การเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่สำหรับประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจเป็นอันดับที่ 2 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังจะเกิดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคม 2562 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 8 ปี หากนับการเลือกตั้งครั้งล่าสุดจากวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 เนื่องจากการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าเป็นการเลือกตั้งที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
สำนักข่าวบลูมเบิร์กวิเคราะห์สถานการณ์เมืองไทยในปัจจุบันว่าความแตกแยกยั่งคงมีอยู่อีกทั้งยังหยั่งรากลึกลงไปในความคิดของประชาชน ซึ่งอาจสร้างความลำบากให้กับรัฐสภาภายหลังการนับคะแนนได้ พร้อมอ้างถึงความขัดแย้งที่เป็นสาเหตุไปสู่การนองเลือดในอดีตของประเทศไทย
สถานการณ์ความไม่แน่นอนในการเลือกตั้งครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยโดยตรงในด้านการส่งออกและการท่องเที่ยวซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ในปี 2561 การเติบโตของปัจจัยทั้ง 2 ด้าน ของไทยช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้านมาก
ขณะเดียวกันประเทศไทยยังต้องดิ้นรนกับความเสี่ยงของสถานการณ์เงินบาทที่ไม่คงที่ท่ามกลางสภาวะการค้าโลกที่ชะลอตัวลง อีกทั้งนักลงทุนชาวต่างชาติมีการถอนเงินทุนมูลค่ากว่า 7 ร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 2.2 หมื่นล้านบาท ออกจากตลาดหุ้นและพันธบัตรในปีที่ผ่านมา
การเลือกตั้งปี 62
มีการคาดการณ์ว่าตัวเลขประชาชนที่จะออกมาเลือกตั้งในวันอาทิตย์นี้จะอยู่ราว 51 ล้านคน หลังจากประเทศอยู่ภายใต้รัฐบาลทหารเป็นเวลาเกือบ 5 ปี และดูเหมือนว่าจะยังมีความพยายามในการสืบทอดอำนาจต่อไป
หลายฝ่ายมองว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ถูกแบ่งออกเป็น 2 ฝั่ง คือฝั่งประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของไทย ที่ได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายสนับสนุนสถาบันกษัตริย์และกลุ่มทหารชั้นสูงที่มีเจตจำนงในการล้มล้างทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย ขณะที่อีกฝ่ายก็คือฝ่ายของทักษิณและพันธมิตร ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มคนรายได้น้อยและชนะการเลือกตั้งทุกครั้งตั้งแต่ปี 2544 ‘ซึ่งหากไม่โดนรัฐประหารโดยทหารก็โดนคำสั่งศาลตัดสินให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ’
ผลลัพธ์แบบชั่วคราวน่าจะเป็นที่ทราบโดยทั่วกันในช่วงค่ำของวันอาทิตย์ ขณะที่การนับคะแนนอย่างเป็นทางการอาจต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์ในการตรวจสอบบัตรเลือกตั้ง
ข้อได้เปรียบของทหาร
สำนักข่าวเดอะการ์เดียนวิเคราะห์ถึงข้อได้เปรียบในการเลือกตั้งครั้งนี้ของฝ่ายทหารว่า ตลอดเวลา 5 ปีที่ผ่านมาในอำนาจ รัฐบาลทหารออกมาตรการหลายอย่างที่เอื้อประโยชน์ให้ฝ่ายของตน
ในปี 2559 มีการจัดการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่อำนาจรัฐบาลในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว. 250 ตำแหน่งเข้าไปในสภา ซึ่งเชื่อว่าเป็นความพยายามในการขัดขวางการชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายของพรรคเพื่อไทย และอนุญาตให้ผู้ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งสามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้ อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่าเป็นการประกันตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกหนึ่งสมัยให้กับ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นักเคลื่อนไหวด้านประชาธิปไตยและนักวิเคราะห์ทางการเมืองหลายฝ่ายมองเหมือนกันว่า การเลือกตั้งครั้งนี้มีความเป็นไปได้น้อยที่จะเป็นไปด้วยความอิสระและยุติธรรม เนื่องจากประเทศไทยยังอยู่ภายใต้การปกครองของอำนาจทหาร อีกทั้งรัฐบาลยังมีอำนาจเบ็ดเสร็จตาม "มาตรา 44" และการเซนเซอร์สื่ออย่างเข้มงวดและพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ห้ามไม่ให้มีการวิจารณ์รัฐบาลทหาร
การยุบพรรคไทยรักษาชาติซึ่งเป็นพรรคสนับสนุนประชาธิปไตยเต็มตัว และการที่ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ต้องเผชิญหลายข้อกล่าวหาในช่วงเวลาการหาเสียงเลือกตั้ง ล้วนถูกมองเป็นกลยุทธ์ในการตัดคู่แข่งของพรรคสนับสนุนรัฐบาลทหารทั้งสิ้น
ใครจะชนะ ?
แม้ว่ารัฐบาลทหารจะมีความพยายามยิ่งในการเอื้อประโยชน์ให้ฝ่ายของตน แต่สำนักข่าวเดอะกร์เดียนมองว่ามีความเป็นไปได้ต่ำที่พรรคพลังประชารัฐซึ่งสนับสนุนรัฐบาลทหารอย่างชัดเจนจะได้เก้าอี้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส) จากการเลือกตั้งเพียงพอแม้จะอีก 250 เสียง ส.ว. ก็ตาม
ในประเด็นนี้ นักวิเคราะห์ที่ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นมองว่าพรรคเก่าแก่ที่สุดของไทยอย่างพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นั่งเป็นหัวหน้าพรรคจะเข้ามาเป็นตัวแปรสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งหากพรรคประชาธิปัตย์ตัดสินใจเข้าร่วมกับพรรคพลังประชารัตน์ก็มีความเป็นไปได้สูงที่ พลเอก ประยุทธ์ จะได้นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีของไทยต่ออีกหนึ่งสมัย
อย่างไรก็ตาม การจับมือกันของฝั่งพรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ รวมถึงพรรคภูมิใจไทย ก็คงไม่ได้ทำให้เกิดเสียงมากนักรวมถึงความสัมพันธ์ที่ไม่เข้มแข็งโดยแท้ เมื่อพรรคเพื่อไทยและพรรคอนาคตใหม่เข้าไปเป็นฝ่ายค้านในรัฐสภา และแน่นอนว่าความเป็นไปได้ที่พรรคเพื่อไทยจะชนะการเลือกตั้งครั้งนี้อย่างถล่มทลายก็ยังมีอยู่ แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่ทหารจะทำทุกวิถีทางเพื่อหยุดยั้งสิ่งนั้นไม่ให้เกิดขึ้น
อ้างอิง; Bloomberg, The Guardian, CNN