หลังจากเกิดเหตุเพลิงไหม้มหาวิหารนอเตรอดาม กลางกรุงปารีส (Cathédrale Notre-Dame de Paris) บางส่วนของสถาปัตยกรรมฝรั่งเศสอายุกว่า 850 ปีถูกทำลายไปในกองเพลิง แม้มิอาจชดเชยความเสียหายทางมรดกวัฒนธรรมได้ แต่ความหวังกับการบูรณะให้กลับสู่สภาพเดิมนั้นยังคงหลงเหลือ หนึ่งในความช่วยเหลือนั้นมาจากส่วนผสมของเทคโนโลยี และความหลงไหลต่อวัฒนธรรมฝรั่งเศส
สำหรับข้อมูลโครงสร้างของมหาวิหารนอเตรอดามที่แม่นยำสุดในโลก จัดทำขึ้นโดย แอนดรูว์ ทัลลอน (Andrew Tallon) ศาสตราจารย์ด้านศิลปะชาวอเมริกัน ผู้หลงไหลในวัฒนธรรมฝรั่งเศส และสถาปัตยกรรมยุคกลาง แม้เขาจะเสียชีวิตลงเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีก่อน แต่มรดกทางวิชาการของเขายังคงอยู่
ในช่วงปี 2011-2012 ทัลลอนได้ติดตั้งอุปกรณ์เลเซอร์สแกนทั้งภายใน และภายนอกของนอเตรอดามราว 50 จุด เพื่อวัดระยะห่างระหว่างกำแพง เสา ระยะร่น ประติมากรรม และวัตถุ หรือลักษณะอื่นๆ รวมถึงบันทึกทุกรายละเอียดของความไม่สมบูรณ์แบบตามความเป็นจริงของอนุสรณ์สถานอายุหลายศตวรรษเอาไว้ด้วย
ผลลัพธ์คือ พอยต์คลาวด์ (point cloud) กลุ่มของจุดนับพันล้านจุดที่ประกอบกันเป็นรูปลักษณ์ของมหาวิหารแห่งนี้ ภาพสุดท้ายที่คอมพิวเตอร์ประมวล และผลิตขึ้นมาใหม่นั้น เก็บกระทั่งรายละเอียดจุดบกพร่องของนอเตรอดาม โดยมีความแม่นยำอยู่ระดับ 5 มิลลิเมตร แบบแปลนของเขาจึงแสดงให้เห็นว่า ทางด้านตะวันตกของนอเตรอดามนั้นยุ่งเหยิงไม่เป็นระเบียบเพียงไร เนื่องจากเสาภายใน และช่องทางเดินบริเวณนั้นไม่ได้เรียงแถวกันเป็นเส้นตรงเลย
ลินด์เซย์ คุก (Lindsay Cook) ผู้ช่วยศาสตราจารย์รับเชิญด้านศิลปะแห่งวิทยาลัยวาสซาร์ ลูกศิษย์ของทัลลอนผู้คลั่งไคล้ฝรั่งเศสไม่ต่างกันเล่าว่า ทัลลอนต้องการที่จะเข้าถึงความคิดของผู้สร้างสถาปัตยกรรมนี้
“เขาสนใจที่จะใช้ข้อมูลเลเซอร์สแกนในการหาสิ่งต่างๆ เช่น รอยแตกเล็กๆ ที่เกิดระหว่างการก่อสร้าง จุดที่ไม่ได้เรียงตัวตรงกันเป๊ะ ซึ่งทำให้เห็นสัมผัสที่สถาปนิกทิ้งไว้ในฐานะปัจเจก หรือในกรณีนี้คือ ร่องรอยการทำงานของช่างฝีมือคนหนึ่ง” คุกกล่าว
ภาพที่สร้างจากข้อมูลการตรวจวัดนี้ เคยได้รับการเผยแพร่เป็นหนังสือในปี 2013 และจัดแสดงในงานนิทรรศการที่นอเตรอดามในปี 2014 แต่ข้อมูลคอมพิวเตอร์ขนาดมหึมายังคงบรรจุอยู่ในฮารด์ดิสก์ และแม้ว่านอเตรอดามอาจสามารถได้รับการบูรณะขึ้นใหม่ได้โดยไม่ต้องพึ่งข้อมูลนี้ แต่โมเดลจากเลเซอร์สแกนก็ช่วยให้ภาพถ่ายและแบบร่างของสถาปนิกแม่นยำขึ้นได้ และยิ่งเป็นประโยชน์ในส่วนของหลังคา และยอดแหลม ซึ่งยากจะวัดได้ด้วยเครื่องมือทางกายภาพ ยิ่งเมื่อคำนึงถึงว่าทั้งสองส่วนของมหาวิหารเป็นส่วนที่ได้รับความเสียหายอย่างหนักจากเพลิงไหม้
โมเดลนี้จะช่วยให้ทีมบูรณะสามารถสร้างส่วนหนึ่งของโครงสร้างทรงโค้งภายในนอเตรอดามขึ้นใหม่ได้ราวกับถอดแบบจากของเดิม
“หากในที่สุดแล้วเจ้าหน้าที่ต้องการจะใช้ข้อมูลนี้ เราก็จะแบ่งปันข้อมูลให้พวกเขาแน่นอน” คุกกล่าว
ข้อมูลโครงสร้างของทัลลอนบรรจุอยู่ในฮาร์ดดิสก์แบบพกพาจำนวนหนึ่งที่วิทยาลัยวาสซาร์ และมีสำเนาข้อมูลอยู่ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย (Columbia University) ที่ซึ่งทีมนักวิชาการร่วมมือกับทัลลอนในโครงการแมปปิงกอธิก (Mapping Gothic) โครงการจัดเก็บฐานข้อมูลสถาปัตยกรรมกอธิก อย่างไรก็ตาม หากสถาปนิกต้องการข้อมูลนี้จำเป็นต้องมารับด้วยตัวเอง เนื่องจากไฟล์ข้อมูลของโมเดลสามมิติราวหนึ่งเทราไบต์นั้น มีขนาดใหญ่เกินกว่าจะส่งผ่านอินเทอร์เน็ตได้
“หากผลงานทางวิชาการของทัลลอนสามารถเป็นข้อมูลให้กับผู้ที่จะรับภาระหนักอึ้งในการบูรณะมหาวิหารให้คืนสู่ความรุ่งโรจน์ดังเดิม นี่ก็จะเป็นอนุสรณ์ที่ควรค่าแล้วสำหรับนักวิชาการผู้น่าทึ่งที่ทุ่มเทให้กับนอเตรอดามมากเหลือเกิน” จอน เชนเนต (Jon Chenette) อธิการบดีวิทยาลัยวาสซาร์
สำหรับฮาร์ดดิสก์ลูกอื่นๆ ที่จัดเก็บไว้นั้น ยังคงมีมรดกทางวิชาการของทัลลอนอยู่อีกหลายชิ้นด้วยกัน ทั้งโมเดลเลเซอร์ของ อาสนวิหารโบแว (Beauvais) ชาทร์ (Chartres) แคนเทอร์เบอรี (Canterbury) แม้กระทั่งมหาวิหารแซ็ง-เดอนี (Basilique Saint-Denis) ซึ่งวันหนึ่งอาจเป็นประโยชน์ต่อนักประวัติศาสตร์ หรือเมื่อเหตุการณ์ความสูญเสียเช่นนี้เกิดขึ้นอีกครั้ง