อนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เตรียมลงพื้นที่ตรวจราชการ ณ จังหวัดสิงห์บุรี ในวันศุกร์ที่ 6 มกราคม 2566 โดยมี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ร่วมลงพื้นที่ตรวจราชการ ซึ่งมีกำหนดการ ดังนี้
เวลาประมาณ 08.00 น. นายกรัฐมนตรีและคณะ ออกเดินทางจากสนามเฮลิคอปเตอร์ พล.ม. 2 รอ. เขตพญาไท กรุงเทพฯ ไปยังสนามกีฬาอำเภออินทร์บุรี ต.อินทร์บุรี อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี โดยเฮลิคอปเตอร์ โดยในเวลา 09.00 น. นายกรัฐมนตรีและคณะ จะออกเดินทางจากสนามกีฬาอำเภออินทร์บุรี ไปยังพื้นที่ก่อสร้างพนังกั้นน้ำ ต.น้ำตาล อ.อินทร์บุรี เพื่อตรวจเยี่ยมความก้าวหน้าพื้นที่ก่อสร้างพนังกั้นน้ำ จากนั้นจะออกเดินทางจากพื้นที่ก่อสร้างพนังกั้นน้ำ ต.น้ำตาล เดินทางต่อไปยังพื้นที่นานำร่อง หมู่ที่ 1 ต.น้ำตาล อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี เพื่อเป็นประธานเปิดกิจกรรม “ข้าวรักษ์โลก” ในเวลาประมาณ 09.30 น. โดยนายกรัฐมนตรีจะขับรถดำนาปลูกข้าว ร่วมกับชาวนา พร้อมกับปล่อยปลา ร่วมกับเกษตรกร ก่อนไปยังจุดพิธีเปิดกิจกรรม “ข้าวรักษ์โลก”
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี จะรับฟังรายงานผลการดำเนินงาน โครงการข้าวรักษ์โลก BCG Model (สิงห์บุรีโมเดล) จาก ภณ ทัพพินท์กร นายกสมาคมพัฒนาเศรษฐกิจเกษตรรักษ์โลก จากนั้น นายกรัฐมนตรีจะกล่าวเปิดกิจกรรม “ข้าวรักษ์โลก” พบปะเกษตรกร และเดินเยี่ยมชมนิทรรศการ โดยนายกรัฐมนตรีและคณะจะเดินทางกลับถึงสนามเฮลิคอปเตอร์ พล.ม. 2 รอ. เขตพญาไท กรุงเทพฯ ในเวลาประมาณ 14.00 น.
“สำหรับโครงการข้าวรักษ์โลก BCG Model เป็นผลงานของรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้ชาวนาทำการปฏิวัติการทำนาใหม่เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน ด้วยโครงการส่งเสริมการใช้จุลินทรีย์เพื่อการเกษตรเท่านั้น ทำการย่อยสลายซากพืชซากสัตว์ให้กลายเป็นปุ๋ยธรรมชาติ เพิ่มธาตุสารอาหารที่สำคัญให้กับพืช และยังส่งเสริมนวัตกรรมเทคโนโลยี โดรนเพื่อการเกษตร เครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานทางเลือกแบบหมุนเวียนทำให้เกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผล พร้อมทั้งส่งเสริมให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งการเรียนรู้ การส่งเสริมจากภาครัฐและเอกชน เพื่อให้เกษตรกรสามารถสร้างแปลงเพาะปลูกในระบบ ทำการจับคู่ตามความต้องการเพิ่มโอกาสเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร จากการส่งเสริมโครงการดังกล่าวทำให้ได้ผลผลิตข้าวดีมีคุณภาพ ปลอดสารพิษ ดีต่อสุขภาพ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จึงเป็นการส่งเสริมแบบครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ตามนโยบาย BCG Model ที่ต้องการช่วยเหลือส่งเสริมการทำนาสู่ความยั่งยืน ตามแนวทางของรัฐบาล ในการยกระดับคุณภาพข้าวไทยออกสู่เวทีโลก ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยเป็นผู้นำด้านการผลิตข้าวที่มีคุณภาพต่อระบบเศรษฐกิจและระบบการเกษตรของโลกในรูปแบบ BCG” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว