ไม่พบผลการค้นหา
ผู้แทนหลายภาคส่วนร่วมเสนอแนวทางพัฒนาท่องเที่ยวชุมชน ชี้งบประมาณต้องถึง นโยบายต้องชัด ที่สำคัญควรบูรณาการร่วมกันทุกภาคส่วน

เมื่อวันที่ 26 ก.ย. เวทีเสวนา “ร่วมคิด ร่วมคุย รัฐ เอกชน วิชาการและชุมชน ผนึกกำลังอย่างไร เพื่อการท่องเที่ยวโดยชุมชนไทยเติบโตไปอย่างยั่งยืน”

นายบุญเสริม ขันแก้ว ผู้อำนวยการกองพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว กรมการท่องเที่ยว กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนนักท่องท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกๆ ปี ประเมินว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะมีนักท่องเที่ยวเพิ่ม 70 ล้านคน หากกระจุกตัวแต่ในเมืองใหญ่จะเกิดปัญหาตามมา ทั้งในแง่ผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต และการจราจร ดังนั้นจึงถึงเวลาที่ต้องพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชน

เสวนาท่องเที่ยวชุมชน
  • นายบุญเสริม ขันแก้ว ผู้อำนวยการกองพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว กรมการท่องเที่ยว

โดยการท่องเที่ยวชุมชนจำเป็นที่จะต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในการเชื่อมโยงแต่ละพื้นที่ ที่ผ่านมาพัฒนาชุมชน การส่งเสริมการเกษตร หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างแยกกันทำ ทำให้การท่องเที่ยวชุมชนจึงยังม่ได้ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ซึ่งปัญหาอุปสรรคที่สำคัญอยู่ที่ ประเด็นรายได้หลักและรายได้เสริม จะเห็นว่าบางพื้นที่เห็นพื้นที่อื่นประสบความสำเร็จแล้วอยากทำบ้าง แต่ก็ทำได้แค่บางช่วง บางฤดูกาล จนไปสู่การเลิกล้มแนวคิด ดังนั้นควรวางหลักการท่องเที่ยวชุมชนให้เป็นรายได้เสริม เพราะแต่ละชุมชนมีการสร้างรายได้หลักอยู่แล้ว ขณะเดียวภาครัฐไม่ควรไปใส่เติมอย่างอื่นให้เพราะแต่ละพื้นที่มีจุดเด่นอยู่แล้ว

พัฒนาท่องเที่ยวชุมชนต้องเชื่อมโยงทุกหน่วยงาน

นายไมตรี พุทธวงษ์ หัวหน้างานบริหารภาคีเครือข่าย องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน กล่าวว่า การพัฒนาท่องเที่ยวชุมชน ควรมี พรบ.ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวชุมชน ไม่ใช่ดำเนินการโดยอนุโลม ต้องมีกลไกที่สามารถเชื่อมโยงท้องถิ่น ทั้งการกำหนดนิยามของการท่องเที่ยวชุมชน หลังจากนั้นจะต้องเข้าสู่กระบวนการคัดกรองพื้นที่ที่เข้าเงื่อนไขตามวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม และจำเป็นที่จะต้องได้รับการสนับสนุนโดยหน่วยงานในพื้นที่ในการเข้ามาเป็นพี่เลี้ยง

เสวนาท่องเที่ยวชุมชน
  • นายไมตรี พุทธวงษ์ หัวหน้างานบริหารภาคีเครือข่าย อพท.

“การขับเคลื่อนการท่องเที่ยวชุมชน บางพื้นที่ยังมีข้อจำกัด ทั้งในเรื่องของงบประมาณที่จะส่งลงไปในพื้นที่ ส่วนตัวอยากเห็นการร่วมมือมากกว่า เช่น บางหน่วยงานสนับสนุนงบประมาณ อีกหน่วยงานก็ต้องเข้ามาสร้างองค์ความรู้ การจัดอบรมเชิงวิชาการต่างๆ” นายไมตรี กล่าว

ททท. ยันโมเดล 3 สร้าง พัฒนาท่องเที่ยวชุมชน

นางสาวรัชฎาภรณ์ งามวิริยะ หัวหน้างานสร้างสรรค์กิจกรรมพิเศษ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า นโยบายที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน ททท. ได้วางไว้ 3 แนว ทาง คือ กลยุทธ์ 3 สร้าง ได้แก่ สร้างอาชีพ ความรู้ ให้กับภาคีสมาชิก เพื่อให้สามารถออกแบบกิจกรรมท่องเที่ยว แต่ต้องร่วมกับชุมชนไม่ใช่รัฐไปบอกว่าจะให้ชุมชนทำอะไร หรือไม่ทำอะไร อีกส่วนคือ สร้างการตลาด ต้องเข้าใจว่ามีการแข่งขันค่อนข้างสูงมากในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่เติบโตจะเน้นการท่องเที่ยวไปที่การสร้างรายได้ที่สำคัญ ทั้งนี้จะต้องมีความเข้าใจ มีความรู้ในการติดต่อสื่อสาร ส่วนสุดท้าย คือ สร้างโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ททท. ยืนยันว่าจะพยายามเป็นข้อต่อในส่วนของ Demand และ Supply ให้เกิดขึ้น

เสวนาท่องเที่ยวชุมชน
  • นางสาวรัชฎาภรณ์ งามวิริยะ หัวหน้างานสร้างสรรค์กิจกรรมพิเศษ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

ททท.ยืนยันว่า จะเป็นผู้นำส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม เมื่อนักท่องเที่ยวนึกจะไปเที่ยวไหนสักที่จะต้องนึกถึงประเทศไทย จะต้องทำหน้าที่เป็น โปรโมเตอร์ สื่อสารคุณค่าประเทศไทยให้นักท่องเที่ยวอยากมา และเมื่อต้องสร้างความประทับใจเพื่อให้เกิดการบอกต่อและกลับมาเที่ยวซ้ำ

นอกจากนี้จะต้องทำหน้าที่ในบทบาทการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานให้มาร่วมกันขับเคลื่อนไปกับท่องเที่ยวชุมชนให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งระบบเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างการกระจายรายได้ และสุดท้ายจะเป็น โพรไวเดอร์ ช่วยทั้งฝั่งลูกค้าและแหล่งท่องเที่ยว ในการเตรียมข้อมูลสนับสนุนกลุ่มนักท่องเที่ยวให้สนใจ รับทราบ รวมถึงข้อมูลเชิงลึกเพื่อให้ภาคีเครือข่ายในเรื่องการตลาด และพฤติกรรมการท่องเที่ยวให้สามารถพัฒนาสินค้าให้ตรงตามความต้องการของนักท่องเที่ยว

“ททท.จะทำงานร่วมกับชุม โดยให้ชุมชนเป็นตัวนำในการคิดว่าจะดึงคุณค่า อัตลักษณ์ออกมาสร้างสรรค์ หรือ ออกแบบในการสร้าง Tourism Product ห้ได้ และต้องสร้างคุณภาพชีวิตให้คนรุ่นใหม่เห็นว่าไม่จำเป็นที่จะต้องเข้ามาอยู่ในเมืองใหญ่ รวมถึงต้องให้ชุมชนได้ประโยชน์สูงสุด หากหลายชุมชนสามารถค้นหาเรื่องเล่า คุณค่าจะสามารถสร้างอัตลักษณ์ให้แต่ละพื้นที่ได้แน่นอน” นางสาวรัชฎาภรณ์ กล่าว

สทท.แนะถึงเวลาพัฒนาท่องเที่ยวชุมชน หลังอุตสาหกรรมเที่ยวไทยเริ่มทรงตัว

ดร.รุ่งโรจน์ สีเหลือสวัสดิ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในช่วงเวลานี้ถือว่าเป็นจังหวะเวลาที่สุกงอมที่จะต้องพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชน เพราะขณะนี้รายได้จากการท่องเที่ยวของไทยปีละประมาณ 1.8 ล้านล้านบาท มีการเติบโตที่อยู่ในภาวะเริ่มทรงตัว ดังนั้นอนาคตจำเป็นที่จะต้องกระจายรายได้ และการท่องเที่ยวไปที่ชุมชนท้องถิ่นให้มากขึ้น

เสวนาท่องเที่ยวชุมชน
  • ดร.รุ่งโรจน์ สีเหลือสวัสดิ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

ทั้งนี้รัฐบาลจะต้องมีการจัดทำแผนการพัฒนาท่องเที่ยวชุมชนที่ชัดเจน โดยเฉพาะในเรื่องการคมนาคมขนส่งจะต้องสะดวกและปลอดภัย ขณะที่อาหารจะต้องมีเอกลักษณ์ เพราะการใช้จ่ายเงินท่องเที่ยวของไทยมากกว่าครึ่งใช้จ่ายในโหมดของอารหาร

“รัฐบาลต้องช่วย 2 ศักยภาพ ทั้ง การเดินทางต้องให้สามารถเชื่อมโยง และขอให้ปลอดภัยเป็นพอ เชื่อว่าทุกตำบล หมู่บ้าน น่าเที่ยวหมดจะเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องที่ยวอย่างแน่นอน” ดร.รุ่งโรจน์ กล่าว

ภาคประชน ชี้คนในพื้นที่ยังขาดการมีส่วนร่วม

นายสมศักดิ์ อินทะชัย ผู้แทนเครือข่ายส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนระดับประเทศ กล่าวว่า นิยามการท่องเที่ยวชุมชน คือ การท่องเที่ยวที่บริหารจัดการโดยชุมชน เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนา ผ่านการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ในการจัดการทรัพยากร ภูมิปัญหาอันทรงคุณค่า สร้างสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม วิถี วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม อย่างยั่งยืน นำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดี เพื่อความสมดุลของคนในชุมชน นักท่องเที่ยวและผู้มาเยือน ซึ่งประเด็นสำคัญของการพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชน ภาคประชาชนในพื้นที่จะต้องเข้ามามีบทบาท และมีส่วนร่วมในการเสนอแนวทางการพัฒนา แต่ที่ผ่านมาพบว่า การเสนอแนวทางจากภาคประชาชนยังไม่ได้มีบทบาทเท่าที่ควร

เสวนาท่องเที่ยวชุมชน
  • นายสมศักดิ์ อินทะชัย ผู้แทนเครือข่ายส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนระดับประเทศ

ทั้งนี้ความต้องการของคนในพื้นที่ ยังมีอยู่หลายประเด็นที่อยากให้หน่วยงานภาครัฐสนับสนุน และการสร้างการมีส่วนร่วม ควรมีการบูรณาการร่วมกัน ขอให้หน่วยงานที่อยู่ในพื้นที่รับฟังสิ่งที่คนในชุมชนต้องการเสนอ นอกจากนี้จะต้องทำให้เกิดการรวมตัวในระดับจังหวัด รวมถึงเผยแพร่ข้อมูลของชุมชนในเครือข่าย ให้สามารถคัดกรองชุมชนที่มีศักยภาพก่อนโดยให้เป็นขั้นเป็นตอน โดยเริ่มจากทำเล็กไปหาใหญ่ ทั้งนี้ควรจะมีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ CBT ของชาติ เชื่อมโยงหน่วยงานต่างๆ ที่มีใจเดียวกันเพื่อเข้าสู่ตลาดที่เหมาะสม แผนการจัดการความเปลี่ยนแปลงในชุมชน ผลักดัน พรบ. CBT และกฎหมายที่เหมาะสม รวมถึงกองทุน CBT Thailand และที่สำคัญคือการเติมงบประมาณเข้าไปในแต่ละพื้นที่ให้เพียงพอด้วย

“ถ้าท่านไม่ก่อไฟให้เรา เมื่อมีเหตุการณ์ที่เกิดฝนตกไฟดับ เราก็จะมีปัญหาแน่นอน ที่ผ่านมาชุมชนไม่ค่อยได้มีโอกาสในการเสนอแผนการท่องเที่ยวเลย ถ้าชุมชนเข้มแข็ง ประเทศชาติก็อย่างยั่งยืน ถ้าจะกำหนดยุทธศาสตร์ เราขอไปเป็นตัวแทนได้ไหม เพื่อเสนอพร้อมรับทราบแนวทางของท่าน” นายสมศักดิ์ กล่าว

ทางฟากฝั่งนโยบาย นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ระบุว่า จะเร่งเดินหน้าขับเคลื่อนการท่องเที่ยวโดยชุมชน เน้นแนวทางส่งเสริม "โฮมสเตย์" หวังสร้างรายได้ชุมชนเพิ่ม โดยจะนำเสนอ ครม.เศรษฐกิจ ภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งมั่นใจว่าทุกจังหวัดและทุกชุมชนจะได้รับประโยชน์ และเพิ่มสัดส่วนการท่องเที่ยวภายในประเทศที่ปัจจุบันอยู่ 1 ใน 3 ของรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมดขึ้นมาให้ได้ถึงครึ่ง จึงต้องติดตามว่านโยบายที่เกี่ยวข้องที่จะผลักดันจะเห็นผลเป็นรูปธรรมมากน้อยเพียงใด