ภาพกลุ่มเด็กผู้หญิงในชุดนักเรียน กระโดดโยนดาบกระแทกใส่คู่ต่อสู้อย่างดุเด็ดเผ็ดมันชนิดคนดูแทบหยุดหายใจ บ้างร่วงพ่ายเพราะถูกกระบี่ฟัน บ้างโดนถีบขาคู่จนกระเด็น ขณะที่บางส่วนถูกโล่กระแทกเข้าที่ใบหน้าจนหงายหลัง
ทั้งหมดนี้คือเหตุการณ์ที่ถูกถ่ายทอดผ่านคลิปวิดีโอการฝึกซ้อมของชมรม 'กระบี่กระบอง' ที่กำลังถูกแชร์ต่ออย่างกว้างขวางไปทั่วโลกออนไลน์
"เป็นคลิปเก่าประมาณ 10 ปีแล้วครับ คุณครูท่านหนึ่งอัพโหลดการฝึกซ้อมลงเฟซบุ๊กอยู่เรื่อยๆ แต่ไม่ทราบทำไมคลิปนี้ถึงได้รับความสนใจมากขนาดนี้" กอล์ฟ-พัชรพล บัณฑิตเกตุมาลา คุณครูผู้ดูแลชมรมกระบี่กระบอง ของโรงเรียนธนบุรีวรเทพีพลารักษ์กล่าวถึงความสำเร็จของคลิปดังกล่าวด้วยความแปลกใจ หลังมีผู้ชมนับล้านครั้งในโซเชียลมีเดีย
‘กระบี่กระบอง’ เป็นกีฬาที่สืบทอดมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ โดยนำเอาศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวด้วยอาวุธที่ใช้สู้รบกันในสมัยโบราณ มาฝึกซ้อมและเล่นกันในยามสงบ โดยนำหวายมาทำเป็นกระบี่ ดาบ ง้าว ไม้ศอก ฯลฯ และเอาหนังมาทำโล่ เขน ดั้ง แล้วจัดมาต่อสู้กันเล่นหรือแข่งขันกัน เสมือนอยู่ในสนามรบ เป็นการฝึกหัดรุกและรับไปในตัว
ปัจจุบันวิชากระบี่กระบองได้มีการพัฒนาบรรจุเป็นหลักสูตรในวิชาพลศึกษาและเป็นกิจกรรมตัวเลือกในหลากหลายโรงเรียน รวมถึงโรงเรียนธนบุรีวรเทพีพลารักษ์ ที่เปิดรับเด็กทุกระดับชั้น ไม่จำกัดเพศ เข้าร่วมฝึกฝน โดยที่ผ่านมาชมรมฯ สามารถคว้ารางวัลทั้งในและต่างประเทศมาได้อย่างสม่ำเสมอ
รูปแบบในการฝึกซ้อม ครูกอล์ฟ เล่าว่า เริ่มจากจับคู่เด็กกับอาวุธที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงรูปร่าง ความชอบส่วนตัว และการเคลื่อนไหวของร่างกาย พัฒนาลีลาการต่อสู้จากการผสมผสานศิลปะหลากหลายแขนง เช่น มวยไทย วูซู พร้อมกับนำยิมนาสติกเข้ามาเพิ่มความยืดหยุ่นให้ร่างกาย
“ไม่มีข้อจำกัด ผู้หญิง ผู้ชาย ตัวใหญ่ ตัวเล็ก ได้หมด ตัวเล็กได้เปรียบเรื่องความคล่องตัว ตัวใหญ่ได้เรื่องความดุดัน เราเลือกอาวุธที่เหมาะสมเพื่อให้เขาได้แสดงความสามารถของตัวเองออกมามากที่สุด”
สาเหตุที่ต้องฝึกซ้อมและแสดงอย่างจริงจังชนิดที่คนดูถึงกับต้องร้องว้าว เพราะเขาต้องการรักษาศิลปวัฒนธรรมของชาติ และไม่ต้องการให้คนมองว่า ‘กระบี่กระบอง’ เป็นเพียงวิชาร่ายรำอันน่าเบื่อหน่าย
“สมัยนี้หลายคนชอบเหยียดหยาม เรียนไปทำไม ไม่มีประโยชน์ เขาใช้อาวุธอื่นๆ กันหมดแล้ว เเต่ผมคิดว่าคนพูดแบบนี้ไม่รู้ว่าการเรียนจริงๆ จังๆ เป็นยังไง มันสนุก ป้องกันตัวได้ รับรองไม่มีเบื่อ พวกต่างชาติเขาพากันชื่นชมเวลาเด็กๆ เราไปแสดง เสียดายที่บางคนไม่รู้ว่ามันมีประโยชน์”
ในแง่ความปลอดภัย ‘อ.พัชรพล’ พยายามดูแลอย่างดีและมีเทคนิคในการฝึกซ้อมเพื่อลดโอกาสเกิดอุบัติเหตุให้เหลือน้อยลงที่สุด
“เราปล่อยให้เขาจับจังหวะ รุกรับกันเอง ก่อนจะค่อยๆ เพิ่มความรุนแรงและน้ำหนักมากขึ้น จนเกิดความเข้าขากัน เทคนิคในการลงดาบ เราใส่เต็มที่ 100 เปอร์เซ็นต์จริง แต่ใช้วิธีเฉือนราบลง โดยบิดข้อมือเล็กน้อยเพื่อเบี่ยงเบนทิศทางในการตี ทำให้แรงกระทบของอาวุธน้อยลง แต่ยังดูเสมือนจริง การล้มและม้วนตัวหลบ เรานำยิมนาสติกเข้ามาช่วย เพื่อให้ทุกคนปลอดภัย มีความมั่นใจและสามารถแสดงออกได้อย่างสวยงาม”
