รัฐครึ่งหนึ่งจากทั้งหมด 18 รัฐของซูดานมีการรายงานว่าตรวจพบผู้ติดเชื้อไข้เลือดออก และมีผู้เสียชีวิตแล้ว 9 ราย ซึ่งในจำนวนนี้รวมถึงเด็กหนึ่งคนด้วย องค์การอนามัยโลกกล่าวว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจริงอาจสูงกว่านี้
มุนตาซีร์ ออสมาน ผู้อำนวยการด้านกิจการฉุกเฉินของกระทรวงสาธารณสุขของซูดานกล่าวว่า ปี 2565 เกิด “การระบาดของโรคไข้เลือดออกครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ” โดยมีรายงานผู้ป่วยแล้วประมาณ 1,430 กรณี
โรคไข้เลือดออกมียุงลายเป็นพาหะ โดยยุงชนิดนี้จะพบได้ในบริเวณใกล้แหล่งน้ำนิ่ง หรือน้ำในภาชนะเช่นอ่างเก็บน้ำ อาการของโรคไข้เลือดออกนั้นคล้ายไข้หวัด และในบางครั้งอาจทำให้เกิดอาการอวัยวะล้มเหลวและเสียชีวิตได้
ออสมาน กล่าวว่าต้นเหตุของการระบาดในครั้งนี้คือฝนที่ตกหนัก และการขาดแคลนมาตรการป้องกัน เช่น การใช้มุ้ง หรือการใช้ยาฆ่าแมลง “ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ ประเทศของเราในขณะนี้ขาดแคลนกำลังที่สำคัญ โดยเฉพาะในด้านการแพทย์เชิงป้องกัน เราไม่มีเจ้าหน้าที่ที่ทำงานในด้านการสอดส่องดูแลหรือการเตรียมการก่อนเกิดปัญหา”
หลังการรัฐประหารในเดือน ต.ค.ปีที่แล้ว ซูดานตกอยู่ในวิกฤตการณ์ด้านการเมืองที่ถูกซ้ำเติมโดยผลิตภาพทางการเกษตรที่ตกต่ำและราคาอาหารที่พุ่งสูง
นิมา ซาอีด อาบิด หัวหน้าขององค์การอนามัยโลกในซูดานกล่าวว่า เคสผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันนั้น เป็นเพียงส่วนยอดสุดของภูเขาน้ำแข็ง
“บางคนมีอาการเพียงเล็กน้อยเท่านั้น บางคนก็ใช้วิธีการรักษาโดยแพทย์แผนโบราณหรือรักษาตัวอยู่ที่บ้าน โดยไม่ได้รายงานต่อหน่วยงานทางการแพทย์ กรณีที่มีการรายงานคือกรณีที่รุนแรงมากๆ และต้องการการดูแลเป็นพิเศษเท่านั้น” เขากล่าว
รัฐคอร์โดฟานเหนือ รัฐดาฟูร์เหนือ และรัฐไวท์ไนล์ เป็น 3 รัฐที่มีรายงานว่าพบเชื้อไข้เลือดออกครั้งแรก
ภาพจากเมืองเอลโอเบอีด เมืองหลวงของรัฐคอร์โดฟานเหนือ แสดงให้เห็นผู้ป่วยที่นอนอยู่ตามพื้นเนื่องจากโรงพยาบาลขาดแคลนเตียงผู้ป่วย มีการคาดการว่ามีกรณีผู้ป่วยประมาณ 1,200 กรณีในรัฐ ในขณะที่ผู้ป่วยที่มีการยืนยันมีทั้งหมด 393 คน
อิบธิฮาล อิบราฮิม จากกระทรวงสาธารณสุขแห่งรัฐคอร์โดฟานกล่าวว่า เธอให้ลูกของเธอที่ป่วยเป็นไข้เลือดออกอยู่ที่บ้าน
“ไม่ใช่แค่ลูกของฉันเท่านั้น ทั้งชุมชนของฉันเต็มไปด้วยผู้ป่วย แต่พวกเขาเลือกที่จะอยู่บ้านเพื่อรับการรักษาด้วยวิธีธรรมชาติ บางคนก็จัดซื้อจัดหายาเพื่อมารักษาตนเอง” เธอกล่าว
อิบราฮิมกล่าวว่า ราคาของยาปรับตัวพุ่งสูงขึ้นเช่นกัน “ฉันซื้อยาให้ลูกชายในราคา 3,500 ปอนด์ซูดาน (ประมาณ 232 บาท) ในขณะที่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ราคาอยู่ที่ 600 ปอนด์ซูดาน (ประมาณ 38 บาท)”
องค์การอนามัยโลกรายงานว่าจำนวนผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้น 8 เท่าตัวใน 20 ปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีการรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อที่ดีขึ้น แต่ในขณะเดียวกันงานวิจัยก็ชี้ว่า ภาวะโลกร้อนมีส่วนทำให้โรคมาลาเรียและไข้เลือดออกระบาดในพื้นที่ใหม่ๆ และกลับมาระบาดในพื้นที่เดิมมากขึ้น ดังเช่นกรณีของซูดานที่การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ทำให้เกิดเหตุน้ำท่วมและเกิดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายมากขึ้น
ที่มา: