ไม่พบผลการค้นหา
เว็บไซต์ไอลอว์ตั้งข้อสังเกตพร้อมลำดับเหตุการณ์ กรณีของธนาธร ที่ถูกข้อหามาตรา 116 เป็นคดีของสน.สำราญราษฎร์ แต่กลับไปแจ้งที่ สน.ปทุมวัน เมื่อพนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจ คดีก็ต้องยกฟ้้อง

ไอลอว์ หรือโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน  ย้อนรอยเหตุการณ์ชุมนุมต้าน คสช. ตั้งแต่ปี 2558 อันนำมาสู่การดำเนินคดีเป็นชุดๆ หลายคดีที่แม้แต่ทหารผู้แจ้งความเอาผิดเองก็จำสับสน กรณีของธนาธร ที่ถูกข้อหามาตรา 116 เป็นคดีของสน.สำราญราษฎร์ แต่กลับไปแจ้งที่ สน.ปทุมวัน เมื่อพนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจ คดีก็ต้องยกฟ้้อง

โดยลำดับเหตุการณ์มีดังนี้

1. ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 1 ปี การเข้ายึดอำนาจของ คสช. กลุ่มนักกิจกรรมนัดทำกิจกรรมยืนดูนาฬิกาที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) แต่ถูกตำรวจใช้กำลังเข้าสกัดและจับกุมผู้เข้าร่วมกิจกรรมไป 32 คน ต่อมา 9 คนถูกหมายเรียกในข้อหาชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ขัดต่อคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 (ดูรายละเอียดคดีนี้ต่อ ได้ที่ http://freedom.ilaw.or.th/th/case/687)

อีกด้านหนึ่งที่จังหวัดขอนแก่น นักศึกษากลุ่มดาวดิน 7 คน ทำกิจกรรมชูป้ายคัดค้านการรัฐประหารที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จ.ขอนแก่น และถูกตำรวจเข้าจับกุมทันทีขณะชูป้าย ทั้ง 7 คนถูกตั้งข้อหาชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ขัดต่อคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 (ดูรายละเอียดคดีนี้ต่อ ได้ที่ http://freedom.ilaw.or.th/th/case/683)

2. ต่อมานักศึกษากลุ่มดาวดินทั้ง 7 คนที่ถูกตั้งข้อหา ประกาศอารยะขัดขืน เนื่องจากเห็นว่า คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่นำมาใช้ตั้งข้อหาดำเนินคดีครั้งนี้ไม่ใช่กฎหมายที่ออกมาโดยชอบธรรม จึงไม่ยอมรับการดำเนินคดี ไม่เข้าร่วมกระบวนการ และไม่ไปรายงานตัวตามกำหนดนัดของคดี ส่วนกลุ่มนักกิจกรรมที่ถูกจับจากหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร 7 จาก 9 คน ก็ประกาศอารยะขัดขืน โดยไม่ยอมลงนามในเอกสารของตำรวจ และไม่ยอมเข้าร่วมกระบวนการใดๆ

ตำรวจ สน.ปทุมวัน ซึ่งเป็นตำรวจที่รับผิดชอบท้องที่บริเวณหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ออกหมายเรียกให้ผู้ต้องหาทั้ง 7 คน ไปรับทราบข้อกล่าวหาตามกระบวนการที่ สน.ปทุมวัน ในวันที่ 24 มิถุนายน 2558

3. วันที่ 24 มิถุนายน 2558 ผู้ต้องหาทั้ง 7 คนที่ได้รับหมายเรียกเดินทางไปที่หน้า สน.ปทุมวัน พร้อมด้วยเพื่อนนักศึกษาและประชาชนที่เดินทางมาให้กำลังใจหลายร้อยคน เมื่อไปถึงหน้า สน.ปทุมวันก็ประกาศอารยะขัดขืน แสดงเจตนาว่า จะไม่หลบหนี แต่ไม่ขอเข้ารายงานตัวตามที่ถูกเรียก ในทางตรงกันข้ามจะขอเข้าแจ้งความในฐานะผู้เสียหายที่ถูกตำรวจทำร้ายร่างกายระหว่างการเข้าจับกุม ด้านนักศึกษากลุ่มดาวดินทั้ง 7 คน ก็เดินทางมาร่วมให้กำลังใจและประกาศอารยะขัดขืนทำกิจกรรมอยู่ที่หน้า สน.ปทุมวันด้วยกันตลอดทั้งวัน

จากการเจรจากับเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้วได้ผลลัพธ์ว่า คนที่ถูกออกหมายเรียกทั้ง 7 คน หากไม่เข้าไปรายงานตัวในวันนั้นก็ไม่เป็นไร แต่ก็จะเข้าไปแจ้งความไม่ได้ เพราะถ้าเข้าไปที่ สน. แล้วก็จะถูกดำเนินการตามหมายเรียก กลุ่มนักกิจกรรมจึงส่งตัวแทนคนอื่นที่ได้รับบาดเจ็บจากการจับกุมแต่ไม่ถูกออกหมายเรียกเข้าไปแจ้งความแทน ส่วนคนที่ถูกออกหมายเรียกก็รออยู่ด้านนอก กิจกรรมในวันที่ 24 มิถุนายน 2558 ที่หน้า สน.ปทุมวัน ดำเนินไปถึงช่วงค่ำ ทุกคนก็แยกย้ายกันกลับบ้านโดยสงบ นักกิจกรรมที่มีหมายเรียกติดตัวหลายคนแยกย้ายกันกลับไปเข้าที่พักโดยรถหลายคัน หนึ่งในนั้นเป็นรถของธนาธรที่มาช่วยพานักกิจกรรมไปเข้าที่พักด้วย

4. วันต่อมา 25 มิถุนายน 2558 นักกิจกรรมที่ทำกิจกรรมที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร 7 คน และนักศึกษากลุ่มดาวดิน 7 คน รวมเป็น 14 คน ร่วมกันทำกิจกรรมในนาม "ขบวนการประชาธิปไตยใหม่" ออกมาเดินขบวนคัดค้านการรัฐประหาร และอำนาจของ คสช. บริเวณถนนราชดำเนิน และอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และกลับไปพักค้างคืนที่สวนเงินมีมา ถ.เจริญนคร

วันที่ 26 มิถุนายน 2558 คสช. ให้ตำรวจหลายสิบนายบุกเข้าจับกุมทั้ง 14 คนจากที่พักที่สวนเงินมีมา และพาตัวไปที่ สน.สำราญราษฎร์ ซึ่งรับผิดชอบดูแลท้องที่บริเวณถนนราชดำเนิน ในช่วงดึก เพื่อให้พนักงานสอบสวนที่สน.สำราญราษฎร์ ที่มีอำนาจเป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหาฐานยุยงปลุกปั่น ตามมาตรา 116 จากการทำกิจกรรมเดินขบวนในวันที่ 25 มิถุนายน และถูกส่งตัวไปศาลทหารกรุงเทพเพื่อฝากขังทันทีในช่วงกลางดึก ทั้ง 14 คนถูกส่งตัวเข้าเรือนจำและถูกคุมขังอยู่ 12 วัน ก่อนที่ศาลทหารจะสั่งให้ปล่อยตัวตามกระแสเรียกร้องจากสังคม (ดูรายละเอียดคดีนี้ต่อ ได้ที่ http://freedom.ilaw.or.th/th/case/685)

5. ต่อมา สุลักษณ์ ศิวรักษ์ และบารมี ชัยรัตน์ ในฐานะผู้ดูแลสวนเงินมีมา ถูกกล่าวหาแบบเหมารวมว่า เป็นผู้ร่วมก่อการในการเดินขบวนวันที่ 25 มิถุนายน ด้วย จึงถูกออกหมายเรียกให้มารับทราบข้อกล่าวหา มาตรา 116 ร่วมกันขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ที่ สน.สำราญราษฎร์ ด้าน ศิริกาญจน์ เจริญศิริ หรือ "ทนายจูน" ที่เข้าช่วยเหลือคดีของนักกิจกรรมทั้ง 14 คนก็ถูกกล่าวหาว่า ร่วมก่อการและถูกเรียกให้มารับทราบข้อกล่าวหา มาตรา 116 ที่ สน.สำราญราษฎร์ ด้วย

เรื่องนี้จึงมีผู้ต้องหาที่ถูกกล่าวหาว่า ร่วมกันทำผิดฐานยุยงปลุกปั่น ตามมาตรา 116 ทั้งหมด 17 คน ทุกคนถูกดำเนินคดีที่ สน.สำราญราษฎร์ ซึ่งเป็นท้องที่ที่รับผิดชอบพื้นที่ที่ใช้จัดกิจกรรม และคดีก็ยังค้างคาไม่ไปถึงไหน ไม่มีการเร่งรัดหรือเรียกผู้ต้องหามาดำเนินคดีต่อมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว

สรุปแล้วคดีความที่เกี่ยวข้องกับการทำกิจกรรมต่อต้าน คสช. ในปี 2558 ถูกแยกออกเป็นสามคดีหลัก ดังนี้

1) คดีการชุมนุมที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 มีผู้ต้องหา 9 คน แต่ 7 คนไม่เข้าร่วมกระบวนการ คดีของ 2 คน จึงถูกแยกออกมาและส่งฟ้องต่อศาลทหารกรุงเทพไปก่อน เป็นคดีย่อยอีกคดีหนึ่ง (ดูได้ที่ http://freedom.ilaw.or.th/th/case/688) แต่ต่อมาเมื่อคำสั่งห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปถูกยกเลิก คดีที่เกี่ยวข้องจึงถูกยกเลิกทั้งหมด

2) คดีการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 มีผู้ต้องหา 7 คน ซึ่งประกาศไม่เข้าร่วมกระบวนการ แต่บางคนถูกจับกุมก่อนจึงถูกส่งฟ้องดำเนินคดีต่อศาลทหารขอนแก่นไปก่อน เช่น "ไผ่ ดาวดิน" และ "ไนซ์ ดาวดิน" (ดูได้ที่ http://freedom.ilaw.or.th/th/case/836) แต่ต่อมาเมื่อคำสั่งห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปถูกยกเลิก คดีที่เกี่ยวข้องจึงถูกยกเลิกทั้งหมด

3. คดีการชุมนุมที่ถนนราชดำเนินในนามขบวนการประชาธิปไตยใหม่ เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2558 มีผู้ต้องหา 17 คน (ไม่รวมธนาธร) แต่คดียังค้างอยู่กับพนักงานสอบสวน สน.สำราญราษฎร์ ไม่ได้ถูกเร่งรัดให้รีบดำเนินคดีแม้ผู้ต้องหาบางคน เช่น "ไผ่ ดาวดิน" หรือรังสิมันต์ โรม จะถูกจับกุมจากกรณีอื่นๆ แล้วแต่ก็ไม่ถูกดำเนินคดีนี้ และเนื่องจากคดีนี้มีข้อหามาตรา 116 ด้วย ไม่เพียงแต่ข้อหาตามคำสั่งหัวหน้า คสช. เท่านั้น ทำให้คดีนี้เป็นคดีเดียวที่ยังเหลือค้างอยู่

กรณีของธนาธร หากจะถูกกล่าวหาและดำเนินคดีในฐานะเป็น "ตัวการร่วม" หรือผู้ร่วมก่อการกับกลุ่มนักกิจกรรมที่ชุมนุมต่อต้าน คสช. ก็เหลือคดีที่ยังไม่จบที่สามารถโยงเข้าไปได้อยู่คดีเดียว คือ คดีจากการชุมนุมที่ถนนราชดำเนิน เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2558 และเป็นคดีเดียวที่มีข้อหา มาตรา 116 อยู่ก่อนแล้วด้วย ส่วนคดีอื่นๆ นั้นยุติไปหมดก่อนหน้านี้แล้ว

ไอลอว์ ระบุว่า หลักการของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 18 คดีความที่เกิดขึ้นแต่ละคดี ไม่สามารถถูกสอบสวน หรือถูกดำเนินคดีได้โดยตำรวจทุกสน. แต่กฎหมายกำหนดไว้ว่า คดีหนึ่งๆ ที่เกิดขึ้นจะอยู่ในอำนาจสอบสวนและดำเนินคดีได้ของตำรวจอย่างน้อย 3 สน. ที่มีความเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด ดังนี้

1) สน. ที่รับผิดชอบพื้นที่ที่การกระทำความผิดเกิดขึ้น

2) สน. ที่รับผิดชอบพื้นที่ที่จับกุมผู้กระทำความผิดได้

3) สน. ที่รับผิดชอบพื้นที่ที่ผู้ต้องหามีที่อยู่

หากมีการจับกุมดำเนินคดีกับผู้ใด โดยตำรวจจาก สน. อื่นนอกเหนือจาก สน. ที่เกี่ยวข้องกับคดีทั้งสามประเภทแล้ว กระบวนการทั้งหมดทั้งการแจ้งข้อกล่าวหา การสอบสวน การสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องคดีที่ดำเนินไปโดยตำรวจจาก สน. อื่น ต้องถือว่า ดำเนินการไปโดยไม่มีอำนาจทำได้ตามกฎหมาย ในทางกฎหมายมีผลเท่ากับไม่มีการดำเนินการเหล่านั้นเกิดขึ้น และเมื่อคดีขึ้นสู่ศาล ศาลต้องสั่งยกฟ้องเนื่องจากคดีไม่มีการสอบสวนโดยชอบด้วยกฎหมายมาก่อน

กรณีของธนาธร ที่ถูกกล่าวหาว่า เป็นผู้ร่วมกระทำความผิดฐานยุยงปลุกปั่น ตามมาตรา 116 จากการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในวันที่ 25 มิถุนายน 2558 เนื่องจากเหตุของคดีเกิดขึ้นบริเวณถนนราชดำเนิน พนักงานสอบสวนที่มีอำนาจรับผิดชอบคดีนี้ คือ 

1) ตำรวจจากท้องที่ที่คดีเกิดขึ้น คือ สน. สำราญราษฎร์ 

2) ตำรวจจากท้องที่ที่ธนาธรถูกจับกุม ซึ่งไม่มีเพราะธนาธรไม่ได้ถูกจับกุม

3) ตำรวจจากท้องที่ที่ธนาธรมีภูมิลำเนาอยู่ คือ สน.ประเวศ

ส่วนตำรวจที่ สน. ปทุมวัน นั้น ไม่ได้มีอำนาจเกี่ยวข้องอะไรในคดีนี้ และไม่มีอำนาจในการออกหมายเรียก แจ้งข้อกล่าวหา หรือดำเนินการสอบสวนคดี แม้ว่า การกระทำของธนาธร คือ การรับนักกิจกรรมจากหน้า สน.ปทุมวัน ไปส่งที่พัก แต่การรับคนไปส่งที่พักไม่ใช่การกระทำที่ถูกกล่าวหาตามมาตรา 116 การรับนักกิจกรรมจากหน้า สน.ปทุมวัน ในวันที่ 24 มิถุนายน 2558 นั้น เกิดขึ้นก่อนการชุมนุมที่ตามมาในวันที่ 25 มิถุนายน เท่ากับขณะที่ธนาธรไปรับนักกิจกรรม ยังไม่มีการชุมนุมเกิดขึ้นเลย จึงไม่อาจนับพื้นที่ของ สน.ปทุมวัน เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ที่การกระทำความผิดเกิดขึ้นได้

หากจะกล่าวหาว่า ธนาธรร่วมเป็น "ตัวการ" หรือ "สนับสนุน" การชุมนุมในวันที่ 25 มิถุนายน 2558 ก็ต้องให้ตำรวจจากท้องที่ที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม คือ สน.สำราญราษฎร์ เป็นผู้ดำเนินการ เช่นเดียวกับที่ สน.สำราญราษฎร์รับผิดชอบคดีของผู้ต้องหาคนอื่นๆ ในคดีนี้อยู่ก่อนแล้ว ไม่อาจให้ สน.ปทุมวัน เป็นผู้ดำเนินการได้ สน.ปทุมวัน เกี่ยวข้องเพียงคดีที่เกิดขึ้นหน้าหอศิลปวัฒนธรรมของกรุงเทพมหานครซึ่งยุติไปแล้ว

ในกรณีนี้ พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ เข้าแจ้งความให้ดำเนินคดีกับธนาธรต่อ สน.ปทุมวัน จึงเป็นไปได้ว่า ตำรวจที่ สน.ปทุมวัน ก็เพียงรับลูกมาดำเนินการตามที่พ.อ.บุรินทร์ นายทหารของ คสช. ขอให้ดำเนินการ และเป็นไปได้ว่า พ.อ.บุรินทร์ เองก็จำเหตุการณ์สับสนกับคดีก่อนหน้านี้ที่เกิดขึ้นและจบไปแล้ว ซึ่งตัวเองก็เป็นผู้แจ้งความดำเนินคดีอีกเช่นกัน เมื่อเห็นว่า ความเกี่ยวข้องที่มีอยู่ คือ ธนาธรรับนักกิจกรรมจากหน้า สน.ปทุมวัน จึงตัดสินเข้าแจ้งความที่ สน.ปทุมวัน โดยลืมไปว่า คดีที่ยังเหลืออยู่ให้ยกมากล่าวหาได้ เหลือเพียงคดีที่อยู่ในอำนาจของ สน.สำราญราษฎร์เท่านั้น

ดังนั้น หากคดีนี้มีการแจ้งข้อกล่าวหา สอบสวน และดำเนินคดีไปโดยตำรวจ สน.ปทุมวัน ทั้งหมด เมื่อคดีขึ้นสู่ศาล ศาลก็ต้องยกฟ้องเนื่องจากไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหา การสอบสวน และการดำเนินคดีโดยตำรวจที่มีอำนาจตามกฎหมาย

ไม่ว่าจะโดยจงใจ เพราะไม่อยากเอาความผิดกันจริงๆ จังๆ หรือเพราะจำเหตุการณ์ไม่ได้ หรือเพราะขาดความรู้ทางกฎหมาย ก็เรียกได้ว่า เป็นอีกครั้งที่ พ.อ.บุรินทร์ และคสช. โป๊ะแตก! ทำพลาดเสียเรื่องเสียเอง