ปีที่แล้วโรงเรียนธนบุรีวรเทพีพลารักษ์ คว้ารางวัลคะแนนร่วมสูงสุดในการแข่งขันที่จัดขึ้นโดยกรมพลศึกษา และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในรุ่นอายุ 15 ปี และ 18 ปี ทั้งประเภทชายและหญิง , รางวัลชนะเลิศ 6 รายการการแข่งขันดาบไทย เนื่องในวันระลึกถึงสมเด็จพระนเรศวรมหาราช , คว้าอันดับ 1 ทีมที่ทำคะแนนรวมสูงสุด ในการแข่งขันกระบี่กระบอง ชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 11 รับถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ขณะเดียวกันยังร่วมแสดงผลงานในการประชุมศิลปะการต่อสู้นานาชาติ ที่เมืองฟูฉวน ประเทศจีนด้วย
ทั้งนี้นอกเหนือจากรางวัลแล้ว ศิลปะดังกล่าวยังสร้างรายได้ให้กับเด็กๆ อย่างสม่ำเสมอจากเงินรางวัลและการแสดงโชว์
'ติรนันทน์ ตุ้มทรัพย์' ชายรูปร่างดี ในฐานะประธานชมรมกระบี่กระบอง เขาเข้าชมรมตั้งแต่ ม.1 เพียงเพราะเห็นว่าแปลก แต่ทุกวันนี้สิ่งที่เขาได้รับคือประสบการณ์ ทักษะและโอกาสในการก้าวสู่วงการ "สตั๊นท์แมน"
“6 ปีที่ผ่านมา ผมได้ประสบการณ์มากมาย ได้เพื่อน พี่ น้อง และทักษะการแสดง อนาคตผมหวังว่าจะพัฒนาฝีมือจนเป็นสตั๊นท์แมนได้จริงๆ ” เขาบอกถึงความตั้งใจ
'ปรีดาพรรณ มณศรี' เข้าชมรมจากคำแนะนำของคุณพ่อเพื่อหวังให้ลูกสาวมีทักษะในการป้องกันตัว ปัจจุบันเธอเก่งและถนัดในการใช้อาวุธสั้นเป็นอย่างมาก
“ด้วยความที่ตัวเล็ก เลยใช้ได้อย่างคล่องตัว ชมรมนี้ให้อะไรกับเราหลายอย่าง ทักษะการป้องกันตัว ประสบการณ์ใหม่ๆ ในการเดินทางไปยังที่ต่างๆ ทั้งเมืองไทยและต่างประเทศ ไม่ได้น่าเบื่อเหมือนที่ใครบอกค่ะ”
จิรภัทร โห้เพ็ชร เห็นว่า สิ่งที่ยากที่สุดของการฝึกฝนคือ จังหวะและความสัมพันธ์กันระหว่างเพื่อนซึ่งเป็นคู่แสดง ซึ่งหากผิดพลาดก็หมายถึงอันตราย
“เริ่มฝึกจากมือและขาก่อน เคลื่อนไหวให้ร่างกายให้สัมพันธ์กับเพื่อน หนูเองเจออุบัติเหตุมาแล้ว 2 ครั้ง ที่แรงสุดคือคิ้วแตก แต่ไม่คิดจะเลิกเล่น เพราะเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้”
วรนิษฐา ด้วงทองอยู่ สาววัย 18 ปี บอกว่า ทักษะป้องกันตัวสำคัญมากสำหรับผู้หญิง เนื่องจากไม่รู้ว่าจะถูกละเมิดสิทธิหรือทำร้ายจากผู้อื่นโดยเฉพาะผู้ใกล้ชิดเมื่อไหร่
“เหตุร้ายเรื่องไม่คาดฝันเกิดขึ้นได้เสมอ ไม่ว่าจะเกิดกับตัวเองหรือผู้อื่น โดยเฉพาะในสังคมไทย ที่เราได้ยินเรื่องจี้ปล้นและข่มขืนบ่อยๆ”
สิ่งที่ผู้สอนคาดหวังว่าเด็กๆ จะได้รับคือ การนำเอาความรู้ความสามารถและทักษะไปต่อยอดในการศึกษาต่อ รวมถึงสร้างอาชีพและรายได้ในอนาคต
“ผมคาดหวังว่าพวกเขาจะได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ มีสมาธิ มีศีลธรรม มีร่างกายแข็งแรง มีรายได้ระหว่างเรียนเพื่อแบ่งเบาภาระพ่อแม่ ส่วนหลังเรียนจบ เด็กบางคนได้โค้วต้าเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย บางคนได้อาชีพ แสดงโชว์อยู่โรงละครต่างๆ เงินเดือน 3-4 หมื่นบาท พวกนี้คือความภาคภูมิใจของผม โรงเรียนและรวมถึงประเทศชาติด้วย” ครูหนุ่มที่เป็นอดีตลูกศิษย์ของชมรมแห่งนี้ทิ้งท้าย
(ครูกอล์ฟ พัชรพล บัณฑิตเกตุมาลา)
คลิปต้นเรื่องที่ถูกแชร์อย่างกว้างขวาง จากสมาชิกเฟซบุ๊กชื่อ Padipat Daradat