบางอย่างที่หายไปนาน กลับมาเป็นตัวเลือกให้ใช้กันเช่น ตัว a แบบชั้นเดียว และตัว R แบบขาตรง ซึ่งเป็นเสน่ห์แบบดั้งเดิมของเฮลเวติกาที่หายไป รวมถึงมีทางเลือกใหม่ๆ อย่างตัว t เล็กที่ไม่มีหาง การแยกลักษณะตัว l (แอล) เล็ก และตัว I (ไอ) ใหญ่ออกจากกัน หรือตัว G ใหญ่ที่กลมขึ้น นิกซ์เชื่อว่านี่เป็นการปรับตัวอักษรให้เข้ากับยุคสมัยที่เราอยู่กันมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม เฮลเวติกาแบบที่เราคุ้นเคยคงยังไม่หายไปไหนในเร็ววันนี้ เนื่องจากบริษัทต่างๆ และเหล่านักออกแบบจำเป็นต้องซื้อลิขสิทธิ์ของเฮลเวติกา นาว ตัวใหม่เพื่อใช้งาน ถึงอย่างนั้น นิกซ์ก็เชื่อว่านี่เป็นเหมือนกับการอัพเกรดซอฟต์มือถือ สุดท้ายทุกคนก็จะต้องอัพเกรด
“เดี๋ยวคุณก็จะได้เห็นมันอยู่ในทุกๆ ที่ โดยทุกๆ คน บนทุกๆ อย่าง มันจะอยู่ทุกแห่งหน” นิกซ์ย้ำ
ที่มา: