รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 18 ส.ค. 2563 ว่า ครม.อนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปี 2563/64 วงเงินรวม 1,913.11 ล้านบาท และอนุมัติมาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2563/64 รวม 5 มาตรการ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จำนวน 4.5 แสนราย ให้มีรายได้ที่แน่นอน ครอบคลุมต้นทุนและค่าขนส่งในช่วงที่ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตกต่ำ และใช้กลไกตลาดในการสร้างเสถียรภาพราคาในระยะยาวอย่างยั่งยืน
โดยโครงการนี้ดำเนินการในลักษณะเดียวกันกับโครงการปี 2562/63 โดยจะประกันรายได้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ณ ความชื้น 14.5% ทีราคากิโลกรัมละ 8.50 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ไร่ ในพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทั่วประเทศและไม่ซ้ำแปลง กำหนดช่วงเวลาการเพาะปลูกระหว่างวันที่ 1 มิ.ย. 2563 – 31 พ.ค. 2564 แต่มีข้อยกเว้น คือ หากเป็นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่แจ้งขึ้นทะเบียนเพาะปลูกเพื่อผลิตเป็นเมล็ดพันธุ์ จะไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้
สำหรับการจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างงวดแรก รัฐบาลจะเริ่มจ่ายในวันที่ 20 พ.ย. 2563 และจะจ่ายต่อไปในทุกวันที่ 20 ของเดือน จนถึงวันสิ้นสุดการจ่ายเงินชดเชยงวดสุดท้ายเดือน ต.ค. 2564 โดยให้ใช้แหล่งเงินทุนจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และรัฐบาลจะชำระคืนตามที่จ่ายจริงภายใน 1 ปี ทั้งนี้ ระยะเวลาโครงการเริ่มตั้งแต่ 1 พ.ย. 2563 - 30 เม.ย. 2565
ทั้งนี้ ยังได้รายงานผลการดำเนินโครงการประกันรายได้ปี 2562/63 ข้อมูล ณ วันที่ 3 ก.ค. 2563 พบว่า ธ.ก.ส. ได้จ่ายเงินชดเชยส่วนต่างให้เกษตรกรแล้ว 7 ครั้ง จำนวน 207,796 ครัวเรือน คิดเป็น 45.97% ของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทั้งหมด 452,000 ราย รวมเป็นเงิน 606.30 ล้านบาท หรือ 39.05% ของวงเงินจ่ายขาดทั้งหมด (จำนวน 1,552.78 ล้านบาท) คงเหลืองบประมาณจ่ายขาด 946.48 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีมาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปี 2563/64 รวม 5 มาตรการ ได้แก่
1.โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปี 2563/64 วงเงิน 45 ล้านบาท เป็นการสนับสนุนสินเชื่อแก่สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร และกลุ่มวิสาหกิจชุมชน เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการรวบรวมรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากเกษตรกร ซึ่งจะช่วยดูดซับปริมาณผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในช่วงที่ผลผลิตออกมามาก วงเงินสินเชื่อ 1,500 ล้านบาท โดยใช้แหล่งเงินทุนจาก ธ.ก.ส. คิดอัตราดอกเบี้ย 4% ต่อปี คิดดอกเบี้ยจากผู้กู้ 1% ต่อปี และรัฐบาลจะเป็นผู้ชดเชยดอกเบี้ยให้ 3% ต่อปี เป็นเวลาไม่เกิน 12 เดือน คิดเป็นงบประมาณชดเชยดอกเบี้ยรวม 45 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 2563 - 30 มิ.ย. 2565
2.โครงการชดเชยดอกเบี้ยในการเก็บสต๊อกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปีการผลิต 2563/64 ซึ่งเป็นการดำเนินโครงการในลักษณะเดียวกันกับปีที่ผ่าน วงเงินสินเชื่อ 1,500 ล้านบาท รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยอัตรา 3% ต่อปี ตามระยะเวลาที่เก็บสต๊อกไว้ 60 - 120 วัน คิดเป็นงบประมาณชดเชยดอกเบี้ยรวม 15 ล้านบาท โดยใช้งบประมาณจาก คณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.)
