ไม่พบผลการค้นหา
กรมอุตุฯ ออกประกาศเตือนไทยตอนบนเกิดพายุฤดูร้อน 12-14 เม.ย. นี้ ระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนอง และฟ้าผ่าบางพื้นที่ หลีกเลี่ยงสิ่งปลูกสร้าง ต้นไม้ ป้ายโฆษณาที่อาจโค่นล้มได้จากพายุ

กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศเรื่อง "พายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทยตอนบน (มีผลกระทบจนถึงวันที่ 14 เม.ย. 2563)" ฉบับที่ 4 ลงวันที่ 12 เม.ย. 2563 ประเทศไทยตอนบนจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น ซึ่งมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้ กับมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะได้รับผลกระทบก่อน ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระวังอันตรายจากพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ฟ้าผ่า และลูกเห็บตกที่อาจเกิดขึ้น หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้าง และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย     

จังหวัดที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ มีดังนี้

วันที่ 12 เม.ย. 2563

ภาคเหนือ: จังหวัดน่าน พะเยา แพร่ อุตรดิตถ์ พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มุกดาหาร มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี

ภาคตะวันออก: จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด

ภาคกลาง: จังหวัดนครสวรรค์ ลพบุรี และสระบุรี

ในช่วงวันที่ 13-14 เม.ย. 2563

ภาคเหนือ: จังหวัดแม่ฮ่องสอน น่าน พะเยา แพร่ เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ พิษณุโลก พิจิตร สุโขทัย กำแพงเพชร และตาก

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย หนองบัวลำภู ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ และสุรินทร์

ภาคตะวันออก: จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด

ภาคกลาง: จังหวัดนครสวรรค์ ลพบุรี สระบุรี ชัยนาท อ่างทอง สิงห์บุรี พระนครศรีอยุธยา อุทัยธานี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และราชบุรี รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ทั้งนี้เนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนอีกระลอกจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ ในขณะที่ประเทศไทยมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ทำให้เกิดการปะทะกันของมวลอากาศเย็นและอากาศร้อน ส่งผลทำให้มีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น