ไม่พบผลการค้นหา
สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย แนะประชาชนทั่วไปที่สบายดีใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาอาจเพิ่มความเสี่ยงติดเชื้อหากใช้ไม่ถูกวิธี ย้ำใส่เมื่ออยู่ในที่แออัด หน่วยงานของรัฐควรจัดหาหน้ากากอนามัยให้บุคลากรทางการแพทย์อย่างเพียงพอก่อน และจัดหาให้ประชาชนทั่วไปใช้งานเท่าที่จำเป็น

สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย ออกประกาศคำแนะนำเกี่ยวกับการใช้หน้ากากอนามัย สำหรับประชาชนทั่วไปในสถานการณ์การระบาดของโรคไวรัสโคโรนา-2019 (COVID-19) โดยระบุว่า สำหรับประชาชนทั่วไปที่สบายดี การใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาในที่สาธารณะ ไม่ช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อและอาจเพิ่มความเสี่ยงหากใช้ไม่ถูกวิธี เพราะจะเพิ่มโอกาสของการใช้มือสัมผัสใบหน้า

ทั้งนี้ ประชาชนควรสวมหน้ากากอนามัยเมื่อ ป่วยเป็นโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อจากต้นทาง โดยสามารถลดปริมาณเชื้อที่ออกมาปนเปื้อนสิ่งแวดล้อมเหลือ 1 ใน 3 ให้การดูแลผู้ปวยโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจใกล้ชิด เป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องให้การดูแลผู้ป่วย และควรใส่เมื่อเข้าไปในสถานที่ที่มีคนแออัด อากาศถ่ายเทไม่ดี

พร้อมกันนี้ ยังแนะนำว่าหากต้องการจะใส่หน้ากากอนามัย ควรปฏิบัติดังนี้

  • ควรใส่อย่างถูกต้องห้ามจับส่วนใด ๆ ของหน้ากากเมื่อใส่แล้ว
  • สามารถใช้ได้นานจนกว่าจะสกปรกหรือขาดตราบใดที่ยังอยู่บนใบหน้า
  • หากถอดแล้วต้องทิ้งเลย ห้ามใช้ซ้ำ
  • การใช้แอลกอฮอล์พ่นบนหน้ากากอนามัยไม่เกิดประโยชน์
  • ล้างมืออย่างถูกต้อง ก่อนและหลังใส่หน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
  • หน้ากากผ้า ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้

หน้ากากชนิด N-95 ใช้สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องดูแลผู้ปวยใกล้ชิดขณะทำหัตถการเกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจเท่านั้น ผู้ป่วยทั่วไปไม่ควรใช้หน้ากากชนิดนี้ เพราะจะหายใจไม่พอเนื่องจากหน้ากากชนิดนี้แน่นมาก อาจก่อให้เกิดอันตรายได้

ประกาศของสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย ระบุด้วยว่า การซื้อหน้ากากอนามัยไปใช้กันมาก ๆ โดยไม่มีข้อบ่งชี้ ทำให้เกิดการขาดแคลนส่งผลกระทบต่อผู้ที่มีความจำเป็นต้องใช้จริง ๆ ทำให้ควบคุมโรคได้ยากขึ้น สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย มีความเห็นว่าหน่วยงานของรัฐควรจัดหาหน้ากากอนามัยให้บุคลากรทางการแพทย์อย่างเพียงพอก่อนและจัดหาให้ประชาชนทั่วไปใช้งานเท่าที่จำเป็น

S__52953179.jpg