ไม่พบผลการค้นหา
เวิลด์แบงก์คาดจีดีพีโลกปีนี้ติดลบร้อยละ 5.2 ไทยติดลบร้อยละ 5.0 รองบ๊วยภูมิภาค ฟากเวียดนาม-เมียนมา-ลาว จีดีพียังเป็นบวก ประเมินปี 2564 เศรษฐกิจทุกประเทศมีลุ้นพลิกกลับมาเป็นบวก

รายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก ประจำปี 2563 จากธนาคารโลก ชี้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในปีนี้จะหดตัวติดลบร้อยละ 5.2 ซึ่งเป็นภาวะถดถอยที่รุนแรงที่สุดนับตั้งสงครามโลกครั้งที่สอง นอกจากนี้ ตัวเลขรายได้ประชาชาติหรือรายได้เฉลี่ยต่อหัวประชากรยังต่ำที่สุดในรอบ 150 ปี

กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งปีนี้จะลดลงราวร้อยละ 7 เนื่องจากฝั่งอุปสงค์ อุปทาน สายพานการผลิต การค้า และระบบการเงินถูกแทรกแซงจากวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 เป็นหลัก กลุ่มตลาดเกิดใหม่และประเทศที่กำลังพัฒนา (EMDEs) อาจต้องเผชิญหน้ากับการหดตัวของจีดีพีถึงร้อยละ 2.5 ในปีนี้ หลังประเทศในกลุ่มนี้เติบโตต่อเนื่องตลอด 6 ปีที่ผ่านมา

ส่วนตัวเลขคาดการณ์รายได้ประชาชาติของกลุ่มประเทศ EMDEs จะตกลงราวร้อยละ 3.6 ซึ่งจะส่งผลร้ายซ้ำเติมให้ประชาชนหลายล้านคนในประเทศเหล่านี้ตกอยู่ภายใต้ภาวะ ‘ความยากจนแร้นแค้น’ (extreme poverty) 

ธนาคารโลกชี้ว่าประเทศที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดจากวิกฤตครั้งนี้คือประเทศที่มีการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงและเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจพึ่งพาอุปสงค์ภายนอก อาทิ การค้าโลก การท่องเที่ยว การส่งออก และเงินทุนจากต่างประเทศเป็นหลัก ซึ่ง EMDEs เป็นกลุ่มประเทศที่อ่อนไหวกับภาวะนี้มากที่สุด

อีกทั้งมาตรการล็อกดาวน์ที่ทำให้เกิดการหยุดเรียนและปัญหาการเข้าถึงระบบสาธารณสุขพื้นฐานจะสร้างผลกระทบระยะยาวต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในระยะยาวเช่นเดียวกัน 

เซย์ลา พาซาร์บาซิโอกลู รองประธานฝ่ายการพัฒนาอย่างเป็นธรรม ระบบการเงินและสถาบัน ธนาคารโลก ชี้ว่า "นี่เป็นการประเมินที่ทำให้พวกเราตาสว่างอย่างสุดซึ้ง กับมิติว่าวิกฤตจะทิ้งแผลเป็นระยะยาวและสร้างให้เกิดความท้าทายใหม่ๆ กับโลกของเรา" 


ถ้าไม่นับประเทศหมู่เกาะ...ไทยเลวร้ายสุด 

ธนาคารโลกประเมินว่าจีดีพีทั้งปีของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกจะลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 0.5 ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2510 สะท้อนให้เห็นผลกระทบอย่างชัดเจนจากมาตรการล็อกดาวน์ที่ใช้ต่อสู้กับโรคระบาด ประกอบกับตลาดการเงินที่ฝืดเคืองและอัตราการส่งออกที่ลดลง

ทั้งนี้ แม้จะมีความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้า แต่ธนาคารโลกประเมินว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจจะกลับมาในระดับร้อยละ 6.6 ในปี 2564 เมื่อภาวะโรคระบาดหมดไป อุปสงค์จะฟื้นตัวและระบบการเงินกลับเข้าสู่สภาพปกติอีกครั้ง 

อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงเรื่องโรคระบาดที่อาจอยู่ยาวนานกว่าที่คาดไว้ยังคงเป็นไปได้ ซึ่งจะส่งผลเสียโดยตรงต่อระบบการเงินที่ตึงตัวต่อเนื่อง รวมไปถึงการค้าโลกที่จะได้รับผลกระทบต่อเนื่องทั้งจากโควิด-19 และความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน 

จีดีพี

เมื่อเทียบจีดีพีรายประเทศในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก พบว่าหมู่เกาะโซโลมอนมีตัวเลขคาดการณ์จีดีพีติดลบมากที่สุดที่ร้อยละ 6.7 ตามมาด้วยไทยที่ติดลบร้อยละ 5 ซึ่งธนาคารโลกชี้ว่ามาจากมาตรการล็อกดาวน์และการลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยวเป็นหลัก ขณะที่ติมอร์-เลสเต และหมู่เกาะฟิจิ ตามมาในอันดับ 3 และ 4 ที่ตัวเลขติดลบร้อยละ 4.8 และ 4.3 ตามลำดับ 

สำหรับประเทศที่ยังมีจีดีพีในแดนบวก ได้แก่ เวียดนามที่ร้อยละ 2.8 เมียนมาที่ร้อยละ 1.5 ลาวกับจีนที่ร้อยละ 1 และอินโดนีเซียที่ทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 0 โดยรายงานชี้ว่าทุกประเทศในภูมิภาคนี้จะมีจีดีพีกลับขึ้นมาเป็นบวกในปี 2564 ยกเว้นแค่หมู่เกาะโซโลมอนเท่านั้นที่จะยังติดลบในสัดส่วนร้อยละ 0.3

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :