วันที่ 3 ธ.ค. 2565 ที่พรรคไทยภักดี ถ.ประชาราษฏร์ มีการจัดงานเสวนาในหัวข้อ “เพิ่มมากกว่าแก้ ม.112 ไม่คิดล้มล้างจะกลัวอะไร” โดยมี วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรคไทยภักดี ถาวร เสนเนียม ประธานพรรคไทยภักดี อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA), และณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นผู้ร่วมเสวนา ดำเนินรายการโดย เวทิน ชาติกุล ผู้อำนวยการสถาบันทิศทางไทย
โดย อานนท์ เริ่มต้นกล่าวว่า มีความพยายามในการกระทำผิดจาก “พวกศรีธนญชัย” โดยอาศัยช่องว่างของ ม.112 ในการคิดล้มล้าง ดูหมิ่น และอาฆาตมาดร้ายสถาบัน เช่น กรณีคดีของ ทิวากร วิถีตน ที่ศาลจังหวัดขอนแก่น ซึ่งตนเข้าไปเกี่ยวข้องในฐานะพยานผู้เชี่ยวชาญ ที่ศาลมีคำพิพากษาว่าไม่ได้เป็นการดูหมิ่นสถาบัน เพราะไม่มีการระบุเฉพาะเจาะจงว่าเป็นพระองค์ใด
ส่วนตัวจึงมองว่า คำว่าสถาบันนั้นครอบคลุมตั้งแต่พระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน และอดีตพระมหากษัตริย์ด้วย แต่เพราะศาลยังไม่มีแนวฎีกาเรื่องนี้ ดุลยพินิจของแต่ละท่านจึงแตกต่างกันไป ดังนั้น จึงเห็นว่าควรจะเพิ่มกฎหมายให้ชัดเจน เพื่อลดการใช้ดุลยพินิจของศาลให้น้อยที่สุด
ขณะที่ ถาวร กล่าวว่า หากสถาบันไม่มีความสำคัญต่อประเทศ ผู้เขียนรัฐธรรมนูญคงตัด ม.112 ออกไป หากคิดดีทำดี จะกลัวอะไร สถาบันไม่เคยสร้างความเดือดร้อนให้ใคร
“ผู้ที่ทำความเดือดร้อน คือ พ่อค้าที่เอารัดเอาเปรียบซึ่งเป็นพ่อแม่ของนักเคลื่อนไหวบางคนด้วยซ้ำไป หรือนักการเมืองชั่วๆ ข้าราชการเลวๆ ที่เอาเยาวชนมาเป็นเครื่องมือล้มล้างสถาบัน เพื่อเปลี่ยนการปกครองเป็นสาธารณรัฐ ตามที่ตนเคยแถลงข่าวตอบโต้คนอย่าง ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และ ปิยบุตร แสงกนกกุล จากคณะก้าวหน้า ซึ่งตนท้าให้ฟ้องมานานแล้ว ยังไม่เห็นฟ้องเลย” ถาวร กล่าว
ช่วงหนึ่งระหว่างการเสวนา ถาวร ได้หยิบหนังสือ “ปรากฏการณ์สะท้านฟ้า 10 สิงหา ข้อเรียกร้องว่าด้วยสถาบันกษัตริย์” ของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ขึ้นมาเพื่อชี้ให้เห็นว่าข้อเรียกร้องต่างๆ เหล่านี้ไม่อยู่บนหลักความกตัญญู เข้าข่ายกระบวนการล้มล้างการปกครองทั้งสิ้น
ด้าน ณฐพร กล่าวว่า ขบวนการเคลื่อนไหวในการแก้ไข ม.112 เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการล้มล้างการปกครองที่มีนายทุนอยู่เบื้องหลัง ตั้งแต่การก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ขึ้นมา จนกระทั่งมาเป็นพรรคก้าวไกล เขามีแถลงการณ์ออกมาว่า จะเคลื่อนไหว 3 ส่วน คือในสภาฯ นอกสภาฯ และผ่านสื่อมวลชน ส.ส.ของพรรคก็ปรากฏรายชื่ออยู่ในองค์กรเครือข่ายที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในคดีล้มล้างการปกครองมาแล้ว ดังนั้น ในการดำเนินคดี หากรัฐบาลสนใจดำเนินการตามที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เชื่อว่าประเทศนี้จะเป็นสุข
จากนั้น วรงค์ ได้นำผู้ร่วมเสวนากล่าวแถลงจุดยืนของพรรคไทยภักดี เพิ่มความคุ้มครองมาตรา 112 ว่า ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา มีขบวนการล้มล้างการปกครองเกิดขึ้น และมีการกระทำความผิดอย่างกว้างขวางและพลิกแพลง ในลักษณะที่ท้าท้ายกฎหมายมากยิ่งขึ้น เช่น ผ่านวิธีการล้อเลียนเสียดสี
จึงสมควรที่จะแก้ไข ม.112 เพิ่มการคุ้มครองให้ครอบคลุมถึง 1.สถาบันพระมหากษัตริย์ 2.อดีตพระมหากษัตริย์ในพระบรมราชจักรีวงศ์ และ 3.พระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไป
นอกจากนี้ การที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีการใช้ตำแหน่งของตนเพื่อเป็นหลักประกันในการขอปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาที่กระทำความผิด ม.112 อันถือเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรนั้น เป็นการปฏิบัติผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรงของผู้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และขัดแย้งกับคำปฏิญาณตนก่อนปฏิบัติหน้าที่ ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ม.115 ในรัฐธรรมนูญ
อนึ่ง นอกจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะได้รับมอบอำนาจให้ใช้อำนาจอธิปไตยแทนประชาชน โดยผ่านกระบวนการเลือกตั้งเพื่อเป็นตัวแทนของประชาชนในการเข้าไปทำหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดินแล้ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรยังถือเป็นชาวไทยย่อมมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ม.50 ที่ได้บัญญัติว่า "บุคคลมีหน้าที่ดังต่อไปนี้ (๑) พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข"
จึงสมควรที่จะมีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลจริยธรรมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยห้ามใช้ตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรประกันตัวผู้ต้องหาที่กระทำความผิดตามม.112 โดยเด็ดขาด