ไม่พบผลการค้นหา
พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ยืนยัน การพักโทษ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในคดีจำนำข้าว เป็นไปตามกฎหมาย-ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการฯ-ต้องรายงานตัวกับกรมคุมประพฤติ

วันนี้ (3 ธันวาคม 2567) ผู้สื่อข่าวรายงานจากตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ว่า ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน กรณีการพักโทษ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในคดีจำนำข้าว สมัยรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รวมถึงข้าราชการ มีการพักโทษด้วยหรือไม่ ? ว่า ถ้าครบเกณฑ์ ซึ่งบอกให้อธิบดีกรมราชทัณฑ์ รวบรวมประเด็นและชี้แจงไปแล้ว ส่วนแนวทางการปฏิบัติก็เหมือนเดิม ซึ่งในส่วนของการพักโทษกรมราชทัณฑ์ ก็ปฏิบัติตามกฎหมายการพักโทษ แต่ยังมีโทษอยู่ ถือเป็นกระบวนการหนึ่งของกฎหมาย ในอดีตอาจจะไม่มี แต่ขณะนี้ก็จะมีเกณฑ์คร่าว ๆ คือ 6 เดือน หรือ 1 ใน 3, 2 ใน 3 ในส่วนของ นายบุญทรง บางคนบอกว่าโทษดูเยอะ แต่ถูกพักโทษ เพราะได้รับพระราชทานอภัยโทษมา 4 ครั้ง เหลือโทษ 10 ปี ถูกลงโทษมาแล้ว 7 ปี 6 เดือน เหลือประมาณ 3 ปี โดยการพักโทษจะถือภูมิลำเนา ของผู้อุปการะ ซึ่งในกรณีของนายบุญทรง ผู้อุปการะคือบุตรชาย ซึ่งอาศัยอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยติดกำไรอีเอ็ม และต้องรายงานตัวกับกรมคุมประพฤติที่จังหวัดเชียงใหม่ ส่วนคนอื่น ๆ ในคดีจำนำข้าวและข้าราชการมีหลายคนที่ได้พักโทษ เพราะเราไม่เลือกปฏิบัติ ส่วนใหญ่กฎหมายการพักโทษเป็นการบริหารของกรมราชทัณฑ์ ไม่มาถึงตัวรัฐมนตรี การพักโทษไปสั่งการไม่ได้ เป็นรูปแบบของคณะกรรมการ มีคณะอนุกรรมการ พิจารณาพักโทษ ถ้าไม่มีมติเอกฉันท์ ก็ต้องทบทวน ซึ่งคณะกรรมการจะมาจากกระบวนการยุติธรรม เช่น อัยการ ศาล เจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ กรมคุมประพฤติ ปปส. แพทย์ และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า โทษของนายบุญทรง พักโทษประมาณเกือบ 3 ปี มีข้อห้ามไม่สามารถเดินทางไปต่างประเทศ เพราะกฎหมายไม่อนุญาต แต่เดินทางออกนอกจังหวัดเชียงใหม่จะต้องขออนุญาต

ส่วนกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า โทษจำคุกจำนวนมาก แต่ติดจริงไม่กี่ปี และได้รับการพักโทษ นั้น พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทยประเทศเดียว ทั่วโลกก็เป็นแบบนี้ ล่าสุด เพิ่งพบกับอธิบดีกรมราชทัณฑ์มาเลเซีย ได้บอกว่า ในปีก่อนเรือนจำมีนักโทษกว่า 70,000 ราย ถูกพักโทษประมาณ 30,000 ราย แต่ปีที่จะถึงนี้ 70,000 รายจะได้รับการพักโทษ เพราะมองว่ามนุษย์ทุกคนมีสิทธิก้าวพลาด มีคุณค่า มีศักดิ์ศรี โดยเฉพาะกรณีผู้สูงอายุ เราเชื่อว่าไม่กระทำผิดซ้ำ เราใช้หลักอาชญาวิทยา ซึ่งกฎหมายกรมราชทัณฑ์ แม้แต่ตัวรัฐมนตรีก็ไม่มีอำนาจ มีแค่ทราบ ที่สำคัญเป็นเรื่องของคณะกรรมการ กฎหมายถูกออกแบบในปี 2560 ซึ่งอาจจะออกแบบโดยไม่ไว้ใจ คดีจำนำข้าวอยู่แล้ว จึงมีการศึกษาวิจัย คุณสมบัติของคณะกรรมการพักโทษจึงมาจากกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด ตั้งแต่ต้นน้ำ ปลายน้ำจนถึงศาล แต่การพระราชทานอภัยโทษไม่ได้อยู่ใน พ.ร.บ.กรมราชทัณฑ์