ความจอมปลอมในการทำเสมือนว่าประเทศไทยเป็นรัฐฆราวาส (secular state) อย่างแท้จริงคือประเด็นสำคัญตลอดการสัมภาษณ์พิเศษของ 'วอยซ์' กับ 'พระเอิร์ท' ผู้ย้ำชัด ผ้าเหลืองไม่อาจกั้นกลางระหว่างความเป็นอยู่ของประชาชนกับกิจของสงฆ์ให้ออกจากกัน
ท่ามกลางการเคลื่อนขบวนจากบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยมุ่งหน้าสู่พระบรมมหาราชวังของเหล่ามวลชนที่หวังยื่นจดหมายให้กับสถาบันสูงสุดของประเทศ กลุ่มพระสงฆ์และเณรจำนวนหนึ่งรั้งอยู่ช่วงท้ายขบวน เคลื่อนที่คล้อยไปตามกระแสประชาชน ก่อนหยุดเป็นครั้งคราวเพื่อกล่าวปราศรัยในประเด็นศาสนากับการเมือง
ความไม่คุ้นชินที่พบเห็นได้บ่อยขึ้นตลอดการชุมนุมประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย-ปฏิรูปที่ผ่านมา ทำให้หลายฝ่ายตั้งข้อสงสัยไม่น้อยว่าแท้จริงแล้ว พระสงฆ์มีหน้าที่ สิทธิ หรือแม้แต่เสรีภาพในการก้าวเข้ามาสู่ความขัดแย้งของประชาชนจริงหรือไม่
เพื่อตอบข้อสงสัยดังกล่าว 'พระเอิร์ท' เปรียบเทียบว่า ท้ายที่สุดแล้ว สงฆ์ไม่อาจตัดขาดจากประชาชนทั่วไปได้เพราะ "หากท้องของประชาชนไม่อิ่ม ท้องพระก็คงจะไม่อิ่มแน่นอน" ด้วยเหตุนี้ เมื่อประชาชนในประเทศเผชิญหน้ากับความยากลำบากและไม่เป็นธรรม แม้พระสงฆ์ไม่อาจออกมาเป็นผู้นำ แต่ยังสามารถออกมายืนเคียงข้างผู้เรียกร้องได้แน่นอน สอดคล้องกับพระภิกษุจากแดนอีสานอีกรูปที่สะท้อนว่า ในสังคมปัจจุบัน "แม้แต่พระต้องยกระดับในความเป็นประชาธิปไตยของพระสงฆ์ด้วย"
นอกจากนี้ แม้ที่ผ่านมาสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) จะอ้างอิงคำสั่งมหาเถรสมาคมเมื่อปี 2538 เรื่อง ห้ามพระภิกษุสามเณรเกี่ยวข้องกับการเมือง ในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของสงฆ์ ทว่าทั้งพระเอิร์ทและพระภิกษุจากแดนอีสานกลับเห็นพร้อมกันว่า การแสดงออกที่เกิดขึ้นไม่อาจตีความว่าเป็นการผิดวินัยหรือปาราชิก 4 ได้
"มติเถรสมาคมปี 2538 ที่บอกว่า ห้ามพระเณรยุ่งการเมือง สามารถใช้ข้อนี้เพื่อขออำนาจมหาเถรสมาคมในการจับสึกผมได้ นั่นคือเครื่องมือทางการเมืองในการจับพระผู้เห็นต่าง เขาไม่มีสิทธิ เราไม่ได้ทำปาราชิก 4 เราเพียงแค่ออกมายืนเคียงข้างพวกเขา(ประชาชน)ในวันที่พวกเขาลำบาก เท่านั้นเอง" พระเอิร์ท
พระเอิร์ท ยังชี้ว่า ความพยายามกีดกันไม่ให้สงฆ์ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองเพื่อต้องการตอกย้ำภาพจำว่า ประเทศไทยเป็นรัฐฆราวาส เป็นเรื่อง "จอมปลอม" เพราะหากศาสนาพุทธแยกตัวเป็นเอกเทศและไม่มีอิทธิพลต่อการบริหารประเทศจริง เหตุการณ์ในอดีตที่ กิตติวุฑโฒ ภิกขุ กับวาทกรรม “ฆ่าคอมมิวนิสต์ ไม่บาป” จะไม่ถูกนำไปตีความเพื่อสนับสนุนการสังหารหมู่ในเหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519
ประเด็นความไม่จริงแท้ของการเป็นรัฐที่บริหารปกครองโดยตัดขาดจากอิทธิพลด้านศาสนา สอดคล้องกับบทความ 'ฆราวาสนิยมและความรุนแรงในรัฐแบบพุทธ กรณีของไทยและเมียนมา' ของเฮเลน เจมส์ (Helen James) ซึ่งมี ลลิตา หาญวงษ์ เป็นผู้แปลไทย
ในบทความมีใจความช่วงหนึ่งระบุว่า สังคมร่วมสมัยของไทยและเมียนมาก่อร่างสร้างความเป็นอัตลักษณ์ของชาติขึ้นมาจากหลักสำคัญของศาสนาพุทธ ด้วยเหตุนี้สังคมของทั้ง 2 ชาติ จึงห่างไกลจากการบริหารปกครองประเทศที่ศาสนามีบทบาทรองหรือมีบทบาทน้อย หรืออาจกล่าวได้ว่า "ความเป็นไทยหรือเมียนมาก็คือการเป็นชาวพุทธ"
เท่านั้นยังไม่พอ พระเอิร์ท ตั้งคำถามถึงสถาบันผู้ปกครองสงฆ์ในประเทศเพิ่มว่า หากประเทศไทยเป็นรัฐฆราวาสจริงซึ่งต้องเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับทุกศาสนาอย่างเท่าเทียม เหตุใดจึงมีสำนักพระพุทธศาสนาที่ตอกย้ำถึงบทบาทหน้าที่สำคัญของศาสนาพุทธ เหตุใดจึงไม่มีแค่เพียง 'กรมศาสนา' ที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อดูแลทุกศาสนาอย่างเท่าเทียม
พระเอิร์ท ปิดท้ายด้วยข้อสังเกตต่อ 'มหาเถรสมาคม' ว่า เหตุใดสงฆ์ทั่วประเทศจึงถูกปกครองด้วยสงฆ์จำนวนไม่กี่รูปที่ได้รับเลือกจากสมเด็จพระสังฆราช (ประมุขแห่งคณะสงฆ์) ผ่านอำนาจในการแต่งตั้งมหาเถรสมาคม เหตุใดจึงไม่กลับไปใช้ระบบสังฆสภาซึ่งทำหน้าที่ในทางนิติบัญญัติเทียบด้วยรัฐสภาของทางราชอาณาจักร เพื่อ "ให้ดอกไม้แห่งประชาธิปไตยของสงฆ์ไทยกลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง ให้สงฆ์ทุกรูปมีอำนาจในการแต่งตั้งกฎของตัวเอง ปกครองตนเอง อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญไทยเดียวกัน"
ในมิติที่สอดคล้องกับประท้วงที่เกิดขึ้น พระเอิร์ท เสนอให้เหล่าพระผู้ใหญ่ในสังคมที่เห็นปัญหาความไม่เป็นธรรมของมหาเถรสมาคมและวงการสงฆ์ออกมาปฏิรูปร่วมกันเพื่อให้ศาสนาคงอยู่ได้ท่ามกลางประชาธิปไตยที่เริ่มผลิบาน
พร้อมฝากประโยคสุดท้ายถึงประชาชนว่า "วันนี้เรามา เรามายืนเคียงข้างพวกท่าน"
ข่าวที่เกี่ยวข้อง;