3.การบริหารจัดการการนำเข้า โดยกำหนดช่วงเวลาการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สำหรับผู้นำเข้าทั่วไป การควบคุมการขนย้ายในพื้นที่ติดชายแดนเพื่อนบ้าน การกำหนดสัดส่วนการนำเข้าข้าวสาลีต่อการรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 1 : 3 และการตรวจสอบการรับรอบนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศเพื่อนบ้าน
4.การดูแลความเป็นธรรมในการซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยกำหนดให้ผู้รับซื้อแสดงราคา ณ จุดรับซื้อที่ความชื้น 14.5% และ 30% พร้อมแสดงตารางการเพิ่ม-ลด ราคาตามร้อยละความชื้น และกำหนดให้ใช้เครื่องชั่งน้ำหนัก เครื่องวัดความชื้น ที่มีมาตรฐาน
5.การดูแลความสมดุล โดยแจ้งปริมาณการครอบครอง การนำเข้า สถานที่เก็บและการตรวจสอบสต๊อก
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การดำเนินโครงการเกิดประสิทธิภาพและผู้เข้าร่วมโครงการได้รับประโยชน์สูงสุด ที่ประชุม ครม. ได้มอบหมายให้ กระทรวงพาณิชย์ ดำเนินการเพิ่มเติม คือ 1.กำหนดให้เกษตรกรผู้มีสิทธิได้รับเงินชดเชยตามโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2563/64 จะต้องเป็นเกษตรกรที่มีเอกสารสิทธิในที่ดิน หรือหนังสืออนุญาตให้ทำประโยชน์ในที่ดิน หรือมีหนังสือสัญญาเช่าที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ และ 2.กำหนดหลักเกณฑ์การให้สินเชื่อของโครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปี 2563/64 ให้สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนรับซื้อหรือรวบรวมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เฉพาะรายที่มีเอกสารสิทธิในที่ดิน หรือหนังสืออนุญาตให้ทำประโยชน์ในที่ดิน หรือหนังสือสัญญาเช่าที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ
อนุมัติเฉียด 1 หมื่นล้านจ่ายประกันรายได้เกษตรกรปลูกมันสำปะหลังปี 63/64
ในวันเดียวกัน ครม.ยังได้อนุมัติโครงการและมาตรการเพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังในช่วงที่ราคาตกต่ำ ครอบคลุมเกษตรกรจำนวนกว่า 530,000 ครัวเรือนทั่วประเทศ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
1.โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังปี 2563/64 วงเงินรวม 9,789.98 ล้านบาท ซึ่งเป็นการดำเนินการในลักษณะเดียวกันกับโครงการประกันรายได้ปี 2562/63 เป็นการประกันรายได้หัวมันสำปะหลังสด เชื้อแป้ง 25% ราคากิโลกรัมละ 2.50 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 100 ตัน ในพื้นที่เพาะปลูกมันสำปะหลังทั่วประเทศและไม่ซ้ำแปลง ซึ่งต้องเป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนปลูกมันสำปะหลังปี 2563/64 กับกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตั้งแต่ 1 เม.ย. 2563 – 31 มี.ค. 2564 สำหรับการจ่ายเงินงวดแรก รัฐบาลจะเริ่มจ่ายในวันที่ 1 ธ.ค. 2563 และจะจ่ายต่อไปในทุกวันที่ 1 ของเดือน โดยใช้แหล่งเงินทุนจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และรัฐบาลจะชำระคืนตามที่จ่ายจริงภายใน 2 ปี ทั้งนี้ ระยะเวลาโครงการเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2563 - 31 พ.ค. 2565
ด้านผลการดำเนินโครงการประกันรายได้ ปี 2562/63 ที่่ผ่านมา พบว่า ข้อมูล ณ วันที่ 3 ก.ค. 2563 ธ.ก.ส. ได้มีการจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างแก่เกษตรกรไปแล้วรวม 8 ครั้ง จำนวน 535,759 ครัวเรือน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 6,836.97 ล้านบาท คิดเป็น 69.13% ของวงเงินชดเชยทั้งหมด คงเหลืองบประมาณอีก 3,053.97 ล้านบาท ซึ่งจะสิ้นสุดการจ่ายเงินชดเชยงวดสุดท้ายเดือน พ.ย. 2563
พร้อมกันนี้ได้มาตรการคู่ขนานเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสําปะหลัง ปี 2563/64 ซึ่งเป็นมาตรการเสริมที่ดำเนินการควบคู่กันไประหว่างโครงการประกันรายได้ และการบริหารปริมาณสินค้าเกษตรให้ตรงกับความต้องการของตลาด เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก เป็นการดึงอุปทานออกจากตลาดและเพิ่มช่องทางเลือก เสริมสร้างความเข้มแข็ง และเพิ่มอำนาจต่อรองในการจำหน่ายมันสำปะหลังของเกษตรกร
โดยประกอบด้วยมาตรการที่ใช้เงินงบประมาณและไม่ใช้เงินงบประมาณ ดังนี้
1.โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกมันสำปะหลัง วงเงิน 69 ล้านบาท โดย ธ.ก.ส. เป็นผู้ออกสินเชื่อเพื่อเป็นเงินทุนในการพัฒนาการผลิตของเกษตรกรด้วยการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม วงเงินสินเชื่อรวม 1,150 ล้านบาท ให้เกษตรกู้รายละไม่เกิน 230,000 บาท จำนวน 5,000 ราย ชำระคืนไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันกู้ คิดอัตราดอกเบี้ย 6.50% ต่อปี โดยเกษตรกรผู้กู้จ่ายดอกเบี้ย 3.5% ต่อปี ส่วนที่เหลืออีก 3% ต่อปี ซึ่งรัฐจะเป็นผู้ชดเชยให้เป็นระยะเวลาไม่เกิน 24 เดือน (ไม่เกินวันที่ 30 ก.ย. 2566) คิดเป็นวงเงินอัตราดอกเบี้ยที่รัฐชดเชยรวม 69 ล้านบาท ระยะเวลาโครงการเริ่มตั้งแต่ 1 ต.ค. 2563 - 31 ต.ค. 2566
2.โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมมันสำปะหลังและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร วงเงิน 45 ล้านบาท โดย ธ.ก.ส. จะเป็นผู้ออกสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกรที่มีการประกอบธุรกิจมันสำปะหลังเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการรวบรวมหรือรับซื้อหัวมันสำปะหลังสด มันสำปะหลังเส้น วงเงินสินเชื่อรวม 1,500 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 4% ต่อปี โดยสถาบันเกษตรกรจ่ายดอกเบี้ย 1% ต่อปี ส่วนที่เหลืออีก 3% ต่อปี รัฐบาลจะเป็นผู้ชดเชยให้เป็นระยะเวลาไม่เกิน 12 เดือน (ไม่เกินวันที่ 31 พ.ค. 2565) คิดเป็นวงเงินอัตราดอกเบี้ยที่รัฐชดเชยรวม 45 ล้านบาท ระยะเวลาโครงการเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2563 - 30 มิ.ย. 2565
1.โครงการชดเชยดอกเบี้ยในการเก็บสต๊อกมันสำปะหลัง เพื่อสนับสนุนสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการแปรรูปมันสำปะหลัง(ลานมัน/โรงแป้ง) ที่เข้าร่วมโครงการฯ เก็บสต๊อก เพื่อดูดซับผลผลิตในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก โดยตั้งเป้าหมายวงเงินสินเชื่อรวม 15,000 ล้านบาท รัฐบาลจะเป็นผู้ชดเชยดอกเบี้ยอัตรา 3% ต่อปี ตามระยะเวลาที่เก็บสต๊อกไว้ตั้งแต่ 60 - 180 วัน คิดเป็นวงเงินอัตราดอกเบี้ยที่รัฐชดเชยรวม 225 ล้านบาท โดยใช้เงินจากกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร
2.มาตรการบริหารจัดการการนำเข้าและส่งออก โดยให้กรมการค้าต่างประเทศกำกับดูแลการส่งออกและนำเข้ามันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์อย่างจริงจัง ด้วยการตรวจสอบคุณภาพให้เป็นไปตามมาตรฐานและลงโทษผู้กระทำผิดตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
นอกจากนี้ ครม.ได้อนุมัติแนวทางแก้ไขปัญหาโครงการป้องกันและการกำจัดโรคใบด่างมันสำปะหลัง โดยปรับเปลี่ยนเงื่อนไขโครงการที่ ครม. ได้อนุมัติไปแล้ว เมื่อ 24 ก.ย. 2562 ใน 2 ประเด็น คือ 1.ให้ขยายพื้นที่ดำเนินโครงการฯ จากเดิมที่กำหนดไว้ 11 จังหวัด ปรับเป็น ให้ดำเนินการโครงการฯ ในทุกจังหวัดที่มีพื้นที่เพาะปลูกมันสำปะหลัง ซึ่งมีอยู่ 50 จังหวัดทั่วประเทศ และ 2.การจ่ายเงินชดเชย จากเดิม ที่จ่ายให้เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตร เฉพาะพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์เท่านั้น ปรับเป็น จ่ายให้เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตรทุกพื้นที่ที่มีการทำลายแปลงมันสำปะหลัง ทั้งพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์และไม่มีเอกสารสิทธิ์ โดยใช้งบประมาณเดิม จำนวน 234.26 ล้านบาท ตามที่ได้รับอนุมัติไปแล้ว
เพิ่มวงเงินประกันรายได้ชาวสวนยางกว่า 2,300 ล้านบาท ชดเชยส่วนต่างราคา
พร้อมกันนี้ ครม.ยังมีมติอนุมัติวงเงินเพิ่มเติมในโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง 2,347.90 ล้านบาท เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ส่งผลให้ความต้องการการใช้ยางพาราในตลาดโลกลดลงอย่างมาก ซึ่งกระทบโดยตรงต่อราคายางพาราในประเทศไทย
ดังนั้น รัฐบาลจึงมีความจำเป็นต้องใช้งบประมาณเพิ่ม เพื่อจ่ายค่าชดเชยส่วนต่าง (ระหว่างราคาประกัน-ราคาอ้างอิง) ที่เพิ่มขึ้น ครม.จึงอนุมัติวงเงินงบประมาณเพิ่มเติมโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 1 จำนวน 2,347.90 ล้านบาท จากเดิมที่ ครม. เคยอนุมัติไปแล้ว เมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2562 วงเงิน 24,000 ล้านบาท โดยใช้แหล่งเงินทุนจาก ธ.ก.ส. สำรองจ่ายไปก่อน และขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีต่อไป
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้ติดตามสถานการณ์ราคายางพาราทั้งในตลาดโลกและราคาในประเทศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ราคายางในประเทศมีแนวโน้มขยับตัวเพิ่มขึ้นบ้าง อย่างไรก็ตาม ภายใต้ภาวะความต้องการในตลาดโลกที่ลดลง เนื่องจากผลกระทบจากโควิด-19 รัฐบาลได้มุ่งมั่นส่งเสริมการใช้ยางพาราในประเทศ โดยเน้นที่ส่วนราชการเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ และออกมาตรการจูงใจให้เกษตรกรปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นทดแทน เพื่อเป็นการสร้างรายได้เสริมให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางและลดปริมาณการผลิตยางพาราออกสู่ตลาด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: