วันนี้ (8 เมษายน 2568) นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมหารือมาตรการรับมือกับนโยบายภาษีของสหรัฐอเมริกา โดยมีนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายพรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี นางนลินี ทวีสิน ประธานผู้แทนการค้าไทย และนางสาว ธีราภา ไพโรหกุล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง
นอกจากนี้ที่ประชุมฯ ยังมีคณะทำงานนโยบายการค้าสหรัฐอเมริกา เข้าร่วมประชุม ซึ่งประกอบด้วย นายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ ประธานที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี นายศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร นางสาวโชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ นางสาวใจไทย อุปการนิติเกษตร รองอธิบดีกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ นางขวัญนภา ผิวนิล นักวิชาการพาณิชย์เชี่ยวชาญ และนายโอม บัวเขียว คณะทำงานประธานที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า สืบเนื่องจากการประกาศใช้มาตรการ “Reciprocal Tariff” และ “Liberation Day” อย่างเป็นทางการ ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา ถือเป็นการ “กำหนดกติกาการค้าโลกในรูปแบบใหม่” ที่อาจส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อระบบเศรษฐกิจโลก รวมถึงต่อประเทศไทยในฐานะประเทศคู่ค้าสำคัญของสหรัฐฯ
รัฐบาลได้ตระหนักถึงความสำคัญของสถานการณ์ดังกล่าว และติดตามพัฒนาการอย่างใกล้ชิดตั้งแต่ 6 มกราคม 2568 ได้จัดตั้ง “คณะทำงานนโยบายการค้าสหรัฐอเมริกา” โดยมีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน และมีผู้ทรงคุณวุฒิร่วมเป็นที่ปรึกษา อาทิ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.พันศักดิ์ วิญญรัตน์ และ ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ โดยมีเป้าหมายเพื่อศึกษา วิเคราะห์แนวโน้ม ตลอดจนกำหนดแนวทางรับมือทั้งในเชิงนโยบายและเชิงปฏิบัติร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมอย่างรอบด้าน
ทั้งนี้ ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อเช้านี้ ได้มีการมอบหมายให้นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าคณะไปพูดคุยกับหลายภาคส่วนของอเมริกา โดยจะได้มีการประสานนัดหมาย เพื่อทำการพูดคุยกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) และหน่วยงานอื่นๆ ของสหรัฐ เพื่อนำเอาข้อเสนอของไทย ไปเจรจาต่อรอง
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การประชุมวันนี้ เป็นการติดตามสถานการณ์เพื่อกำหนด “ก้าวต่อไป” อย่างรอบคอบ เพื่อประโยชน์สูงสุดของคนไทย สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การวางยุทธศาสตร์และมาตรการต่าง ๆ ที่ตั้งอยู่บนหลักการ “รู้เขา” และ “รู้เรา” ซึ่งในวันนี้ ที่ประชุมไม่เพียงแต่ได้รับทราบรูปแบบการตอบโต้และแนวทางรับมือของประเทศต่าง ๆ ต่อมาตรการของสหรัฐฯ เท่านั้น แต่ยังได้เห็นถึงปฏิกิริยาและการเคลื่อนไหวภายในสหรัฐฯ ที่ได้รับผลกระทบด้วย
นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า การดำเนินการของรัฐบาลต้องอาศัยความ “เร็ว” ด้วยการจัดตั้งคณะทำงานมาตั้งแต่เดือนมกราคม ก่อนประธานาธิบดีสหรัฐฯ เข้ารับตำแหน่งเสียอีก พร้อมประสานงานกับสหรัฐฯ มาตลอด ล่าสุดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้รับการยืนยันจากผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) สำหรับการหารือเจรจาแล้ว นอกจากนี้ จะต้อง “แม่นยำ” เพื่อให้การตัดสินใจตั้งอยู่บนข้อมูลที่ถูกต้องและรอบด้าน ติดตามความเคลื่อนไหวจากทุกภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบเพื่อประเมินและหาข้อสรุปในการเจรจา
นอกจากการตอบสนองเชิงนโยบายระยะสั้นแล้ว นายกรัฐมนตรีระบุว่า รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับการวางยุทธศาสตร์ระยะยาว โดยเน้นการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อเสริมความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และการเปิดตลาดใหม่ให้กับสินค้าและบริการของไทย เพื่อลดการพึ่งพาตลาดเดิม พร้อมทั้งเตรียมมาตรการเยียวยาในระดับภาคประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยและแรงงานที่อาจได้รับผลกระทบจากมาตรการใหม่ของสหรัฐฯ
ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าวย้ำว่า การเจรจาทางการค้าระหว่างประเทศไม่ใช่กระบวนการที่จบภายในครั้งเดียว แต่ต้องอาศัยการเจรจาหลายระดับ หลายเวที และต้องใช้เวลาในการประสานประโยชน์ร่วมกัน พร้อมขอให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันรวบรวมข้อมูล รายงานสถานการณ์ล่าสุด และเสนอแนวทางการดำเนินงานที่ชัดเจน เพื่อให้รัฐบาลสามารถกำหนดนโยบายที่ตอบโจทย์ทั้งเชิงเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศ
นายกรัฐมนตรียืนยันว่า นโยบายของรัฐบาลยึดผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นสำคัญ รัฐบาลจะดำเนินการทุกอย่างอย่างรอบคอบ ไม่ประมาท เพื่อไม่ให้ไทยต้องเสียเปรียบบนเวทีเศรษฐกิจโลก