เมื่อ กกต.มีมติเห็นชอบให้ พรรคประชาชนปฏิรูป สิ้นสภาพตามมาตรา 91(7) ของพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตหัวหน้าพรรค ก็กลายเป็นส.ส.อิสระสมใจอยาก เตรียมโยกซุก'พลังประ���ารัฐ' ตามที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์อ้าแขนรับ พร้อมจัดที่นั่งในทีมกฎหมาย จึงต้องย้อนดูโปรไฟล์ชายชื่อไพบูลย์ที่มีบทบาทตลอดทศวรรษแห่งความขัดแย้งที่ผ่านมา
แจ้งเกิดยุครัฐประหาร-ขวางแก้รธน.50 โละส.ว.ลากตั้ง
รัฐประหารในปี 2549 ให้กำเนิดนักการเมืองที่ชื่อ 'ไพบูลย์ นิติตะวัน' ในแวดวงการเมือง เนื่องด้วยสายสัมพันธ์ผ่าน 'หญิงเป็ด' คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑะกา อดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหนึ่งในคตส. ก็ทำให้ได้รับการสรรหาเป็นส.ว.สายภาครัฐ จากการเสนอชื่อโดยสตง. กลายเป็นที่จดจำในนามกลุ่ม '40 ส.ว.' ร่วมกับเพื่อนสภาสูงสายลากตั้ง
ฉายแววชัดเมื่อเข้าสู่ยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ช่วงการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 หมวดส.ว. ที่ส.ส.และส.ว.สายเลือกตั้ง ผลักดันโละทิ้งสภาสูงสายลากตั้ง ในการโหวตวาระ 3 เข้าร่วมกับพรรคฝ่ายค้านจำนวนหนึ่ง 'ประท้วง-ตีรวน-วอล์คเอ้าท์' จากที่ประชุม อ้างถึงการตรวจสอบถ่วงดุลระหว่าง ผู้ที่มาจากการเลือกตั้ง กับแต่งตั้ง ซึ่งไม่มีในตำรา แต่ไม่เคยบอกถึงการสูญเสียผลประโยชน์ส่วนตนจากการแก้ไข
ก่อนจะเป็นผู้นำ ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญ ตีความการแก้ไขที่มาส.ว.ให้มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดนั้น ขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ผลก็ออกมาอย่างที่ทราบกันดี เสียงข้างมากในรัฐสภา ไม่มีศักดิ์และสิทธิพอจะแก้ไขรัฐธรรมนูญของคณะรัฐประหารได้
สอยยิ่งลักษณ์-ชงนายกฯม.7-ปูทางยึดอำนาจ
ล่วงถึงปลายปี 2556 ถึงต้นปี 2557 ช่วงม็อบ กปปส.ขวางนิโรทษกรรมสุดซอยปูทางรัฐประหาร ตามทฤษฎีสมคบคิด
'ไพบูลย์' มีผลงานโดดเด่นอย่างเห็นได้ชัดต่อการเป็นปรปักษ์รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ทั้งคลุม'ธงชาติ-เป่านกหวีด' ขึ้นเวทีไฮปาร์คโจมตี ก่อนสบช่องยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัย อดีตนายกฯหญิง ฐานโยกย้าย นายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการ สมช. เป็นการเข้าข่ายการขัดกันแห่งผลประโยชน์ โดยใช้เวลายกร่างคำฟ้องเพียง 2 วัน หลังเห็นคำวินิจฉัยของศาลปกครอง ผลที่ออกมาก็เข้าทางฝ่ายต่อต้านทุกประการ คณะรัฐมนตรีที่อยู่ระหว่างรักษาการณ์ พาสถานการณ์บ้านเมืองเข้าหาสุญญากาศ ไม่เชื่ออำนาจที่มาจากการเลือกตั้ง
ไม่เพียงเท่านี้ ไพบูลย์ ยังตีความรัฐธรรมนูญอย่างเสร็จสรรพก่อนถูกฉีก เมื่อการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ. 2557เป็นโมฆะ แม้นายกฯยิ่งลักษณ์จะถูกสอย แต่ยังมีรัฐบาลรักษาการ
ทว่าในสายตามวลมหาประชาชนเห็นว่าประเทศไทยไปต่อไม่ได้ต้องมีนายกฯ ก็นำไปสู่ข้อเสนอตามสูตรสำเร็จคือ 'นายกฯม.7' โดยหวังให้ นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ว่าที่ประธานวุฒิสภา ในขณะนั้น เป็นผู้รับสนองฯ ก่อนจะพลาดเป้าเมื่อ ว่าที่ประธานวุฒิสภายังไม่ได้รับการโปรดเกล้าฯ อดเสนอชื่อ 'พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา' ผบ.ทบ.ในตอนนั้นเป็นนายกฯ ตามที่ได้หารือกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตแกนนำกปปส.ไว้ล่วงหน้า
ศิษย์พุทธอิสระ ไล่บี้ธรรมกาย - โต้คดีกบฎ โวยถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพ
แต่แล้วอดีต ผบ.ทบ.ก็ไม่ทำให้ 'ไพบูลย์' ผิดหวัง เมื่อตัดสินใจยึดอำนาจเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557
เขาได้รับปูนบำเหน็จเป็น สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ไปไกลถึงหนึ่งในกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน ควบคู่ไปกับการทำงานด้านการปฏิรูปศาสนา เป็นประธานกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา มุ่งรุกไล่ พระธัมมชโย อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ขณะเดียวกันก็เป็นศิษย์เอก 'อดีตพระพุทธะอิสระ' หรือ ส.ต.สุวิทย์ ธรรมคุณ
ช่วงปลายรัฐบาลคสช. ผลจากการ 'ชัตดาวน์กรุงเทพฯ' ร่วมกับแกนนำมวลมหาประชาชน คดีเริ่มเดินหน้าไปตามกระบวนการยุติธรรม ถูกอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ ฟ้องฐานเป็น ผู้สนับสนุนการกบฎ ยุยงให้หยุดงาน อั้งยี่ ซ่องโจร มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คน ขู่เข็ญใช้กำลังประทุษร้าย ขัดขวางการปฏิบัติงานของกกต. ฯลฯ
ก่อนที่เจ้าตัวจะใช้เหลี่ยมมุมทางกฎหมายแก้ลำตามถนัด ด้วยการยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่า การที่พนักงานอัยการยื่นฟ้องแกนนำกปปส. ฐานกบฎนั้น เป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพ ตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ซึ่งอยู่ระหว่างการรอวินิจฉัย
ทำลายพรรคตัวเอง-กลืนน้ำลายซบพรรคทหาร
ย่างสู่ฤดูกาลเลือกตั้งครั้งสำคัญก็จดจัดตั้ง พรรคประชาชนปฏิรูป เมื่อวันที่ 3 ต.ค. 2561 มีสมาชิก 12,150 คน 4 สาขาพรรค 72 ตัวแทนประจำจังหวัด ได้คะแนนเลือกตั้งรวมทั้งประเทศ เป็นลำดับที่ 23 มี 45,420 คะแนน ได้เป็นส.ส.บัญชีรายชื่อ ลงมติสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ร่วมรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ ก่อนยื่นให้ กกต.พิจารณาพรรคประชาชนปฏิรูปสิ้นสภาพ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา ฉบับ2560 มาตรา 101(10) ประกอบพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 91 (7) เมื่อวันที่ 5 ส.ค.2562
เพียง 3 สัปดาห์ กกต.ก็มติรับรองสมประสงค์ กลายเป็นส.ส.อิสระ ต้องเข้าสังกัดใหม่ภายใน 60 วัน
สถานีต่อไปก็ระบุชัด พร้อมตบเท้าซบพลังประชารัฐ กลายเป็นส.ส.ในสังกัดพรรคการเมืองของ พล.อ.ประวิตร ที่จัดวางเก้าอี้ฝ่ายกฎหมายไว้รอ
เมื่อมองย้อนกลับไปก็พบพฤติกรรมกลืนน้ำลายตัวเอง แม้สนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ แต่ไพบูลย์ก็คัดค้านพรรคทหาร ที่จะนำไปสู่การสืบทอดอำนาจ ซึ่งมองว่า จะทำให้เกิดความขัดแย้งอีกครั้ง การปฏิรูปการเมืองจะกลับไปสู่วังวนเก่า โดยระบุว่า "ถ้าปล่อยให้นักการเมืองระบอบเก่าร่วมมือกับอดีตนายทหารจัดตั้งพรรคทหารก็เท่ากับการต่อสู้ของประชาชนนั้นเสียเปล่า อาจทำให้พล.อ.ประยุทธ์เสียหายและกระทบกับผลประโยชน์ของประชาชน ผมจึงจะติดตามตรวจสอบการตั้งพรรคทหาร"
ทิ้งโจทย์ใหญ่การเมืองส.ส.ปัดเศษ หากเลือกตั้งซ่อม
นอกจากนี้ การสิ้นสภาพของประชาชนปฏิรูปยังทิ้งปมปัญหาทางกฎหมายให้การเมืองไทยว่า จะดำเนินการต่อไปอย่างไร หากมีพรรคอื่นเดินตาม 'ไพบูลย์โมเดล'
โดยเฉพาะพรรคจิ๋ว 'ส.ส.เอื้ออาทร' หรือ'ส.ส.ปัดเศษ' เพราะกกต.ไม่ชี้ชัด เนื่องจากไม่มีผู้ถามว่า หากพรรคสิ้นสภาพแล้ว คะแนนรวมทั้งประเทศนั้นไปไหน? จะถูกโอนไปยังพรรคใหม่ที่สังกัดหรือไม่?
ไพบูลย์คือส.ส.บัญชีรายชื่ออันดับเท่าไรของพรรคพลังประชารัฐ?
ต้องเข้าสูตรคิดส.ส.บัญชีรายชื่ออีกครั้งหรือไม่?
หากมีการเลือกตั้งซ่อมจะทำอย่างไร?
คะแนนจะต้องคำนวณกันแบบไหน?
สิ่งเหล่านี้ยังกลายเป็นปริศนาทางการเมืองต่อไปว่า ไพบูลย์มุ่งหวังอะไรต่อการทุบพรรคการเมืองของตนเอง และการคำนวณคะแนนส.ส.บัญชีรายชื่อต่อจากนี้หากมีการเลือกตั้งซ่อมจะทำอย่างไร
ถึงขนาดนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯฝ่ายกฎหมาย ยังยอมรับว่านี่คือโจทย์ใหญ่ ยากจะแสดงความคิดเห็น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง